posttoday

ไทยจัดแข่งฟิสิกส์โอลิมปิกมี46ประเทศเข้าร่วม

09 พฤศจิกายน 2560

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์โอลิมปิก12-21พ.ย.นี้ที่ภูเก็ต มีนักเรียนไทยจาก46ประเทศรวม500คนเข้าร่วม

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์โอลิมปิก12-21พ.ย.นี้ที่ภูเก็ต มีนักเรียนไทยจาก46ประเทศรวม500คนเข้าร่วม

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองประธานมูลนิธิ สอวน.เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2560 โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จาก 46 ประเทศ รวม 500 คน เข้าร่วมการแข่งขัน โดยใช้สถานที่โรงแรมดวงจิตต์รีสอร์ทแอนด์สปา เป็นสถานจัดพิธีเปิด ที่พักของนักเรียน ผู้เข้าแข่งขัน สถานที่สอบภาคทฤษฎี ภาควิเคราะห์ข้อมูล และภาคสังเกตการณ์กลางวัน ใช้โรงแรมภูเก็ต  แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช  เป็นสถานที่พักของผู้ควบคุมทีม สถานที่พิจารณาข้อสอบและจัดทำข้อสอบ  และใช้สนามกีฬาเทศบาลตำบลราไวย์ เป็นสถานที่สอบภาคสังเกตการณ์ และแหลมพรหมเทพ เป็นสถานที่สอบปฏิบัติการดูดาว

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  (องค์กรมหาชน)  กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งแรก เมื่อปี 2550 โดยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบภาคสังเกตการณ์  การสอบแข่งขันในครั้งนี้นับว่าเป็นสนามการแข่งขันทางด้าน ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศต่าง ๆ  46 ประเทศ ๆ ละไม่เกิน 5 คน และอาจารย์ผู้ควบคุมทีมประเทศละไม่เกิน 2 คน ประกอบด้วย ประเทศอาร์มีเนีย ,บังกลาเทศ , เบลารุส , บราซิล , บัลแกเรีย , แคนาดา , จีน , โคลัมเบีย , โครเอเชีย , ไซปรัส , เช็กเกีย , เอสโตเนีย ,จอร์เจีย , กรีซ , ฮังการี , อินเดีย , อินโดนีเซีย , อิหร่าน , จอร์แดน , คาซัคสถาน , คีร์กีซสถาน , ลาว , ลิทัวเนีย ,มาเลเซีย , มาลี , เม็กซิโก , เนปาล , ปากีสถาน , ฟิลิปปินส์ , โปแลนด์ , โปรตุเกส , กาตาร์ , โรมาเนีย , รัสเซีย , เซอร์เบีย , สิงคโปร์ , สโลวาเกีย , สโลวีเนีย , เกาหลีใต้ , ศรีลังกา , ไทย , ยูเครน , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , สหราชอาณาจักร , สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เป็นต้น โดยมีการสอบทั้งภาคทฤษฎี ภาควิเคราะห์ข้อมูล การสอบภาคสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการดูดาวจริงบนท้องฟ้า โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ และการใช้โดมท้องฟ้าจำลอง ซึ่งการแข่งขันมิได้มุ่งเน้นผลคะแนนและเหรียญรางวัลแต่เพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนผู้เข้าสอบจะได้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับนักเรียนจากประเทศอื่น ๆ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคตอีกด้วย
  
รองศาสตราจารย์ ดร. ซุกรี  หะยีสาแม  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เยาวชนไทยที่มีศักยภาพสูงทางปัญญาได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนโน้มน้าวให้เยาวชนไทย หันมาให้ความสนใจศึกษาวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ช่วยให้ครูและนักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากการแลกเปลี่ยนความรู้กับครูและเยาวชนจากนานาประเทศ นับเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนในประเทศไทยหันมาให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ และนักวิชาการ ยังให้ความสนใจจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาดาราศาสตร์ในสถานศึกษามากอีกด้วย

สำหรับตัวแทนนักเรียนไทยที่จะเข้าร่วมการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย  นายภานุพงศ์ พุ่มพวง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นายญาณภัทร เหมรัฐพาณ  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  นายภูมิรพี พิศุทธ์สิทธิ์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ นายวริท วิจิตรวรศาสตร์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียน สวนกุหลาบวิทยาลัย นางสาวแพรสุนันท์ จันทร์พานิช  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำเนิดวิทย์