posttoday

กองทุนน้ำมันฯป่วนแบกหนี้แอลพีจีพุ่ง

23 กรกฎาคม 2553

กองทุนน้ำมันฯ หลังแอ่น นำเข้าแอลพีจีสร้างหนี้บาน เงินไหลเข้าเริ่มติดลบ

กองทุนน้ำมันฯ หลังแอ่น นำเข้าแอลพีจีสร้างหนี้บาน เงินไหลเข้าเริ่มติดลบ

นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน หรือ สบพ. เปิดเผยว่า สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเงินทุนสะสมอยู่ 2.4 หมื่นล้านบาท แต่ภาระจ่ายชดเชยนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ บางเดือนอยู่ในภาวะติดลบ สลับกับบางเดือนที่เป็นบวกเพียงกว่า 100 ล้านบาท โดยหวังว่าครึ่งปีหลังหากโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของบริษัท ปตท. เดินเครื่องได้จะช่วยลดการนำเข้าแอลพีจีได้บ้าง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากองทุนน้ำมันฯ มีภาระจ่ายชดเชยนำเข้าแอลพีจีไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยจ่ายคืน ปตท.ในฐานะผู้นำเข้า ซึ่งประเมินว่าหากสถานการณ์นำเข้ายังอยู่ที่ระดับ 1.5 แสนตันต่อเดือนจนถึงสิ้นปี จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายหนี้ปีนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้เฉลี่ยฐานะสุทธิกองทุนจะบวกประมาณ 100 กว่าล้านบาท โดยมีรายรับอยู่ที่ 3,000 กว่าล้านบาท และมีรายจ่ายเกือบ 3,000 ล้านบาทเช่นกัน” นายศิวะนันท์ กล่าว

นายปรัชญา ภิญญาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. กล่าวว่า จากการที่โรงแยกก๊าซฯ 6 ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดปัญหาคดีมาบตาพุด ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมก็สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ ปตท.มีภาระนำเข้าแอลพีจีในระดับสูงต่อไป คาดว่าจะอยู่ประมาณ 1.5 แสนตันต่อเดือนจนถึงสิ้นปี

สิ่งที่กังวลในตอนนี้ คือ ราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีการลักลอบส่งออกในปริมาณสูง ทำให้ถังก๊าซแอลพีจีไม่กลับคืนสู่ระบบ เป็นภาระที่ต้องลงทุนเพิ่ม ล่าสุดคาดว่า ปตท.จะต้องผลิตถังก๊าซแอลพีจีเพิ่มอีก 34 แสนถัง นับเป็นต้นทุนที่เพิ่มกว่า 200 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจ้งว่า ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างราคาแอลพีจี โดยแยกเป็น 2 ตลาด คือ 1.แอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี จะให้อิงกับราคาแอลพีจีตลาดโลก และ 2.แอลพีจีที่ใช้ในครัวเรือนและขนส่งจะให้อิงกับราคาในประเทศที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ซึ่งจะพิจารณาว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร

หลังจากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อนำไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนราคาแอลพีจีให้เหมาะสมและหวังจะช่วยลดปริมาณการใช้แอลพีจีลงได้แค่ไหน เพื่อไม่ให้กองทุนฯต้องแบกรับภาระมากกว่าที่เป็นอยู่