posttoday

ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ โลกพลันเปลี่ยน... เพียงผีเสื้อขยับปีก

16 กันยายน 2554

แสดงฝีมือไว้ทั้งในแวดวงบันเทิง เป็นเจ้าของรายการทีวี i SCI (ไอซายน์)

แสดงฝีมือไว้ทั้งในแวดวงบันเทิง เป็นเจ้าของรายการทีวี i SCI (ไอซายน์)

โดย.. ปอย

แสดงฝีมือไว้ทั้งในแวดวงบันเทิง เป็นเจ้าของรายการทีวี i SCI (ไอซายน์) รายการสารคดีวิทยาศาสตร์ 5 นาที กระตุ้นต่อมคิดเด็กไทยให้เข้าถึงวิทยาศาสตร์เรื่องใกล้ตัว และแสดงฝีมือเป็นที่ประจักษ์ในแวดวงวิชาการกับการเป็นหนึ่งในทีมบริหารผู้คิดค้น “นาโนเทคโนโลยี” แห่ง สวทช. และในวันนี้ ดร.นิคธีระชัย พรสินศิริรักษ์ ขอสวมบทบาทใหม่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายแผนและบริหารงานวิจัย สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท. ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานนวัตกรรมใหม่ สนองทั้งนโยบายรัฐ ทั้งก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ โลกพลันเปลี่ยน... เพียงผีเสื้อขยับปีก

พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมย่อยสลายยากนับร้อยๆ ปีกำลังเอาต์ เป็นของใช้ที่ต้องปฏิเสธ โลกใบใหม่กำลังอินกับยุค “ไบโอพลาสติก” ผลิตภัณฑ์พระเอกขี่ม้าขาวผลิตจากพืชผลเกษตรย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติ จึงเป็นคำตอบใหม่ๆ ของการลดโลกร้อน ภาคภูมิใจนำเสนอโดยองค์กรต้นตอซึ่งเป็นที่มาที่ไปของพลาสติกปิโตรเลียมตัวการร้ายเพิ่มอุณหภมิโลกที่เราใช้กันอย่างชาชินทุกวันนี้

“แก้วกาแฟอะเมซอนในปั๊ม ปตท. ก็ใช้แก้วไบโอพลาสติกทุกร้านแล้วนะครับ แก้วชนิดนี้ย่อยสลายได้ภายใน 30 วันครับ เทรนด์ไบโอพลาสติกจะเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการผลิตป้อนตลาดมากขึ้น เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ครับ เมื่อทศวรรษก่อนมีการคิดค้นนาโนเทคช่วยลดอุณหภูมิโลกหลากหลายช่องทาง เช่น นาโนลดน้ำหนักรถยนต์ช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ไบโอนาโนเทคโนโลยีชีวภาพช่วยสิ่งแวดล้อม ปรับสภาพดิน น้ำ” ดร.ธีระชัย บอกพร้อมรอยยิ้มปลื้ม และเล่าถึงอีกหลายงานวิจัยของสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท. เช่น โปรเจกต์งานวิจัยใช้สาหร่ายที่สังเคราะห์แสง หรือกินคาร์บอนไดออกไซน์ และเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง การพัฒนาวิทยาศาสตร์จึงเดินคู่เคียงไปกับการลดอุณหภูมิโลกอย่างกระตือรือร้น

เตรียมพร้อมก่อนโลกเปลี่ยน (อีก)

คำถามเริ่มต้นสนทนา “เชื่อไหมว่าโลกสีน้ำเงินใบนี้อุณหภูมิสูงขึ้น?!!” ดร.ธีระชัย ตอบคำถามนี้ในสไตล์นักวิทยาศาสตร์ไทย โดยบอกว่ามนุษย์เราสัมผัสได้ด้วยบรรยากาศอุณหภูมิโลกที่แปรเปลี่ยนไป ไม่รวมถึงอุบัติภัยรุนแรงในรอบ 2030 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าพายุลมหมุน สึนามิ หรือน้ำท่วม ดาหน้ามาให้มนุษย์โลกเผชิญชะตารู้จักกันทุกรูปแบบ

“ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้ มาจากผลของการกระทำในอดีต ซึ่งแต่ก่อนเราอาจจะไม่ได้สังเกตกันนะครับ แต่ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมามีการใช้ถ่านหิน ใช้น้ำมัน เพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักรโรงงานมากขึ้น แล้วเมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการ เช่น ดาวเทียม กูเกิลเอิร์ธ การเปลี่ยนไปของโลกไปนี้ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจน ขั้วโลกที่เคยปกคลุมด้วยภูเขาน้ำแข็งเริ่มหดหายไป อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้นควบคู่กัน มนุษย์เริ่มตระหนักถึงภัยที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามานี้ และมนุษย์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนโลกให้กลับไปเหมือนใบเก่าได้ในระยะ 45 ปีนี้หรอกนะครับ ซึ่งเราอาจจะใช้เวลาถึง 3040 ปี กับการค่อยๆ ทำให้โลกเย็นขึ้นๆ ในรุ่นลูกรุ่นหลาน” ดร.ธีระชัย แสดงความเห็น

“Butterfly Effect บัตเตอร์ฟลายเอฟเฟกต์ เมื่อผีเสื้อขยับปีก” นำมาเสนอให้รู้จักปรากฏการณ์ ห่วงโซ่สัมพันธ์ ผีเสื้อเพียงตัวเดียวกระพือปีก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนของส่วนที่เล็กละเอียด ต่อเนื่องขยายวงกว้างจนไม่มีที่สิ้นสุด อะไรที่ควรจะเกิด หรือปรากฏขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อถูกบิดเบือน สิ่งต่างๆ จะผิดเพี้ยนจากที่ควรจะเป็น

และแทนที่จะเกิดในระดับหนึ่ง กับคนหนึ่ง สถานที่หนึ่ง ก็อาจจะเกิดขึ้นกับคนอื่น สถานที่อื่น โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า ความรุนแรงจะเป็นระดับใด การบิดเบือนนี้เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ความซับซ้อนของปัญหาก็อาจเข้าสู่จุดวิกฤตจนยากจะเยียวยา

“การกระพือปีกของผีเสื้อในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในยุคของเราแล้วนะครับ คนยุคนี้จึงเริ่มตื่นตัวกันใหญ่แล้วครับว่าจะใช้อะไรก็เน้นเทรนด์กรีน เช่น ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกเอบีเอสล่าสุดของ ปตท. ใช้ยางพาราผสมเพิ่มเข้าไปด้วย ผมว่าการทำทุกๆ ทาง ทำเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญปลูกฝังให้กับเด็กรุ่นใหม่ ผมทำรายการทีวี i SCI ก็เน้นเรื่องนี้ด้วย ถือว่าเป็นการต่อยอดวันหนึ่งก็จะถึงยอดพีระมิด ผมมองในแบบวิทย์คิดบวกด้วยนะครับ (บอกพร้อมรอยยิ้ม) การกระพือปีกเล็กๆ ของคนยุคนี้ผลลัพธ์ก็เหมือนเหรียญ 2 ด้านนะครับ มีลบและบวก ถ้าเรากระทำในแง่บวก บัตเตอร์ฟลายเอฟเฟกต์ก็จะส่งผลบวกรุ่นสู่รุ่น” ดร.ธีระชัย กล่าว

กระพือปีกกันเพื่อโลก (บวก)

สมัยไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 18 ปี ดร.ธีระชัย ไปศึกษาต่อที่รัฐแมสซาชูเซตส์ แต่เบื่อหน่ายสภาพความหนาวเย็นและแปรปรวนของอากาศ จึงเลือกไปเรียนที่ “แคลเทค” (Caltech หรือ California Institute of Technology หรือ CIT) อยู่ทางฝั่งตะวันตกของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีอากาศดีและอบอุ่นกว่า และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานถึง 15 ปี ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนสองเมืองแตกต่างกันด้วยอุณหภูมิเมืองหนาว เมืองอุ่น แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือ การใช้ชีวิตอย่างมีจิตสำนึกรักษ์โลก

“คนแคลิฟอร์เนียชอบชีวิตเอาต์ดอร์ ขณะคนแมสซาชูเซตส์จะชอบเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่ถ้าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมคนอเมริการักและชอบอยู่กับธรรมชาติ เมืองใหญ่มีการรณรงค์คาร์พูลและทำกันเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ วันนี้ขับไปกับบ้านนี้ ผลัดกันวันรุ่งขึ้นไปกับรถยนต์อีกบ้าน หรือการทำเลนถนนจักรยานก็มีให้เห็นในทุกๆ เมืองใหญ่ ผมอยากเห็นนโยบายเหล่านี้ในกรุงเทพฯ บ้างนะครับ

หรือเรื่องสกายวอล์กระหว่างตึกใหญ่ๆ ในฮ่องกง ก็น่าประทับใจมากนะครับ มีเรื่องเล่าขำๆ ครับ วันหนึ่งผมมีประชุมที่โรงแรมโซฟิเทล ลาดพร้าว พอถึงเวลาเพื่อนก็ชวนขับรถไปกันเถอะ ผมงงมากว่าทำไมเราไม่เดินไปล่ะ (หัวเราะ) โรงแรมก็อยู่ฝั่งตรงข้ามแค่นี้เอง เดินไปไม่ถึง 10 นาทีจากตึก ปตท. แต่ก็เข้าใจนะครับว่าด้วยชุดสูททางการที่เราใส่ ด้วยอากาศร้อน ด้วยมลภาวะ หลายคนไม่ยอมเดิน แต่ผมเลือกการเดินแล้วก็ถึงก่อนคนขับรถเสียอีกด้วย คือคนไทยเราติดความสบายกันจนเคยตัว

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จึงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกนะครับ ผมคิดว่าไม่ใช่คนไทยไม่พยายามนะ แต่บางครั้งก็ต้องยอมรับระบบก็ไม่เอื้อนะครับ เช่น ผังเมืองรกรุงรัง จะเดินจะขี่จักรยานชีวิตอาจไม่ได้ดีขึ้นหรอก แต่ก็ต้องมีการปรับผังเสียตั้งแต่วันนี้นะครับ ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ กระพือปีกวันนี้ส่งผลวันหน้าครับ ห้ามไม่ให้ใช้ทรัพยากรคงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่การใช้อย่างมีสติรู้ตัว มีจิตสำนึก โดยตั้งคำถามกับตัวเองทุกๆ ครั้งที่ใช้น้ำใช้ไฟในชีวิตประจำวันว่า ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดหรือยัง? ใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?” ดร.ธีระชัย บอกทิ้งท้ายและมองว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่า

 

&<2288;