3 กูรู เผยเคล็ดลับปลดล็อกศักยภาพการเกษตรไทยด้วยโซลูชันอัจฉริยะ
การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแก่เกษตรกรไทย ช่วยอุตสาหกรรมทางการเกษตรของไทยสร้างผลผลิตและสินค้าที่ยั่งยืน ผุดโอกาสสำคัญเปลี่ยนประเทศไทย สู่ผู้นำด้านนวัตกรรมเกษตร
นวัตกรรมด้านการเกษตรที่ยั่งยืนคือกุญแจสำคัญในการปลดล็อก ศักยภาพ ของเกษตรกรไทย สู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเกษตรในระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนต่างเห็นพ้องกันว่า การขยายโอกาสในการเข้าถึงโซลูชันด้านการเกษตรอัจฉริยะจะเป็นเครื่องมือสำคัญสู่การพัฒนาสินค้าทางการเกษตรที่ยั่งยืน ในอนาคต
นอกจากนี้ การสนับสนุนเกษตรกรไทยที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างงานสำหรับเกษตรกรไทยในอนาคต ให้มีการเพิ่มผลผลิตที่ดีเยี่ยม และมีโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้สูงขึ้น
รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกด้านการส่งออกสินค้าเกษตรเพราะสินค้าทางการเกษตรของไทยอย่างข้าวและทุเรียนกำลังประสบปัญหาด้านการแข่งขัน กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน มาเลเซีย และเวียดนาม สูงมาก รวมทั้งการวางแผนในเรื่องระบบการผลิต ทางการเกษตร อย่างยั่งยืนที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมเตรียมแผนรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ ศุภวรรณ ตันตยานนท์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชแห่งประเทศไทย (TCPA) ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาคการเกษตรของไทยต้องเร่งเปลี่ยนแปลงไปสู่นวัตกรรมทางการเกษตรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของไทยซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศและใช้แรงงานกว่า 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ กลับสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเพียง 8% ของ GDP เท่านั้น
แม้จะมีศักยภาพมหาศาล แต่ภาคส่วนนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำกัด นอกจากนี้ความรู้ด้านการเกษตรที่ยั่งยืนของเกษตรกรไทยยังมีจำกัด รวมทั้งต้นทุนเริ่มต้นที่สูงสำหรับการใช้งานโซลูชันอัจฉริยะ
จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 พบว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเครื่องมือทางการเกษตรกรรมที่ล้าสมัย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้ซ้ำเติมปัญหามากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าการเกษตร สำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่การเกษตรที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งผลักดันให้ทันกับยุคสมัยและสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน
มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม NIA
มณฑา กล่าวว่า การปฏิวัติการเกษตร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นไปได้ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลง 5 ด้านหลักที่สำคัญ ได้แก่
ด้านเทคโนโลยี เพื่อการเปลี่ยนจากการเกษตรที่ใช้แรงงานหนักมาเป็นการเกษตรอัตโนมัติ
ด้านเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนจากการพึ่งพาคนกลางมาเป็นการสร้างรายได้โดยตรงจากการเกษตร
ด้านตลาด หมายถึง การเปลี่ยนจากตลาดที่ถูกควบคุมโดยคนกลางมาเป็นตลาดเสรี
ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากการเกษตรที่สร้างขยะมาเป็นการเกษตรที่ลดการสูญเสีย
ด้านการกำหนดตำแหน่งผู้นำ โดยวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเกษตรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่
การก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเกษตรที่มุ่งเน้นนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น การเชื่อมต่อเกษตรกรเข้าด้วยกัน จะช่วยให้การนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลายและส่งเสริมการเติบโตร่วมกัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (2560–2579) โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อปรับปรุงการวางแผนการเกษตร โครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการ พัฒนาเกษตรกรอัจฉริยะ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยังได้พัฒนาเกษตรกรกว่า 29,000 คนทั่วประเทศ ด้วยเทคนิคการทำเกษตรอัจฉริยะ และช่วยลดต้นทุนผ่านการใช้ปุ๋ยชีวภาพ
ศุภวรรณ ตันตยานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศุภวรรณ กล่าวว่า การเปลี่ยนมาใช้สารเคมีเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยปรับตัวสู่การปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาสารเคมีที่เป็นอันตราย ขณะที่ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข แต่ยังสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ของภาคการเกษตรของไทย
ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดความสำเร็จ รัฐบาลได้วางแผนใช้เทคโนโลยีการเกษตรแบบแม่นยำเพื่อเพิ่มผลผลิต และความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ความต้องการอาหารที่ผลิตอย่างยั่งยืนในตลาดส่งออกสำคัญ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกาเหนือ กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ผลิตภัณฑ์ ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชแห่งประเทศไทย (TCPA)
ขณะที่สมศักดิ์ กล่าวว่า ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือ การทำให้ กระบวนการเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายขึ้น พร้อมทั้งเสนอการสนับสนุนเฉพาะทาง และปรับปรุง การเข้าถึงโซลูชัน ที่ทันสมัยและยั่งยืนสำหรับเกษตรกร โดยมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสนับสนุนจากภาครัฐที่แข็งแกร่ง
ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเกษตรกรไทยในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้เกิดโซลูชันที่ชาญฉลาด และยั่งยืนสำหรับพืชผลที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของโลก
ด้วยการแข่งขันที่สูงจากประเทศเพื่อนบ้าน ผู้เชี่ยวชาญมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปรับใช้ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน และลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ระบุว่า เทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นกุญแจสำคัญในภาคส่วนนี้ ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพด้านเกษตรกรรมกว่า 80 ราย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท
ดังนั้นจึงยังมีศักยภาพอย่างมากในการสร้างความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรมและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมพลังให้เกษตรกร สามารถขยายการเติบโตให้ดียิ่งขึ้น การคว้าโอกาสนี้ต้องการการลงมืออย่างรวดเร็ว และการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมเกษตรที่ยั่งยืน