posttoday

พิพากษายืนสลายม็อบค้านโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์

13 กันยายน 2554

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนคดีสลายม็อบค้านโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์ ปี 49 จ่ายเงินชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา 24 รายรายละ 1 หมื่นบาท

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนคดีสลายม็อบค้านโรงแยกก๊าซไทย-มาเลย์ ปี 49 จ่ายเงินชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา  24 รายรายละ 1 หมื่นบาท

นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด พร้อมองค์คณะ นั่งพิจารณาคดีครั้งแรกที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองสงขลา ที่ตัดสินให้ต้องชำระเงินแก่ชาวบ้าน จ.สงขลา 24 รายรายละ  10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในคดีที่นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ กับพวก ซึ่งเป็นชาวบ้าน ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ยื่นฟ้อง สตช. , จังหวัดสงขลา และ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิดจากการใช้อำนาจ เข้าสลายกลุ่มชาวบ้านที่ มาชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย ในวันที่ 20 - 21 ธ.ค.45 โดยเจ้าหน้าที่ใช้กระบองและโล่เป็นอาวุธผลักดันทำร้ายร่างกายและรถยนต์ที่เป็นพาหนะที่ใช้เดินทางในการชุมนุม

โดยองค์คณะ ฯ เปิดโอกาสให้คู่ความสองฝ่าย แถลงเพิ่มเติมต่อศาล ซึ่งวันนี้ฝ่าย สตช. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ส่งผู้แทนมาร่วมการพิจารณา คงมีชาวบ้าน ฝ่ายผู้ฟ้องที่ได้แถลงเพิ่มเติมด้วยวาจา ก่อนที่นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดี จะแถลงความเห็นเกี่ยวกับสำนวนคดีให้องค์คณะรับทราบ  ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความของชาวบ้าน จ.สงขลา ผู้ฟ้อง กล่าวว่าตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นเบื้องต้นว่า การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงมีความเห็นให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องทั้ง 24 คน เป็นเงินคนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำพิพากษายืนของศาลปกครองกลางจังหวัดสงขลา ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าการที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้สิทธิเสรีภาพในการปกป้องคุ้มครองธรรมชาตินั้นจะต้องได้รับความเป็นธรรม ขณะที่การนัดฟังคำพิพากษานั้น ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียด เพียงแต่องค์คณะแจ้งให้ทราบว่าจะส่งคำพิพากษาไปอ่านยังศาลปกครองจังหวัดสงขลา ซึ่งจะแจ้งวันให้คู่ความทราบต่อไป

ขณะที่นายกิตติภพ สุทธิสว่าง แกนนำกลุ่มต่อต้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย กล่าวว่า การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องร้องดังกล่าวนั้น เป็นกำลังใจของคนในชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของตัวเอง ซึ่งสิทธิในการชุมนุมเป็นประเด็นอย่างหนึ่งในสังคมไทย เนื่องจากปัจจุบันประเทศมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม แต่บางโครงการทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนในหลายจังหวัด ซึ่งการที่ตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองสูงสุดเห็นควรให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการปกป้องสิทธิของตัวเอง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญตนเห็นว่าสลายการชุมนุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่มีเจตนาต้องการที่จะสลายการชุมนุมอยู่แล้ว

สำหรับความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี ถือเป็นความเห็นตามกระบวนพิจารณาคดีปกครอง แต่ไม่ได้ผูกพันองค์คณะในการพิพากษาคดีแต่อย่างใด