posttoday

เหนื่อยน้อยได้งานมาก

05 สิงหาคม 2554

ทุกวันนี้ ว่ากันว่า บริษัทห้างร้านและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ จะแพ้ชนะกันก็ด้วย

ทุกวันนี้ ว่ากันว่า บริษัทห้างร้านและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ จะแพ้ชนะกันก็ด้วย

โดย..วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ว่ากันว่า บริษัทห้างร้านและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ จะแพ้ชนะกันก็ด้วย “คุณภาพของพนักงาน” ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นสำคัญ

หากองค์กรใดสามารถสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ คือ เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง หรือเพิ่มศักยภาพในการทำงานด้วยการเรียนรู้ในงาน กระตุ้นให้มีการใช้ความคิดเป็น สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม ปรับปรุงงานร่วมกันได้ มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared Vision) จนองค์กรสามารถสั่งสมประสบการณ์และสร้างเป็นองค์ความรู้ขององค์กรตนเองขึ้น องค์กรนั้นก็จะเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning Organization) ซึ่งเป็นองค์กรยอดปรารถนาแห่งอนาคต (ตามแนวคิดสำคัญส่วนหนึ่งของ Peter Senge ในหนังสือชื่อ Learning Organization)

องค์กรแห่งการเรียนรู้ จะเป็นองค์กรที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

การเพิ่มผลผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) นับเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของทั้งระดับองค์กรและประเทศชาติ และถือเป็นกลยุทธ์หลักประการหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคตด้วย

การเพิ่มผลผลิตโดยพนักงานในองค์กร จะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายและเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับการเพิ่มผลผลิตด้านอื่นๆ (เช่น การเพิ่มผลผลิตด้านเทคโนโลยี เป็นต้น)

แต่บางท่านก็เชื่อว่าการเพิ่มผลผลิตโดยพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ยากกว่าวิธีการอื่นๆ ทั้งหมด เพราะเกี่ยวข้องกับ “คน” ที่เป็นตัวแปรที่ควบคุมได้ยากที่สุด

เรื่องนี้จึงอยู่ที่มุมมองและประสบการณ์ที่ต่างกันไปของแต่ละคน

ถ้าจะพูดให้ง่ายๆ การเพิ่มผลผลิตโดยพนักงานจะกระทำได้เมื่อพนักงานผู้ปฏิบัติงาน “รู้จักคิด” ด้วยการพยายามตอบคำถามว่า

1.“จะทำอย่างไร จึงจะทำงานได้เท่าเดิม แต่เหนื่อยน้อยลง”

2.“จะทำอย่างไร จึงจะทำงานได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเหนื่อยมากขึ้น (เหนื่อยเท่าเดิม)”

3.ถ้าจะให้ดีขึ้นกว่านั้นอีก ต้องตอบคำถามว่า “จะทำอย่างไรจึงจะทำงานได้มากขึ้น ด้วยความเหนื่อยน้อยลง”

คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบว่า “ทำอย่างไร” ที่เป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่เพียงแต่ “คิดแล้วเฉย”

ดังนั้น ถ้าทำงานกันแบบเดิมๆ ทำงานตามแบบที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ หรือทำตามความเคยชินที่ทำกันมานานแล้ว ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำจนไม่คิดว่ามีปัญหา โอกาสที่จะเพิ่มผลผลิต หรือโอกาสที่จะเหนื่อยน้อยลงก็เป็นไปได้ยาก

แสดงว่าการที่องค์กรจะเพิ่มผลผลิตได้ ทั้งผู้บริหารและพนักงานจะต้อง “ปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน” เสียใหม่ โดยยึดเป้าหมายของการเพิ่มผลผลิตเป็นแกนนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

การที่จะทำให้พนักงาน “คิดเป็น” และสามารถปรับปรุงงานได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ จึงมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน การเพิ่มผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ทุกองค์กร ซึ่งจะคงทนถาวรยิ่งกว่าความได้เปรียบจาก “ค่าเงินบาท” เป็นไหนๆ

ทุกวันนี้ หลายๆ องค์กรยังคงทำงานกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (หรือมีก็น้อยมาก) ดังเห็นได้จากการที่องค์กรยังคงใช้ศักยภาพของพนักงานแต่ละคนได้ไม่เต็มที่ และยังไม่สามารถลดความสูญเปล่าต่างๆ ลงได้เท่าที่ควร (ทั้งที่มองเห็นและรู้อยู่เต็มอก)

หลายๆ องค์กรดูเหมือนจะทำงานกันอย่างเต็มที่และสุดกำลัง ทุกคนทำงานกันจนเหนื่อยล้า แต่ได้ “ผลงาน” (หรือกำไร) นิดเดียว ผลที่ได้จึง “ไม่คุ้มเหนื่อย” ทำให้ท้อไปตามๆ กัน

จึงเป็นลักษณะของการทำงานที่ไม่ได้งาน (ไม่มีมูลค่าเพิ่ม) คือไม่มีผลิตภาพนั่นเอง

ทำไมเราไม่ลองหันมาสร้าง “องค์กรแห่งการเรียนรู้” และพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ (TQM) แบบไทยๆ กันอย่างถ่องแท้สักครั้ง

บางทีแทนที่จะได้แต่นั่งถอนหายใจเฮือกๆ อย่างหมดอาลัยตายอยาก เราก็อาจจะมองเห็นสวรรค์อยู่แค่เอื้อม (ไม่ใช่สุดเอื้อม) ครับผม!