posttoday

หุ่นยนต์จีนแทรกซึมทุกวงการ ตั้งแต่ผัดอาหาร ยันนักเต้น

09 มิถุนายน 2568

ส่องความสำเร็จอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีน แทรกซึมเข้าไปในทุกธุรกิจตั้งแต่โรงงาน ร้านอาหาร-บาร์ ยันเวทีนักเต้น คาดในอีก 5 ปี โตอีก 100 เท่า มูลค่าพุ่งราว 3.6 ล้านล้านบาท

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังแทรกซึมเข้าไปในทุกธุรกิจ

 

อย่างเช่นในคืนก่อนวันตรุษจีน 2025 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา การแสดงกาล่าฤดูใบไม้ผลิได้เผยโฉมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ 16 ตัว ขนาดเท่าคนจริงที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของบริษัท Unitree แสดงเต้นร่วมกับนักเต้นมืออาชีพตามจังหวะดนตรีพื้นบ้านอย่างพร้อมเพรียง

 

หรืออย่างล่าสุด เซริธ (Zerith) สตาร์ทอัพหุ่นยนต์จากจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยชิงหัว  และศูนย์เทคโนโลยีขั้นสูงเจียงฮวาย เปิดตัว “เซริธ เอชวัน” (Zerith H1) หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ทำความสะอาดตัวแรกของโลกที่ออกแบบเฉพาะสำหรับงานในโรงแรม โดยหุ่นยนต์ AI อัจฉริยะนี้พร้อมเข้ามาปฏิวัติการดูแลห้องพักและการให้บริการแขกในโรงแรมทั่วโลก

 

Zerith H1 ไม่ใช่แค่เครื่องดูดฝุ่นทั่วไป แต่เป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่สามารถรับมือกับงานหนักในโรงแรมได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่งานทำความสะอาดสุขภัณฑ์ ฝักบัว อ่างล้างหน้า ไปจนถึงการดูดฝุ่น จัดเก็บอุปกรณ์ในห้องน้ำ และแม้แต่การจัดเรียงรองเท้าบนชั้นวาง

 

การที่หุ่นยนต์เต้นบนเวที หรือหุ่นยนต์ทำงานเหมือนคนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จีนกำลังส่งสัญญาณถึงโลกชัดเจนว่าจีนมุ่งสู่ความเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ที่มีความคล่องตัวและซับซ้อนขึ้น

 

Business Insider รายงานว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนจดสิทธิบัตรหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์กว่า 5,590 รายการ ขณะที่สหรัฐฯ มีเพียง 1,442 รายการ (ข้อมูลจาก Morgan Stanley) นอกจากนี้ จีนยังถือครองสิทธิบัตรด้านหุ่นยนต์มากกว่ารวมกันของ 19 ประเทศถัดไปถึง 22%

 

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา จีนติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในโรงงานมากกว่าทุกประเทศ และในปี 2024 บริษัทจีนเปิดตัวหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ถึง 35 รุ่น คิดเป็นสองในสามของทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่สหรัฐฯ และแคนาดารวมกันเปิดตัวเพียง 8 รุ่นเท่านั้น
 

 

หุ่นยนต์ผัดอาหารบุกวงการร้านอาหารจีน

 

ในช่วงก่อนโควิด-19 หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในจีนเริ่มมีการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างจริงจังตั้งแต่ช่วง ปี 2016–2018 เริ่มมีการทดลองใช้งานหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในร้านอาหารบางแห่ง เช่น หุ่นยนต์ชื่อ "แคนดี้" (Candy) ของบริษัทจีนที่พัฒนาในรูปแบบคล้ายเด็กหญิงเสิร์ฟ

 

และการใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ซึ่งช่วยเร่งการปรับตัวของภาคบริการให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะในร้านอาหาร โรงแรม และโรงพยาบาล เนื่องจากข้อจำกัดเรื่อง social distancing และแรงงาน

 

และตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา หุ่นยนต์เสิร์ฟกลายเป็นมาตรฐานใหม่ ในร้านอาหารหลายแห่งในจีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น

 

ร้านอาหารใช้หุ่นยนต์เป็นเชฟผัดอาหาร

 

ทั้งนี้ท่ามกลางแรงกดดันจากต้นทุนแรงงานและการแข่งขันด้านราคา หุ่นยนต์ผัดอาหารกำลังกลายเป็นทางรอดของร้านอาหาร โดยเฉพาะแฟรนไชส์และร้านขนาดกลาง-เล็ก

 

หุ่นยนต์หนึ่งเครื่องมีราคาประมาณ 36,000 หยวน (165,600 บาท) หรือเช่าใช้งานเดือนละ 2,500 หยวน (11,500 บาท) ซึ่งถูกกว่าค่าแรงพ่อครัวในเมืองใหญ่ที่อาจสูงถึง 8,000 หยวนต่อเดือน (36,800 บาท)

 

แฟรนไชส์ดังอย่าง Xiaocaiyuan และ Bawangcanyin เริ่มลงทุนซื้อและเช่าหุ่นยนต์ผัดอาหารจำนวนมาก เพื่อใช้ในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ

 

 

หุ่นยนต์จีนแทรกซึมทุกวงการ ตั้งแต่ผัดอาหาร ยันนักเต้น

 

อย่าง Xiaocaiyuan แฟรนไชส์ร้านอาหารในตลาดหุ้นจีน เริ่มใช้หุ่นยนต์ตั้งแต่ปี 2023 และมีแผนจัดซื้อเพิ่มอีก 3,000 เครื่อง ด้วยงบกว่า 150 ล้านหยวน (ราว 690 ล้านบาท) โดยคาดว่าจะติดตั้งเฉลี่ยร้านละ 5 เครื่อง จากจำนวนกว่า 600 สาขาทั่วประเทศ

 

ส่วน Bawangcanyin ร้านอาหารกล่องอีกเจ้าก็ใช้หุ่นยนต์ล้วนในครัว และเริ่มผลิตหุ่นยนต์ของตัวเอง พร้อมสร้างรายได้จากค่าเช่าเครื่องปีละกว่า 20 ล้านหยวน ผ่านเครือข่ายแฟรนไชส์

 

แม้หุ่นยนต์ช่วยประหยัดต้นทุนและเพิ่มความเร็ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เช่น ต้องใช้แรงงานเตรียมวัตถุดิบ และยังขาดกลิ่นหอมกระทะแบบดั้งเดิม ทำให้บางร้านเลือกใช้เพียงบางเมนูเท่านั้น

 

ผู้บริโภคเองก็เริ่มสนใจอาหาร “ปรุงสด” มากขึ้น ท่ามกลางกระแสต้านอาหารแช่แข็งสำเร็จรูป

 

ผู้ผลิตหุ่นยนต์จึงพัฒนาให้เครื่องฉลาดขึ้น เช่น ชั่งน้ำหนักแม่นยำระดับกรัม และควบคุมความร้อนตามสูตรพ่อครัวมืออาชีพ เป้าหมายคือการจำลอง “รสมือ” และกระจายสูตรสู่ทุกสาขาในคลิกเดียว
 

เบื้องหลังความสำเร็จ "China 2025"

 

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีน อยู่ภายใต้นโยบาย “Made in China 2025” โดยเน้นการยกระดับภาคการผลิตผ่านมาตรการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา การคลังและภาษี รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็น 1 ใน 10 อุตสากรรมที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเช่นกัน 

 

รัฐบาลสนับสนุนทั้งเงินกองทุน วิจัย-พัฒนา (R&D) และลดหย่อนภาษี รวมถึงทุนจากท้องถิ่นระดับเมืองหลายพันล้านหยวน ทั้งยังมีการตั้งกองทุนพิเศษด้าน AI และหุ่นยนต์

 

จีนมีฐานการผลิตกระจายหลายมณฑล

 

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวในรายการ Thinkingradio ว่า ฐานการผลิตในจีน ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แห่งเดียว แต่กระจายไปหลายมณฑล ตั้งแต่เขตเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกขยายไปสู่ภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะ มณฑลเจียงซู ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน และในปี 2025 นี้ยังคงรักษาตำแหน่งความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองไว้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การลงทุนในนวัตกรรม และการส่งเสริมธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งในด้านการผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาหุ่นยนต์และ AI ที่ก้าวล้ำ และคาดว่าจะขึ้นแท่นมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดของจีนในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แซงหน้ากวางตุ้ง

 

โรงงานอัจฉริยะ-หุ่นยนต์ AI เปลี่ยนโฉมจีน

 

ดร.ไพจิตรเล่าว่า โรงงานในจีนยุคใหม่ได้กลายเป็น Smart Factory อย่างแท้จริง ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิตเต็มรูปแบบ ภายในโรงงานบางแห่งแทบไม่เห็นพนักงานเดินหรือรถรางวิ่ง เพราะมี รถขนส่งไร้คนขับ (AGV) วิ่งอยู่ตลอดเวลา โรงงานเงียบสะอาด ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

หุ่นยนต์ในยุคปัจจุบันยังสามารถทำงานในที่มืดได้ ไม่ต้องใช้แสงสว่าง แต่อาศัยความแม่นยำที่ควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ ผลิตสินค้าด้วยคุณภาพสูง ลดต้นทุน และรองรับการผลิตในปริมาณมาก

 

ในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าตลาดหุ่นยนต์ของจีนจะเติบโตมากกว่า 100 เท่าจากปีก่อนหน้า จากมูลค่ากว่า 7,000 ล้านหยวน (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา สู่กว่า 700,000 ล้านหยวน (ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท) สะท้อนถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคการผลิตที่กำลังปรับเข้าสู่ระบบอัตโนมัติแทบทั้งหมด

 

“หุ่นยนต์ไม่ได้อยู่แค่ในโรงงาน แต่เริ่มแทรกซึมไปทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่ร้านอาหาร บาร์ ไปจนถึงงานโชว์ หุ่นยนต์สามารถแสดงร่วมกับคนได้แล้วด้วยซ้ำ” ดร.ไพจิตรกล่าว

 

“Team China” ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน

 

ดร.ไพจิตร กล่าวอีกว่า ผู้นำจีนอย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมภาคเอกชนให้เติบโตควบคู่ไปกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญ โจทย์ของจีนคือการผนึกสองภาคส่วนให้กลายเป็น "Team China" โดยเห็นได้ชัดแม้แต่จากป้ายโฆษณาตามเมืองต่าง ๆ ที่มักจะมีคำว่าทีมไชน่า ปรากฏอยู่

 

บทเรียนสำหรับไทย: ปรับตัวเพื่อแข่งขันในเวทีโลก

 

ดร.ไพจิตรเสนอว่า ในขณะที่ไทยกำลังผลักดัน 12 New S-Curve ควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีศักยภาพในการดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุน พร้อมทั้งยกระดับโรงงานไทยสู่ “โรงงานอัจฉริยะ” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

“เราต้องปรับสายการผลิตเดิม แม้จะรักของเก่าแค่ไหนก็ตาม เพราะการแข่งขันในโลกยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ถ้าเรายังผลิตต้นทุนแพง คุณภาพไม่ได้ และแบรนด์ไม่แข็ง เราก็จะช้า” เขากล่าว

 

จีนพึ่งเปิดประเทศ 40 ปี ในช่วงที่เขายังไม่เปิดเขาตามหลังไทย จากประเทศที่เต็มไปด้วยแรงงานไร้ฝีมือ พัฒนาสู่แรงงานฝีมือ และก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวหน้า และยิ่งจะล้ำไปอีก จะเห็นว่าเป็นการเติบโตอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไทยควรยกระดับการพัฒนาเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันสานต่อ

 

ส่วนโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ดร.ไพจิตรมองว่า ต้นทุนในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก เพราะมี “Economy of Scale” ช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยน Business Model ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย

 

“ถ้าเราวางรากฐานตั้งแต่วันนี้ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ พร้อมส่งต่อเทคโนโลยีมายังผู้ประกอบการไทย โครงสร้างการผลิตในบ้านเราก็จะเปลี่ยน และแข่งขันในระดับโลกได้มากขึ้นในระยะยาว” ดร.ไพจิตรสรุป

 

 

Source : https://www.businessinsider.com/america-losing-robot-war-china-trump-tariffs-musk-ai-2025-4

https://www.youtube.com/watch?v=1PpT6I0DjAY&t=23s

Jeenthai Business Inside

ข่าวล่าสุด

ภูมิใจไทยงัดข้อเพื่อไทย เก้าอี้มหาดไทยเดือด รัฐบาลสั่นคลอน!