posttoday

ศาลปค.ให้ม.รามเดินหน้าสรรหาอธิการบดี

24 สิงหาคม 2554

ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวให้ม.รามคำแหงเดินหน้าสรรหาอธิการบดี

ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวให้ม.รามคำแหงเดินหน้าสรรหาอธิการบดี

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวคดีที่นายวิโชติ วัณโณ ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยื่นฟ้อง นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง , คณะกรรมการอำนวยการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องออกคำสั่งโดยมิชอบ

กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 3 ส.ค.2554 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ถูกฟ้องที่ 3 ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 โดยเกษียณอายุราชการแล้วจึงเป็นเพียงข้าราชการบำนาญ และมีสถานะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเท่านั้น ไม่มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาอธิการบดี จึงมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลปกครองเพิกถอนสิทธิของนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ ในการเข้ารับการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้ก่อน
        
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องที่ว่า หากให้มีการลงคะแนนหยั่งเสียงต่อไป ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 2 กำหนดให้มีการลงคะแนนหยั่งเสียงสรรหาอธิการบดี สำหรับอาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในวันที่ 26 ส.ค.54 และหยั่งเสียงล่วงหน้าในวันที่ 23 ส.ค.นี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของมหาวิทยาลัยในการเตรียมการเลือกตั้ง และเลือกตั้งครั้งใหม่ และค่าใช้จ่ายในการแนะนำ โฆษณา เตรียมการหยั่งเสียง รวมถึงค่าจ้างเจ้าหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี อันยากแก่การเยียวยาในภายหลังนั้น ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยตรง ที่จำเป็นต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี

ในส่วนของค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้าง สามารถเยียวยาแก้ไขในภายหลังในรูปของค่าสินไหมทดแทนหากผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี อีกทั้ง คำขอเกี่ยวกับคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวนั้น ก็เป็นคำขอเดียวกันกับคำขอในคำฟ้อง ซึ่งศาลยังมิได้พิจารณาพยานหลักฐานจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด

ดังนั้น หากศาลกำหนดให้มีการทุเลาการบังคับตามประกาศฉบับดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการพิจารณาพยานหลักฐานโดยรอบคอบได้ ในชั้นนี้จึงไม่ควรมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ฟ้อง.