posttoday

เครือมติชนไม่ตอบรับตรวจสอบจากภายนอก

25 สิงหาคม 2554

อนุกก.สภาการหนังสือพิมพ์แจงเครือมติชนไม่ตอบรับการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ให้ความร่วมมือยื่นเอกสารอ้างสอบเองแล้วแต่ไม่มีสาระ

อนุกก.สภาการหนังสือพิมพ์แจงเครือมติชนไม่ตอบรับการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ให้ความร่วมมือยื่นเอกสารอ้างสอบเองแล้วแต่ไม่มีสาระ

หลังจากที่มีการเผยแพร่รายงานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมือง ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน   หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน-ข่าวสด ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 คัดค้านรายงานดังกล่าว

โดยเนื้อหาบางส่วนของแถลงการณ์นั้นได้กล่าวหาคณะอนุกรรมการฯ หลายประการ เช่น  คณะอนุกรรมการฯ ขยายขอบเขตของการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกไปเอง   ไม่เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรสื่อที่พาดพิงไปถึง  นำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผยก่อน  ละเมิดข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วยการเปิดเผยนามปากกาของผู้ถูกตรวจสอบ  กล่าวหาพรรคเพื่อไทยอย่างร้ายแรงโดยใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อให้ตีความไปในทางลบ  เชื่อมโยงข้อมูลการโฆษณากับเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ตามอำเภอใจตนเอง ตั้งเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับหนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นการเฉพาะ  และสรุปผลการตรวจสอบผิดพลาดเพราะไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือพิมพ์   

เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน   คณะอนุกรรมการฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ข้างต้นดังต่อไปนี้

1.คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการตรวจสอบนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมายหรือไม่?

คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ตามประกาศสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 มิได้ระบุประเด็นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ไว้อย่างชัดเจน   คณะอนุกรรมการฯ จึงต้องกำหนดประเด็นในการตรวจสอบโดยพิจารณาจากคำปรารภในประกาศดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงความเป็นห่วงต่อความน่าเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพสื่อซึ่งอาจได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง และพิจารณาอีเมลที่เป็นปัญหา ซึ่งมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการ “บริหารจัดการสื่อมวลชน” ของพรรคเพื่อไทย และมีเนื้อหาเพียงเล็กน้อยที่กล่าวถึงการให้สินบนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของการ “บริหารจัดการสื่อมวลชน” ดังกล่าว  

เครือมติชนไม่ตอบรับตรวจสอบจากภายนอก

การตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดจริยธรรมตามอีเมลที่เป็นปัญหาจึงจำเป็นต้องตรวจสอบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงได้แสดงความเอนเอียงออกมาในบทความของตนหรือไม่อย่างไร  และหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้งอย่างไร   

ประเด็นหลังมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงในอีเมล ล้วนเป็นบุคลากรระดับหัวหน้าข่าว หรือบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้เขียนข่าวหรือบทความเองในบางครั้งแล้ว ยังอาจมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางข่าวของหนังสือพิมพ์ได้  การจะตรวจสอบเฉพาะบทความที่ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์เขียนนั้นจึงไม่น่าจะเพียงพอ และจำเป็นต้องตรวจสอบเนื้อหาข่าวและบทความทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในหนังสือพิมพ์ด้วย

ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 6 ครั้งที่ 8/2554 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554    เลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงวิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวของคณะอนุกรรมการฯ แล้ว โดยรายงานความก้าวหน้าและตอบข้อซักถามว่า เหตุใดจึงต้องขอขยายเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกไป  ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดรวมทั้งกรรมการจากเครือมติชนซึ่งเข้าประชุมด้วยท้วงติงหรือคัดค้านแต่อย่างใด  

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินัดพิเศษ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 เพื่อเสนอรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการที่เข้าร่วมประชุมท่านใดทักท้วงว่า มีการตรวจสอบนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย ข้อเท็จจริงเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้จากรายงานและเทปบันทึกเสียงการประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทั้งสิ้น

จึงสรุปได้ว่า คณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

2.คณะอนุกรรมการฯ ไม่เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรสื่อที่พาดพิงไปถึง จึงเป็นการดำเนินการลับหลังแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่? 

รายงานของคณะอนุกรรมการฯ ระบุอย่างชัดเจนว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้พยายามติดต่อเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ที่ถูกพาดพิงผ่านองค์กรหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี   เว้นแต่ในกรณีของเครือมติชน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือเชิญไปถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาให้ข้อเท็จจริง   

แม้แถลงการณ์ของเครือมติชนจะอ้างว่า บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ได้ให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการฯ ด้วยการชี้แจงเป็นเอกสารก็ตาม  หากพิจารณาเอกสารดังกล่าว จะพบว่า ไม่มีสาระใดที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบเลย นอกจากการยืนยันในทำนองที่ว่า มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการภายในแล้ว แต่ไม่พบพฤติกรรมที่ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพแต่อย่างใด   

จดหมายตอบกลับของเครือมติชนยังแสดงถึงท่าทีของการไม่ต้อนรับการตรวจสอบจากภายนอก ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า “เป็นหน้าที่โดยตรงของสื่อแต่ละฉบับที่ถูกพาดพิงที่จะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอง” ทั้งที่การตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วนนั้น ก็เนื่องมาจากเห็นว่า พฤติกรรมตามข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง และมีความสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับตรวจสอบกันเองเป็นการภายใน

เครือมติชนฯ จึงไม่สมควรกล่าวหา คณะอนุกรรมการฯ ว่า ไม่ได้เรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากตน เนื่องจากตนไม่ให้ความร่วมมือตามที่ควรกับคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้แก่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

3.คณะอนุกรรมการฯ นำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผยก่อนหรือไม่? 

แถลงการณ์ของเครือมติชน และการลงข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ซึ่งพาดหัวข่าวใหญ่ว่า “สภา นสพ. ไม่รับรองผลสอบที่หมอวิชัยแถลง” มีเนื้อหาที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง  เนื่องจากที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  ได้พิจารณาและรับรองผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว ดังปรากฏในแถลงการณ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ว่า  “สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยืนยันรับรองรายงานของอนุกรรมการสอบฯ อีเมลฉาว” 

นอกจากนี้ การที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติให้ส่งรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ไปให้แก่ผู้ถูกพาดพิง ย่อมเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้พิจารณาและรับรองรายงานดังกล่าวแล้ว   จึงไม่เป็นความจริงที่ว่า คณะอนุกรรมการนำผลการตรวจสอบที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผย

นอกจากนี้ การเปิดเผยรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ด้วยการแถลงข่าว ยังเกิดขึ้นตามมติของที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาตินัดพิเศษเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 และสอดคล้องกับข้อความในเอกสารเผยแพร่ข่าว (press release) ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ออกหลังการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 ที่กำหนดให้คณะอนุกรรมการฯ รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แก่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทราบ เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบแก่สาธารณชนต่อไป   

ทั้งนี้ ในการเปิดเผยรายงานดังกล่าว รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 1 ในฐานะประธานที่ประชุม และประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยมีกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่เข้าร่วมประชุมจำนวนมากเป็นสักขีพยาน  จึงมีหลักฐานที่หนักแน่นที่ยืนยันว่า ประธานคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ “ชิงแถลงผลสอบ” ตามที่แถลงการณ์ของเครือมติชนกล่าวอ้าง

4.คณะอนุกรรมการฯ ละเมิดข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ด้วยการเปิดเผยนามปากกาของผู้ถูกตรวจสอบหรือไม่?

การเปิดเผยนามปากกาของผู้ที่ถูกพาดพิงในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับมอบหมาย    และเป็นการดำเนินการที่มีความจำเป็นต่อการที่สาธารณชนจะสามารถตรวจสอบข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ ได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงนั้นมีความเอนเอียงในการเขียนบทความหรือไม่  ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง  ดังนั้น การเปิดเผยนามปากกาของผู้ถูกพาดพิงโดยคณะอนุกรรมการฯ จึงไม่ใช่การเปิดเผยนามปากกาในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเสียหายตามนัยของข้อบังคับด้านจริยธรรมข้อ 14 ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

นอกจากนี้ นามปากกาของผู้ถูกพาดพิงบางคนก็เป็นข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว เช่นข้อเท็จจริงที่ว่า “พลุน้ำแข็ง” เป็นนามปากกาของนายจรัญ พงษ์จีน นั้นก็เคยปรากฏอยู่ในคอลัมน์สแควร์พาร์ ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2551 ในเว็บไซต์มติชนเอง โดยคอลัมน์ดังกล่าวยังได้เปิดเผยชื่อเจ้าของนามปากกา “ไต้ฝุ่น” ของไทยรัฐและ “ตรีศูล” ของเดลินิวส์อีกด้วย

ดังนั้น หากมีการละเมิดข้อบังคับจริยธรรมในเรื่องดังกล่าว ผู้ละเมิดย่อมไม่ใช่คณะอนุกรรมการฯ อย่างแน่นอน

5.คณะอนุกรรมการฯ กล่าวหาพรรคเพื่อไทยอย่างร้ายแรง โดยใช้ถ้อยคำกำกวม เช่น พรรคดังกล่าวอาจมีการ "ดูแล"  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรค   เพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านรายงานตีความไปในทางลบหรือไม่?

คำว่า “ดูแล” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ถึง 3 ครั้งในอีเมลทั้งสองฉบับที่น่าเชื่อว่าเป็นของนายวิม ซึ่งเป็นต้นเรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริง คำดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นคำที่คณะอนุกรรมการฯ เลือกใช้เอง โดยมีจุดประสงค์แอบแฝงใดๆ     นอกจากนี้ ข้อสันนิษฐานของคณะอนุกรรมการฯ ที่ว่า อาจมีการ “ดูแล” ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนบางรายก็ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานที่เลื่อนลอย หากแต่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบจากผู้ให้ข้อมูลซึ่งมีความน่าเชื่อถือ

6.คณะอนุกรรมการฯ น่าจะมีเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้แก่หนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นการเฉพาะหรือไม่?

คณะอนุกรรมการฯ ขอชี้แจงว่า ไม่มีอนุกรรมการฯ คนใดที่ขันอาสาเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับอีเมลอื้อฉาวนี้ด้วยตนเอง  หากแต่ได้รับการร้องขอจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้เข้ามาตรวจสอบเพื่อทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมตามอีเมลที่เป็นข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง และจำเป็นต้องใช้บุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจสอบ จึงจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการตรวจสอบได้

ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ทำโดยมติเอกฉันท์ของที่ประชุมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยไม่มีผู้ใดรวมทั้งกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากเครือมติชนทักท้วงหรือคัดค้านแต่อย่างใด   การพยายามลดความน่าเชื่อถือของประธานคณะอนุกรรมการฯ โดยกล่าวหาว่า ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองบางพรรค ภายหลังเมื่อเครือมติชนไม่เห็นด้วยกับรายงานของคณะอนุกรรมการฯ  จึงน่าจะเป็นการแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลที่เครือมติชนใช้ในการลดความน่าเชื่อถือของประธานคณะอนุกรรมการฯ นั้น เป็นข้อมูลเก่าที่ปรากฏเป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเครือมติชนก็ทราบอยู่แล้ว

คณะอนุกรรมการฯ ขอชี้แจงว่า การตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ รวมทั้งข่าวสดนั้น ก็มีที่มาเนื่องจาก การบริหารจัดการสื่อมวลชนตามอีเมลที่เป็นปัญหา มีเป้าหมายที่ระดับ “องค์กรสื่อ” เป็นหลัก โดยมี “ตัวบุคคล” เป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากอีเมลดังกล่าวได้อ้างถึงหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเป็นหลัก โดยมีชื่อของผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์อยู่ในวงเล็บ ดังที่เขียนว่า “ไทยรัฐ (พี่โมทย์) มติชน (พี่เปี๊ยก กับ พี่จรัญ) ข่าวสด (พี่ชลิต) เดลินิวส์ (พี่ป๊อป สมหมาย) คม-ชัด-ลึก (คุณโจ้ และปรีชา)” 

ดังนั้นแม้ว่า คณะอนุกรรมการฯ จะได้รับแจ้งจากข่าวสดว่า นายชลิตไม่ได้สังกัดข่าวสดก็ตาม เพื่อความรอบคอบในการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการฯ ก็จำต้องตรวจสอบเนื้อหาของข่าวสดควบคู่ไปกับหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับอื่นด้วย 

ทั้งนี้ หากไม่พบพฤติกรรมที่อาจมีการละเมิดจริยธรรม ข้อมูลดังกล่าวก็จะไม่ปรากฏในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ   อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบกลับพบว่า การนำเสนอข่าวและบทความในข่าวสด น่าจะมีความเอนเอียงมากกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นที่เหลือ ดังที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นไว้ในรายงานแล้ว

การตรวจสอบพบความเอนเอียงของหนังสือพิมพ์บางฉบับ จึงเป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และไม่ได้เกิดจากการตั้งเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้แก่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

7.คณะอนุกรรมการฯ เชื่อมโยงข้อมูลการโฆษณากับเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ตามอำเภอใจตนเองหรือไม่?

คณะอนุกรรมการฯ เห็นด้วยกับเครือมติชนฯ ว่า การเลือกลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ใดย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ลงโฆษณาเอง  และการรับโฆษณาไม่ควรจะมีผลต่อการตัดสินใจในการนำเสนอข่าวของกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นั้น     ดังนั้น การตั้งข้อสังเกตในรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ในประเด็นการลงโฆษณาของพรรคการเมือง จึงเป็นข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการบริหารจัดการสื่ออย่างเป็นระบบ โดยเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ โดยไม่ได้มีข้อความใดที่ระบุว่า การรับโฆษณาจะทำให้หนังสือพิมพ์นั้นต้องนำเสนอข่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่ลงโฆษณาเสมอไป 

อนึ่ง แม้หนังสือพิมพ์บางฉบับมักจะอ้างว่า ได้แยกฝ่ายการตลาดออกจากกองบรรณาธิการแล้ว ทำให้การหารายได้จากโฆษณาและกิจกรรมอื่นๆ ไม่มีผลต่อการนำเสนอเนื้อหาของกองบรรณาธิการก็ตาม  

ในความเป็นจริง กลับเป็นที่ทราบกันในวงกว้างว่า มีหนังสือพิมพ์บางเครือเคยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ (event) ให้แก่กระทรวงบางแห่ง โดยได้รับค่าตอบแทนมูลค่าสูงหลายสิบล้านบาท หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ในเครือนั้นก็ได้นำเสนอข่าวการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นข่าวสำคัญ และบทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ก็ได้แสดงความชื่นชมและสนับสนุนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้นอย่างไม่สมเหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ในเครือดังกล่าวเป็นอย่างมาก

8.คณะอนุกรรมการฯ สรุปผลการตรวจสอบผิดพลาด เพราะไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือพิมพ์หรือไม่?

อนุกรรมการฯ 2 ใน 5 คนเป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ จึงไม่ใช่ผู้ที่ไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือพิมพ์เลยอย่างแน่นอน  อย่างไรก็ตาม หลักการทำหนังสือพิมพ์ที่ดีตามมาตรฐานของคณะอนุกรรมการฯ อาจไม่ใช่หลักการเดียวกันกับที่ใช้ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ   ทั้งนี้ หลักการที่คณะอนุกรรมการฯ ยึดถือ รวมถึงหลักสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติดังต่อไปนี้ 

ประการที่หนึ่ง แม้ประเด็นข่าวของหนังสือพิมพ์จะเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็ตาม  การนำเสนอข่าวนั้น ก็ยังจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการพาดหัวข่าว การบรรยายประกอบภาพ และการเขียนเนื้อหาของข่าว จะต้องไม่มีการสอดแทรกความคิดเห็นของตนลงไป ส่วนการนำเสนอข้อมูลและภาพที่ได้มาจากภายนอก ก็ควรบอกแหล่งที่มาของข้อมูลและภาพนั้นให้ผู้อ่านได้ทราบอย่างชัดเจน

ประการที่สอง แม้หนังสือพิมพ์ควรเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม การเป็นปากเสียงของหนังสือพิมพ์นั้น ไม่ได้หมายความว่า หนังสือพิมพ์จะสามารถลำเอียงเลือกข้างในการนำเสนอข่าวสารโดยไม่พยายามให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย   

ประการที่สาม  แม้การเขียนบทความจะเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้เขียนจะพึงเขียนบทความได้โดยอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้ของข้อบังคับด้านจริยธรรม การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลใดในบทความจึงต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่ผู้นั้นด้วย ไม่ใช่มุ่งโจมตีด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ในประเด็นเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องไม่ใช่การแสดงความชื่นชมอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เคยตั้งคำถามในเชิงตรวจสอบ หรือไปจนถึงขั้นเป็นปากเสียงแก้ต่างให้แทนในแทบทุกเรื่อง

ในการวิเคราะห์ว่า หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างเป็นธรรมหรือมีความเอนเอียงหรือไม่นั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดในด้านองค์ประกอบต่างๆ ทั้งการพาดหัวข่าว การลงภาพข่าวและคำบรรยายประกอบภาพ เนื้อหาของข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนการรายงานผลในเชิงปริมาณเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ใช้ในการสรุปผลการวิเคราะห์ ซึ่งอยู่บนฐานของการใช้ข้อมูลจำนวนมากเท่านั้น

คณะอนุกรรมการฯ หวังว่า คำชี้แจงข้างต้นนี้จะช่วยให้สาธารณชนเข้าใจถึงแนวทางการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ที่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อทำความจริงในกรณีที่เป็นปัญหานี้ให้ปรากฏต่อสาธารณะ