posttoday

ถอดรหัสธุรกิจ"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว" จากหลักแสน สู่ 5 พันล้าน

08 เมษายน 2567

"พันธ์รบ กำลา"จากนักสู้ สร้าง "ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว" สู่นักธุรกิจเจ้าของแฟรนไชส์ทั่วไทยกว่า 4,500 แห่ง พร้อมฝันใหญ่อีก 3 ปีกวาดรายได้ 4,000-5,000 ล้านบาท เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯจริงจัง ก้าวสู่เจ้าตลาดสตรีทฟู้ดส์เมืองไทยและต่างประเทศ

     "ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว" จากร้านรถเข็นริมทาง ขายชามละ 10 บาท 15 บาท จนขยับขยายแฟรนไชส์ทั่วไทยกว่า 4,500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ภายใต้ชื่อ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น (CHAIXI CORPORATION)” เพื่อเตรียมก้าวที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

     ปัจจุบัน "ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น" มีแบรนด์สตรีทฟู้ดในเครือรวม 7 แบรนด์ ทั้ง ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว, ชายสี่พลัส, ชายใหญ่ข้าวมันไก่, พันปีบะหมี่เป็ดย่าง, อาลีหมี่ฮาลาล, ไก่หมุนคุณพัน, ลูกชิ้นทอดโอ้มายก๊อด พร้อมขยาย "แบรนด์ชายสี่โกลด์" อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน รวมถึงเครื่องปรุงเพื่อจำหน่ายอีกกว่า 200 รายการ

ถอดรหัสธุรกิจ\"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว\" จากหลักแสน สู่ 5 พันล้าน

     "พันธ์รบ กำลา" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าว่า กว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างทุกวันนี้เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 30 ปี ความทรงจำวันแรกยังชัดเจนเข็นรถขายบะหมี่บริเวณแยกลำลูกกา ช่วง พ.ศ. 2535-2536 สมัยนั้นขายบะหมี่ชามธรรมดา ราคา 10 บาท พิเศษชามละ 15 บาท ขายได้คืนละ 6,000 บาท ขายเพียง 2 ปีได้เงินมา 7 แสนบาท แต่ทุกวันนี้ขายชามละ 50 บาทถือว่าเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว 

     แต่พอขายมาได้สักพักรู้สึกว่าเส้นบะหมี่ที่เขานำมาส่งเราคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน บางวันเส้นเหนียว บางวันเส้นขาด จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำเส้นบะหมี่ของตัวเอง ลงทุนซื้อเครื่องจักรราคา 230,000 บาทมาผลิตเส้นเอง ผลิตน้ำซุปเอง ในตอนนั้นผมชวนคนมาขาย คนทางบ้านก็ตามมาขายด้วย จาก 1 สาขา ขยายจนมี 210 สาขา ดังนั้นใน พ.ศ. 2537 แบรนด์รถเข็น "ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว" จึงถือกำเนิดขึ้น และทั้งหมดนี้คือ เส้นทางการขายของชายสี่

     นิยามจุดเด่นของเราคือ " ชายสี่ ดีที่เส้น เด่นที่ซุป " สะท้อนภาพความชื่นชอบจากนักกินได้ดีมาก

     ต่อมาใน พ.ศ. 2541 ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนหลังจากไปออกรายการ เกมแก้จน ของคุณปัญญา นิรันด์กุล มีคนที่ดูรายการติดต่อมาขอซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งสมัยนั้นผมยังไม่รู้จักคำนี้เลย แต่ท้ายที่สุดได้มีการพูดคุยจนสามารถ "ขายแฟรนไชส์" ได้

     "คนจะขายดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับมุมมองหรือทัศนคติของคนขาย อย่างตัวผมเองยกให้ "คนกินคือเจ้านาย คนขายคือลูกจ้าง" ดังนั้นคนที่เดินมาหาเรา เราต้องดูแลเทคแคร์ให้ดี เวลาเราทำบะหมี่ส่งให้เขาถ้าเราทำด้วยความใส่ใจ ใส่ละเอียดละออ วางหมูแดงให้ดูดี คนก็จะสัมผัสได้"

     ขณะที่ พ.ศ. 2543 เราจดทะเบียนจัดตั้ง "บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด" มีสำนักงานใหญ่อยู่คลองหก จ.ปทุมธานี และในพ.ศ. 2545 ขยายฐานปฏิบัติการสู่ภูมิภาค เพื่อรองรับการผลิต

     ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้า 7 แห่ง และในปีนี้ได้ลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่งในจังหวัดสงขลา นครราชสีมา และยโสธร เพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าและวัตถุดิบไปยังสาขาแฟรนไชส์ทั่วประเทศให้รวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอาหารมากขึ้น 

     จากนั้นใน พ.ศ. 2551 ขยายสาขาประเทศในแถบ AEC ทั้ง ประเทศลาว, กัมพูชา และเมียนมา ก่อนที่ในปี 2566 เราได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น" เพื่อเตรียมความพร้อมการเติบโต พร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ

     แต่..เส้นทางเข้าตลาดหุ้น ไม่ง่าย!!

    ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ "ชายสี่ฯ" ประกาศสร้างรายได้ 10,000 ล้านบาท และมีการพูดถึงแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งแต่ปี 2562 แต่ด้วยเจอวิกฤติโควิด-19 ทำให้แผนทุกอย่างต้องพับเก็บไว้ แต่เราไม่หยุดนิ่งมีการปรับกลยุทธ์ตลอดเพราะในวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ

     โดยใน พ.ศ. 2565 - 2566 เราเริ่มทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ปรับกลยุทธ์หลัก คือ 1.ประสิทธิภาพการผลิต 2.ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3.บริหารต้นทุน และ 4.ปรับโครงสร้างบริหารงาน ทั้ง 4 กลยุทธ์สร้างยอดขายและกำไรปีที่ผ่านมาโตก้าวกระโดด กำไรพุ่ง 121% จากปี 2565  

     แนวโน้มรายได้ พ.ศ. 2567 คาดเติบโต 20-25% แฟรนไชส์ 6,000 สาขา เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2566 ที่มีรายได้ 1,117 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 126.5 ล้านบาท 

     พ.ศ. 2565 รายได้ 1,078 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 57.3 ล้านบาท ส่วนปี 

     พ.ศ. 2564 รายได้ 944 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 64.8 ล้านบาท 

     พ.ศ. 2563 รายได้ 900 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 55.4 ล้านบาท

ถอดรหัสธุรกิจ\"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว\" จากหลักแสน สู่ 5 พันล้าน

     "จากเจ้าแห่งเส้น สู่ เจ้าแห่งสตรีทฟู้ดเมืองไทย"

     เราเดินหน้า 4 กลยุทธ์เพื่อผลักดัน "ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น" สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ข้อแรก คือ พัฒนามาตรฐานแฟรนไชส์ ผ่านการปรับปรุงระบบการบริหารแฟรนไชส์และการบริการทั้งหมดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์การผลิตและจัดส่งที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยในการเข้าถึงคู่ค้าและควบคุมคุณภาพแฟรนไชส์

     ข้อ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมตามความต้องการของตลาด โดยให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่าย ทั้งร้านอร่อยริมทาง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากแบรนด์สตรีทฟู้ดทั้ง 7 แบรนด์แล้ว เรายังมีสินค้าพร้อมทานที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ

     สุดท้าย ข้อ 3 พัฒนาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญเฉพาะทางเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน รวมถึงการการเข้าซื้อกิจการต่างๆที่มีศักยภาพ

ถอดรหัสธุรกิจ\"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว\" จากหลักแสน สู่ 5 พันล้าน

     ล่าสุดซื้อกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังเมืองกรุงเก่า “เสือร้องไห้” และแบรนด์เบเกอรี่ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว “บริกซ์” การซื้อกิจการครั้งนี้เรายังคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อให้เจ้าของแบรนด์ใช้ความเชี่ยวชาญของตนในการบริหารและพัฒนาแบรนด์ต่อได้ อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Cabalen Group กลุ่มธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อส่งมอบตำนานความอร่อยสู่สากล

     “เราให้ความสำคัญเรื่องรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน พร้อมเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ขึ้นเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนองค์กร ผ่านโปรแกรมพัฒนาบุคคลสู่ความสำเร็จ พร้อมจัดสวัสดิการพนักงานให้ทัดเทียมองค์กรชั้นนำ ชายสี่ฯ เชื่อมั่นว่าการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ผ่านกลยุทธ์หลักนี้ จะส่งเสริมและยกระดับให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์แถวหน้าในธุรกิจอาหารของไทยและเติบโตได้ไร้ขีดจำกัด”

ถอดรหัสธุรกิจ\"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว\" จากหลักแสน สู่ 5 พันล้าน

    ถามว่า...ทำไมจึงตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น ?

     "ผมขอพูดตามตรง ผมกลัวลูกจะฆ่ากันตาย นี่คือข้อแรกเลยกลัวจะเป็นตลาดเลือด และเราก็จับธุรกิจมาแบ่งครึ่งไม่ได้ ผมเลยต้องรีบนำเข้าตลาดฯ เพื่อจะให้ลูกไม่ต้องทะเลาะกัน อันที่สองคือต้องการสร้างความยั่งยืน ก้าวหน้า ต้องการพัฒนา ต้องการโตเร็วๆ ต้องการระดมทุนได้เงินมาสร้างความก้าวหน้าต่อไป นี่คือเหตุผลหลักในแผนการเข้าตลาดฯในครั้งนี้"

     อย่างไรก็ดี "ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น"อาจยังไม่ทันเข้าตลาดฯภายในปี 2567นี้ เพราะยังต้องมีจัดความแข็งแกร่งในทุกมิติ ขอเวลา 3 ปีในการเตรียมความพร้อม ซึ่งการเข้าตลาดฯเพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนใช้ในการขยายธุรกิจ สร้างโรงงานใหม่ เพื่อโอกาสเติบโตทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้รายได้จากต่างประเทศยังไม่มากนัก ปีนี้คาดรายได้โตเพียง 6-7% แต่ในอนาคตคาดรายได้ในต่างประเทศจะสามารถเติบโตได้ 20% 

ถอดรหัสธุรกิจ\"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว\" จากหลักแสน สู่ 5 พันล้าน

     การคุมคุณภาพและความท้าทายในอนาคต

     "การคุมคุณภาพและรสชาติให้เสถียรถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ต้องลงไปแก้ให้จบ ที่ผ่านมาผมลงพื้นที่ไปคุยกับร้านค้า เข้าไปดูก็พบว่าบางร้านมีมาตรฐานในใจของตัวเอง ใส่เส้นมากกว่ากำหนด ใส่เนื้อสัตว์ไม่ตรงตามมาตรฐานบ้าง ทำให้บางร้านได้กำไรน้อยลง แต่บางร้านกลับมีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งเราอาจต้องเข้าไปคุยกับร้านแฟรนไชส์เกี่ยวกับมาตรฐานมากขึ้น

     ถ้าสาขาไหนไม่ดี ไม่เหมือนชาวบ้าน เขาจะตายไปโดยธรรมชาติ ผู้บริโภคจะลงโทษสาขานั้นเอง การเข้าตลาดหุ้นจะช่วยแก้เรื่องนี้เพราะผมเชื่อว่า ยิ่งเรามีทุนมาก เราจะแก้ปัญหาได้มากเช่นกัน และในอนาคตที่แฟรนไชส์มีเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งเป้นความท้าทายที่เราต้องบริหารจัดการให้เร็วที่สุด"