posttoday

หวั่นเสียแชมป์ส่งออกทุเรียน เวียดนาม แนะ เกษตรกรไทย ใช้คุณภาพสู้ราคา

26 พฤษภาคม 2567

อัทธ์ นักวิชาการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่งสัญญาณเตือน เกษตรกรทุเรียนไทย ปรับตัว หลังเจอปัญหาสารพัด ต้นทุน ราคา ภัยแล้ง หวั่นเสียแชมป์การส่งออกให้ เวียดนาม ได้เปรียบต้นทุนขนส่ง ราคา จับตา 3ปีข้างหน้า แข่งขันดุเดือด เวียดนามมาแรง ขณะที่จีน เริ่มปลูกทุเรียนได้เอง

จากข้อมูลสถิติการส่งออกทุเรียนของกรมศุลกากร พบว่า ในปี 2567 (ม.ค. - มี.ค.) ไทยส่งออกทุเรียนและผลิตภัณฑ์ปริมาณ 39,714.86 ตัน มูลค่า 8,380.03 ล้านบาท เป็นทุเรียนสดแช่เย็นปริมาณ 28,989.63 ตัน มูลค่า 5,785.99 ล้านบาท ส่งออกไปจีน หรือ  96.65% กัมพูชา  2.20%  และสหรัฐอเมริกา  0.34% ของมูลค่าการส่งออก  และทุเรียนแช่แข็งปริมาณ 10,502.07 ตัน มูลค่า 2,398 ล้านบาท มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 11.53 %  และ  41.13 %  ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยส่งออกไปจีน  95.95%  แคนาดา  1.17% และออสเตรเลีย 1.10%  ของมูลค่าการส่งออก

ข้อมูลจากเว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่รายงานโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองชิงตาว ประเทศจีน ถึงสถานการณ์ทุเรียนในจีนส่วนหนึ่งว่า ในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ของจีน โดยมีมูลค่าถึง 6,699 ล้านดอลลาร์  เติบโต 66.16 %  จากปีก่อน มีปริมาณการนำเข้าถึง 1.42 ล้านตัน เติบโต  72.78 % จากปีก่อน โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเติบโตเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบจากปี 2563 โดยปริมาณนำเข้าจากคู่ค้าหลักได้แก่ ไทย 65.19% และเวียดนาม 34.55 %
 

ปัจจุบันทุเรียนในตลาดจีนพึ่งพาการนำเข้า แต่ด้วยความต้องการของตลาดจีนเป็นปริมาณมาก จีนได้เลือกมณฑลไห่หนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลยูนนาน และไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น เป็นแหล่งทดลองปลูกทุเรียน

โดยนำทุเรียนพันธุ์ดีมาจากมาเลเซียมาเพาะพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเมื่อปี 2561 มณฑลไห่หนานก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการปลูกถ่ายกิ่งต้นกล้าทุเรียน จนกระทั่งปี 2566 ทุเรียนเมืองซานย่าก็เข้าสู่ตลาดเป็นที่จับตามองของตลาด การเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานมีพื้นที่กว่า 30,000 หมู่ (12,500 ไร่) มีพื้นที่ติดผลทุเรียนในไห่หนานประมาณ 1,400 หมู่ (583.33 ไร่) มีปริมาณผลผลิต 50 ตัน ในปีนี้คาดว่าจะมีพื้นที่ติดผลทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 หมู่ (1,666.67 ไร่) ปริมาณผลผลิต 250 ตัน

โดยทุเรียนจีนที่เข้าสู่ตลาดมาจากเขตนิเวศวิทยาเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน เท่านั้น ซึ่งมีคุณภาพดี มีความได้เปรียบด้านการขนส่งสะดวก ใกล้แหล่งบริโภค สามารถรับประกันความสดและความสุก รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงของจีนที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ข้อเสียของมณฑลไห่หนานมีพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้งและฝนตกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิต
 

นอกเหนือจากที่สามารถปลูกทุเรียนได้แล้ว ยังพบว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ก็ส่งทุเรียนเข้ามาเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะเวียดนามที่กำลังมาแรง ทำให้ตลาดผู้บริโภคทุเรียนในจีนมีการแข่งขันสูง

แต่ที่คู่แข่งที่น่ากลัวของไทยก็คือ เวียดนาม ด้วยข้อได้เปรียบในหลายอย่าง ทั้งต้นทุนการส่งออกทุเรียนของเวียดนามมาถึงจีนที่ถูกกว่าไทย จึงจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา เมื่อเปรียบเทียบไทยกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวว่า ไตรมาสที่ 1ปี 67  เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ปริมาณผลผลิตทุเรียนในเวียดนามพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้น 200% ปี 2566 เวียดนามมีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตันเพิ่มจาก 2.7 แสนตัน (ปี 2557) มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ (6.8 แสนไร่) พื้นที่ปลูกทุเรียนเวียดนาม90 % ปลูกในจังหวัดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดดั๊กลัก (Dak Lak) คิดเป็น 21% ของผลผลิตทั้งหมด ตามด้วยจังหวัดเตียนซาง (Tien Giang)และเลิมด่ง (Lam Dong) เป็นต้น

ด้านต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยสูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า โดยปี 2566 ต้นทุนการผลิตทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาทต่อกก.ในปี 2567 ในขณะ ที่ต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อกก.ทุเรียนเวียดนามจะเป็นคู่แข่งสำคัญของทุเรียนไทยในอนาคต คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตใกล้เคียงกับทุเรียนไทย

ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ทุเรียนที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตาและนิ่งเฉยไม่ได้  เพราะตลาดจีนไม่เหมือนเช่นอดีตที่ไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด แต่ปัจจุบันคู่แข่งสำคัญคือ เวียดนาม ที่มีความความได้เปรียบไทยทั้งด้านต้นทุนการขนส่ง ด้านราคาที่ถูกกว่าทุเรียนไทย ถือเป็นแต้มต่อการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีน

ขณะที่ไทยเจอสารพัดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิต ภัยแล้ง ราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยผู้ส่งออกและเกษตรกรจะต้องเร่งปรับตัว จะอยู่แบบเดิมๆอาศัยกินบุญเก่าคงไม่ได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดจีน ไม่เพียงแค่คู่แข่งอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ แต่จีนเองก็พัฒนาและปลูกทุเรียนได้แล้ว สิ่งที่ไทยต้องทำคือ เน้นคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้ไทยยืนหนึ่งในตลาดจีน โดยเฉพาะผู้บริโภคจีนกระเป๋าหนัก ที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา