posttoday

วิจัยชี้อีก20ปีวัยแรงงานหด-คนแก่เพิ่มกระทบศก.รายจังหวัด

07 พฤศจิกายน 2559

งานวิจัยชี้อนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยน วัยแรงงานลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรายจังหวัด

งานวิจัยชี้อนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยน วัยแรงงานลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรายจังหวัด

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์การศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ตลาดแรงงานในจังหวัดใหญ่ๆ จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอีก 20 ปีข้างหน้า จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัด และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบรัดให้เด็กที่เข้าเรียนอนุบาลในปีนี้ จำเป็นต้องมีความสามารถหรือเก่งขึ้นอีก 2-3 เท่าของเด็กที่จบการศึกษาขั้นสูงในวันนี้ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจของจังหวัดดังกล่าวจะเสี่ยงที่จะจนลงทันที เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น แต่ประชากรวัยแรงงานมีน้อยลง

นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า การวางแผนการศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จังหวัดใหญ่ๆ จะต้องเริ่มคิดเรื่องการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กและเยาวชน ในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ พบว่า แนวโน้มดังกล่าวเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูง อาทิ เชียงใหม่ ตราด ภูเก็ต สงขลา และอำนาจเจริญ ที่ต้องเริ่มต้นศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดว่าเหมาะสมกับการประกอบอาชีพอะไร คล้ายการตรวจเช็คสุขภาพเศรษฐกิจของจังหวัดตัวเอง กรณีดังกล่าว หลายประเทศชั้นนำ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และมาเลเซียก็มีการออกแบบแผนการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจในระดับรัฐหรือจังหวัด จัดทำแผนจัดการศึกษาควบคู่ไปกับแผนเศรษฐกิจ ให้ตลาดการจ้างงานสอดคล้องกับการผลิตคนในแต่ละพื้นที่

ศ.สุมาลี ตั้งประดับกุล ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว สสค.ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แผนจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด ที่มีเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดยกระดับขีดความสามารถในการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพได้ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ สุรินทร์ กาญจนบุรี ชลบุรี ตราด ภูเก็ต และสุราษฏร์ธานี

ศ.สุมาลีกล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมทักษะอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งในกลุ่มที่ต้องการเรียนต่อ และกลุ่มที่จำเป็นต้องออกไปประกอบอาชีพหลังออกจากระบบการศึกษา ซึ่งตรงกับโจทย์ที่รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ.ให้ความสำคัญ จังหวัดต้องสร้างกลไกความร่วมมือจากภาคีฝ่ายต่างๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคแรงงาน ภาคข้อมูลสถิติจังหวัด รวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะนายจ้างสามารถสะท้อนข้อมูลและความต้องการทักษะแรงงานได้ตรงตามบริบทจริงในพื้นที่ เมื่อประกอบกับยุทธศาสตร์ของสสค.ซึ่งใช้พื้นที่ระดับจังหวัดเป็นฐานในการทำงานไปพร้อมๆกับการศึกษาวิจัยการเรียนรู้ด้านอาชีพในนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในโรงเรียน 20 แห่งใน 10 จังหวัด ก็จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นสามารถเลือกใช้ข้อมูลในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ