posttoday

ก.เกษตรเร่งพัฒนาระบบบริหารจัดนมโรงเรียน

19 พฤษภาคม 2560

กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบ รับเปิดภาคเรียนที่ 1/2560

กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบ รับเปิดภาคเรียนที่ 1/2560

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมเร่งดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบ รับเปิดภาคเรียนที่ 1/2560 โดยเกษตรกรโคนมได้รับการดูแล นักเรียนได้ดื่มนมมีคุณภาพ โปร่งใส เป็นธรรมกับผู้ประการ มีการพัฒนาหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ฯ และมาตรการในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานนมโรงเรียนให้สูงขึ้นตลอดห่วงโซ่

ด้าน นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามแผนการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน) ในภาคเรียนที่ 1/2560 ดำเนินการครอบคลุม 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.การกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม (Good Agricultural Practice : GAP) โดยกำหนดเกณฑ์ขั้นพื้นฐานสำหรับการขึ้นทะเบียนรับรองเป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐานเกณฑ์การประเมิน อาทิเช่น โรงเรือนได้มาตรฐาน คุณภาพนมเบื้องต้นมีคุณภาพดี มีสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม เพื่อผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพดียกระดับมาตรฐานฟาร์มโคนมของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีฟาร์มทั้งหมด จำนวน 13,903 ฟาร์ม ที่ผ่านเกณฑ์ GAP แล้ว จำนวน 4,065 ฟาร์ม คิดเป็น 29.24% และมีเป้าหมายการดำเนินงานครบถ้วน 100% ภายในภาคเรียนที่ 2/2560 โดยมอบกรมปศุสัตว์ตรวจติดตามและให้คำแนะนำการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

2.คุณภาพน้ำนมดิบ ได้พิจารณาปรับปรุงองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ คือ ปริมาณของแข็งรวม (Total Solid : TS) ซึ่งยกระดับมาตรฐาน จากเดิม 12.20% ให้เป็น 12.25% ในภาคเรียน 1/2560 จะดำเนินการโดยการตรวจติดตามคุณภาพและมาตรฐานน้ำนมดิบ โดยเก็บตัวอย่างจากศูนย์รวมรวบน้ำนมทุกศูนย์ฯ เดือนละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพทั้งระบบ เช่น ปรับปรุงอาหารโดยนำอาหารสำเร็จ (Total Mixed Ration : TMR) มาใช้ ส่วนการยกระดับมาตรฐานปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว (Somatic Cell Count : SCC) จากเกณฑ์เดิม 600,000 เป็น 550,000 เซลล์/ซีซี ในภาคเรียนที่ 1/2560 และมีเป้าหมายลดจำนวนปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว เหลือ 500,000 เซลล์/ซีซี ภายในภาคเรียนที่ 2/2560 โดยให้ความรู้กับเกษตรกรโดยหน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนมของกรมปศุสัตว์ และตรวจติดตามคุณภาพโดยเก็บตัวอย่างจากศูนย์รวบรวมน้ำนมทุกศูนย์ฯ เดือนละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง

3.การขนส่งนมโรงเรียน จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่ารถขนส่งนมโรงเรียน รวม 922 คัน แยกเป็นรถห้องเย็นขนส่งนมพาสเจอร์ไรส์ จำนวน 675 คัน และรถบรรทุกนม UHT จำนวน 247 คัน

และ4.การจัดเก็บผลิตภัณฑ์นมที่โรงเรียน ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บนมที่โรงเรียน ทั้งนมพาสเจอร์ไรส์ และ UHT โดยให้โรงเรียนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการตรวจรับนมโรงเรียน โดยสุ่มตรวจคุณภาพ พร้อมตัดชิมก่อนที่จะให้เด็กนักเรียนดื่ม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ในการรักษาคุณภาพนมพาสเจอร์ไรส์ เช่น ถังแช่/ตู้เย็น เทอร์โมมิเตอร์ ฯลฯ

สำหรับการติดตามทั้งการขนส่งและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนในแต่ละจังหวัด จะใช้กลไกของรัฐ โดยในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ คณะกรรมการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด และมีนายอำเภอเป็นคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ เป็นการบูรณาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอ ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการตามลำดับ และในระดับกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ Single Command ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการเพื่อตรวจติดตามกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องทุกเดือน