posttoday

อึ้ง!มะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตคนไทย5พันรายต่อปี

26 สิงหาคม 2554

กมธ.สาธารณสุขวุฒิสภา เผยผลสำรวจ มะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตคนไทยกว่า 5 พันคนต่อปี แนะ 3 แนวทางป้องกัน

กมธ.สาธารณสุขวุฒิสภา เผยผลสำรวจ มะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตคนไทยกว่า 5 พันคนต่อปี แนะ 3 แนวทางป้องกัน

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข  สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาปัญหาสุขภาพของคนไทย พบมะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ยประมาณ 5,200 คนต่อปี

นพ.จตุพล  ศรีสมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งกว่า 6 ล้านคน องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์อีก 9 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งมากกว่า 11 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้หญิง พบอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกเป็นลำดับ 2 แต่กลับมีอัตราการตายสูงเป็นลำดับ 1

ทั้งนี้ แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 10,000 คน และเสียชีวิตประมาณ 5,200 คน หรือ 52% เทียบแล้วพบว่า แต่ละวันมีผู้ป่วยเพิ่ม 27 คน และเสียชีวิตวันละ 14 คน  สำหรับ มะเร็งปากมดลูกเกิดจากติดเชื้อไวรัสหูด หรือ Human Pappilloma Virus (HPV) ป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่สำส่อนทางเพศ งดสูบบุหรี่

พญ.พรพันธุ์  บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดจากการป้องกันและรักษามะเร็งปากมดลูกใน หญิงไทย อายุ 30 - 59 ปี  ในปี 2553 จำนวน 14.5 ล้านคน โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) เรื่องความคุ้มค่าการป้องกันมะเร็งปากมดลูกของไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างการตรวจคัด กรองด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear)  และการ ใช้กรดน้ำส้มสายชูเจือจาง หรือ วีไอเอ (VIA) และการ ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV พบว่าถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนและไม่ตรวจคัดกรองเลยรัฐจะต้องเสียเงินเฉลี่ย 3,820 บาท/หญิง 1 คน  แต่ถ้าตรวจคัดกรองโดยวิธีแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) อย่างเดียวให้ครอบคลุมได้ 80% ของหญิงกลุ่มเป้าหมาย ค่ารักษาเฉลี่ยต่อหญิง 1 คนจะลดลงเป็น 2,540 บาท/คน และถ้าจะฉีดวัคซีนป้องกัน HPV และตรวจคัดกรองด้วย ให้ได้ความครอบคลุม 70% ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการรักษาจะเหลือ 2,000 บาท/คน ทำให้ค่ารักษาจะลดลงเหลือเพียง 29,173 ล้านบาทภายใน 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 5,834 ล้าน บาท ซึ่งถูกลงกว่าครึ่ง

พญ.พรพันธุ์ เห็นว่าการควบคุมและป้องกันมะเร็งปากมดลูก รัฐบาลควรกำหนดนโยบายตามกลุ่มอายุ อาทิ 1. กลุ่มอายุ 30-45 ปีขึ้นไป ต้องได้รับบริการตรวจแป๊ปสเมียร์ / VIA ทุก 5 ปี  2. กลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์ทุก 5 ปี และกลุ่มเสี่ยง ( มีปัจจัยเสี่ยง) ควรได้รับการตรวจทุกปีด้วย Pap Smear หรือ HPV DNA Typing 3. กลุ่มอายุ 12-19 ปี ควรได้รับวัคซีนพื้นฐานทุกคน ซึ่งป้องกันได้  10-20 ปี ทั้ง 3 แนวทางถือว่าคุ้มค่าและมี ประสิทธิผลมากที่สุด

ขณะที่ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี  ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริม สุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า สำรวจประชาชนทั่วไป อายุ 15-50 ปี ในเขต กทม.และปริมณฑล พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 84.2% รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ที่น่ากังวลคือผู้ที่ยังไม่เคยรับการตรวจระบุว่า ไม่ตรวจเพราะยังไม่มีอาการผิดปกติ 66.3%  ไม่มีเวลา 39.9%  อายหมอ พยาบาล 21.3% และไม่คิดว่าตนเองจะเป็นมะเร็งปากมดลูก 14.3% และพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ทราบรูปแบบการตรวจคัดกรอง จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ความรู้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะผู้ชายถือเป็นพาหะนำเชื้อมาติดผู้หญิงได้ เพื่อให้เกิดการตระหนักใและการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง ก็สามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้มาก