posttoday

นายกฯชี้ปัญหาขยะเป็นวาระชาติต้องกำจัดให้เหลือน้อยลง

21 เมษายน 2560

นายกฯชี้ปัญหาขยะเป็นวาระชาติเผยได้กำจัดไปแล้วกว่า20ล้านตัน ห่วงภาวะโลกร้อนปลุกคนไทยลดภาวะเรือนกระจก

นายกฯชี้ปัญหาขยะเป็นวาระชาติเผยได้กำจัดไปแล้วกว่า20ล้านตัน ห่วงภาวะโลกร้อนปลุกคนไทยลดภาวะเรือนกระจก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ได้กำหนดมาตรการจัดระเบียบเรื่องของ“ขยะ”แลพได้ประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การที่เราสามารถกำจัดขยะมูลฝอย ตกค้าง สะสมมานานมากกว่า 20 ล้านตัน จากทั้งหมด 30 ล้านตัน, การกำหนดพื้นที่รวบรวมของเสียอันตราย 83 แห่งทั่วประเทศ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ถูกหลักวิชาการ และการรณรงค์เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอย ในภาพรวมของประเทศ เฉลี่ยให้ลดลง ร้อยละ 5 หรือไม่เกิน 23 ล้านตันต่อปี เป็นต้น

วันพรุ่งนี้ 22 เมษายน เป็นวัน “คุ้มครองโลก” ซึ่งเป็นวันสำคัญทางสิ่งแวดล้อมเพื่อเตือนใจให้ “ชาวโลก” ทุกคนมีจิตสำนึกช่วยกันปกป้องดูแลโลกของเรา ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติและหายนะต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนประชาชน “ชาวไทย” ทุกท่าน ได้ร่วมกันลด “ก๊าซเรือนกระจก” อย่างจริงจัง บางคนอาจคิดว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องไกลตัวไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับท่านเลย หรือเข้าใจผิดว่าท่านไม่ได้เป็นคนปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วกลับเห็นว่าการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นเรื่องของภาครัฐ ที่ต้องหาทางควบคุมโรงงาน กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซนี้ออกมาในปริมาณมากๆ ให้เหลือในปริมาณที่เหมาะสม

อยากเรียนทำความเข้าใจขอความร่วมมือจาก “ทุกคน” ในอนาคตต่อไป สิ่งที่เราควรรู้ คือ เราทุกคนนั้นต่างปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่ชั้นบรรยากาศไม่มากก็น้อย ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะขับรถ เปิดน้ำ เปิดไฟ ต่างเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ไม่ทางตรง หรือทางอ้อม ยิ่งการผลิตไฟฟ้า การผลิตสิ่งของต่างๆ ในโรงงาน การขนส่งที่ใช้พลังงานมากก็จะยิ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากและสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากตามไปด้วย ก็จะส่งผลให้เกิดภัยต่างๆ ตามมาภายหลังเช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ หรืออากาศร้อนจัด หนาวจัด เหมือนที่เราสัมผัสได้ในทุกวันนี้

ประการต่อไปก็คือคนไทยส่วนมากอาจจะไม่รู้ว่า องค์กรสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี ได้จัดอันดับให้ประเทศของเรา เป็น “1 ใน 10” ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดในโลก ดังนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่ป้องกัน ไม่ร่วมมือ ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราบ้าง อนาคตอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า เราก็อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติที่มากขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

ประการต่อไปประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ 21 ของโลก แม้เรานั้นจะไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยก๊าซ “เพิ่มมากขึ้น” ในอนาคต รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญแล้วก็ได้เริ่มลงมือลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังแล้วครับ ก็นับตั้งแต่ผมได้ไปแสดงเจตจำนงไว้ที่กรุงปารีส ในปี 2558 ว่าไทยนั้นจะมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20–25ภายในปี 2573 ซึ่งก็จะช่วยในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติในอนาคตแก่โลกใบนี้

อันที่จริงแล้วเรื่อง “ก๊าซเรือนกระจก” นี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทั้งยังมีพระราชดำริในเรื่อง “โลกร้อน” มาตั้งแต่ปี 2532 ที่เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นและสิ่งแวดล้อมแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อไทยและต่อโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงได้พระราชทาน “ศาสตร์พระราชา” และโครงการตามแนวทางพระราชดำริ หลายๆ เรื่อง ให้รัฐบาลและปวงชนชาวไทย ได้น้อมนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวแต่เนิ่น อย่างมีความรับผิดชอบ

ในส่วนของรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญ “เร่งด่วน” กับภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปริมาณมากก่อนนะครับ ได้แก่ ภาคพลังงานและภาคคมนาคมขนส่ง ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้ผลิตและใช้พลังงานทดแทน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนะครับ, การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน, การลดการขนส่งทางถนน และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งระบบทางรางให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฮบริด รถพลังงานไฟฟ้า,ส่งเสริมให้ใช้ ไบโอดีเซลและ เอทานอล ในภาคขนส่งเหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนั้นก็ยังได้เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปกป้องธรรมชาติอย่างสมดุล ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ไม่ให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ ถ้าประเทศไทย มีพื้นที่ป่าไม้มากนะครับ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ แต่การลดก๊าซเรือนกระจกเฉพาะเพียงภาครัฐ คงทำอะไรไม่ได้มากนักนะครับ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในลักษณะของ “ประชารัฐ” ไปด้วย

สำหรับในภาคประชาชน ชุมชนขอยกย่อง หมู่บ้านป่าเด็ง ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นตัวอย่างในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยยึด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเดิมทีนั้น หมู่บ้านแห่งนี้ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง จึงต้องใช้เครื่องปั่นไฟ สิ้นเปลืองน้ำมันมาก และต้องตัดไม้มาทำฟืนหุงหาอาหาร ต่อมาสมาชิกหมู่บ้านได้รวมตัวกันเพื่อหาแนวทาง แก้ไขปัญหาร่วมกันโดยตั้ง “เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ"

จากการระดมสมอง โดยเห็นว่าในหมู่บ้าน มีการเลี้ยงวัวนมตามโครงการพระราชดำริ ทำให้มีมูลวัวมากมาย อีกทั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม มีขยะอินทรีย์เป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้มูลวัวและขยะอินทรีย์มาทำ “ก๊าซชีวภาพ” เพื่อหุงต้มและผลิตไฟฟ้าบางส่วน นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ผลิตไฟฟ้า จากแผงโซลาร์เซลล์เก่า เก็บมาซ่อมเพื่อใช้ใหม่ ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านป่าเด็ง มีไฟฟ้าใช้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแม้แต่บาทเดียว และประหยัดรายจ่ายจากค่าก๊าซหุงต้ม อีกด้วย

ปัจจุบัน “เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ” ของชาวบ้านป่าเด็งนี้ ได้ยกระดับไปสู่ “สถาบันเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานทางเลือก” ทำหน้าที่เป็นผู้แบ่งปัน “องค์ความรู้” ไปสู่ชุมชนอื่น เป็น “หลักปฏิบัติ” ซึ่งก็คงไม่ใช่เป็นเพียงหลักการ หรือหลักวิชาการในตำรา นี่คือชุมชนตัวอย่างที่ไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐ มีความยั่งยืน มีความ สุข จากการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัญหาเรื่องการต่อสู้ปัญหาภาวะโลกร้อนและการลดก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การจัดการขยะของเสียตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย

ดังนั้นเรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่อง “1 ใน 27” วาระการปฏิรูปประเทศ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลให้ความสำคัญจะต้องนำไปสู่ความ สำเร็จให้จงได้ ทั้งนี้สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ดี และปลูกจิตสำนึก ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง ชุมชน เทศบาล หรือหมู่บ้านก็ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน