posttoday

ครม.เศรษฐกิจ สั่งออมสิน ปล่อยกู้ซอฟต์โลน 1 แสนล้าน ช่วย SME

10 มิถุนายน 2567

ครม.เศรษฐกิจ ปักธง หนุนท่องเที่ยว-เบิกจ่ายงบรัฐ-ดึงลงทุนตปท. ดัน GDP ไทย ปี 2567 โต3% พร้อมสั่งออมสิน ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1 แสนล้าน ปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินในอัตรา 0.1% ช่วยเสริมสภาพคล่อง SME ไทย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ประชุมเห็นว่า เพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต้องมีมาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยให้ GDP ของไทยในปี 2567 ขยับขึ้นไปแตะ 3% ต่อปี จากคาดการณ์ทั้งปีอยู่ที่ 2.4% โดยผ่านการผลักดัน 3 แรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 

 

1.มาตรการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยดึงเอานักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ประเทศไทยเพิ่มเติมอีก 1 ล้านคน จากเดิมที่ได้มีการตั้งเป้าว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้อยู่ที่ 35.7 ล้านคน ตั้งเป้าเป็น 36.7 ล้านคน  ซึ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มในจำนวนนี้จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้อีกประมาณ 0.12%

 

2.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่มีอยู่ประมาณ 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในการลงทุนในปี 2567 และคิดเป็นสัดส่วน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันงบประมาณในส่วนนี้เบิกจ่ายไปได้แล้วประมาณ 41% และปกติจะเบิกจ่ายได้ประมาณ 60% ของเป้าหมาย แต่ในปีงบประมาณนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีก 0.24%

 

 3.การเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีการขอบีโอไอไปแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท หากสามารถจะเร่งรัดให้มีการลงทุนจริงในปีนี้ ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ก็จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวได้อีกประมาณ 0.14 – 0.15%

 

สำหรับ การแก้ปัญหาของหนี้เสียและ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มีแนวคิดที่จะปรับให้ลูกหนี้ที่เป็น NPL เนื่องจากผลกระทบจากโควิด ซึ่งเป็นลูกหนี้ รหัส 21 ใช้เกณฑ์ติดเครดิตบูโรใหม่ จาก 5 ปี บวก 3 รวม 8 ปี ปรับให้ลดลงเหลือ 3 ปี บวก 3 ปี ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้หลุดจากบัญชีเครดิตบูโรได้ภายใน 1 – 2 ปีนี้

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ธนาคารออมสิน ออกมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ปล่อยซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยให้สถาบันการเงินในอัตรา 0.1% เพื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่ยังไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อ ดอกเบี้ย 1-3 ปีแรกไม่เกิน 3.5% ซึ่งยอมรับว่า อาจกระทบกับกำไรของธนาคารออมสินบ้าง แต่ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการ ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมที่จะรับไปดำเนินการแม้จะกระทบผลกำไรเฉลี่ยปีละ 1 พันล้านบาท แต่สามารถช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมทั้งเตรียมเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ  Portfolio Guarantee Scheme (PGS11) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาพรุ่งนี้(11 มิ.ย.67) โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือบสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 

 

โดยก่อนหน้า นาย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ระบุว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ของธุรกิจขนาดใหญ่ (เกิน 500 ล้านบาท) มีอัตราขยายตัว 3.3% แต่สินเชื่อที่มีวงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาท กลับหดตัว -5.1% โดยระดับเงินกองทุน (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.1% ระดับสภาพคล่อง Liquidity Coverage Ratio อยู่ที่ 202.5% และระดับ NPL coverage ratio อยู่ที่ 176.1% สะท้อนภาวะธนาคารมีเสถียรภาพมาก แต่เลือกปล่อยสินเชื่อเฉพาะธุรกิจใหญ่ แต่ SME กลับถูกจำกัดสินเชื่อ เพราะธนาคารไม่อยากรับความเสี่ยง ภาวะนี้ทำให้ SMEs ขาดน้ำหล่อเลี้ยง จนต้องปิดตัว ชะลอการผลิต หยุดการจ้างงาน กระทบเศรษฐกิจภาพรวม

 

กระทรวงการคลัง ต้องการต่อสู้กับภาวะนี้ ต้องการช่วยเหลือ SMEs โดยเตรียมมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 เพื่อสร้างหลักประกันให้ธนาคารในการปล่อยสินเชื่อและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโดยด่วน กลไกนี้จะลดความเสี่ยงและเพิ่มหลักประกันให้กับ SMEs ในการประเมินของธนาคาร และช่วย SMEs ที่ไม่มีหลักประกันหรือมีไม่เพียงพอ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ทันที

 

มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 นี้มีวงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค้ำประกันตลอดโครงการไม่เกิน 30% และเน้นให้ความสำคัญในการค้ำประกัน SMEs รายใหม่ เป็นลำดับแรก เพื่อกระจายการเข้าถึงสินเชื่อ

 

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ยืนยันว่า เกิดขึ้นแน่นอน แต่ต้องดูที่วัตถุประสงค์ด้วย โดยต้องการให้ประชาชนได้ลงทุนให้หุ้นที่ดี และต้องสามารถออมเงินได้ ส่วนรายละเอียดโครงการขอให้ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ทำงานร่วมกับกรมสรรพากร และต้องหารือกับสภาตลาดทุนไทย เพื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ วงเงินเท่าไหร่ รูปแบบที่จะทำ ระยะเวลาที่จะดำเนินการ