posttoday

กระทรวงอุตสาหกรรมxซีพี ออลล์หนุนสนุนเอสเอ็มอีไทยขายของผ่านร้าน 7-eleven

05 เมษายน 2567

กระทรวงอุตสาหกรรมผสานซีพี ออลล์ เปิดโอกาสทางการตลาดส่งสินค้าสู่ 7-eleven ถึงมือผู้บริโภค ตั้งเป้ายกระดับสินค้านวัตกรรมเป็ยนสากล

นายณัฐพล รังสิต ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและการจัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ (Kick-off) ร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่

โดยระบุว่า การลงนาม MOU ในวันนี้ (5 เม.ย.67) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนเอสเอ็มอี เพื่อเริ่มต้นทำกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีส่วนสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างยิ่ง ทั้งก่อให้เกิดการจ้างงาน แหล่งอาชีพ แหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนในทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ของเอสอ็มอี สร้างงาน อาชีพ กระจายรายได้ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน

สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน โดยกระทรวงฯดำเนินการสนับสนุนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยหวังว่าจะช่วยสร้างโอกาสให้กับเอเอ็มอี ให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเมื่อผู้ประกอบการผลิตสินค้าแล้ว จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับผู้ซื้อ ซึ่งเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นร้านสะดวกซื้อที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมีสาขามากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มจึงมั่นใจว่าการลงนาม MOU ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล มีนโยบายมุ่งมั่นส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ใน 4 มิติ ก็คือ รายได้ การอยู่ร่วมกันกับชุมชน การลงตัวสอดคล้องกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นที่รักของชุมชน ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

โดยความร่วมมือครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และผู้ประกอบการรายย่อยรวมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งช่วยผลักดันให้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสร่วมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศส่งผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สร้างรายได้ สร้างโอกาส ให้แก่ผู้ประกอบการได้เติบโตและดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะการแข่งขันของตลาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมทั้งขยายไปยังหน่วยอื่น ๆ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตควบคู่กับการกินดีอยู่ดีของผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนอย่างยั่งยืน ในรอบนี้มีผู้ประกอบการที่ผ่านโครงการของ อก. ที่ได้รับโอกาสในการเชื่อมโยงกับเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 50 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

ด้าน นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า เซเว่น อีเลฟเว่น ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม SMEs มาโดยตลอด ตามนโยบาย “SMEs โตไกลไปด้วยกัน” ผ่านกลยุทธ์ 3 ให้ ประกอบด้วย1.ให้ช่องทางขาย 2.ให้ความรู้ และ 3.ให้การเชื่อมโยงเครือข่าย จึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ร่วมลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับ SMEs ในอนาคต

“การลงนามความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นภาคเอกชนกับ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะภาครัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าสนับสนุน ส่งเสริม SME อย่างจริงจังในทุกรูปแบบและทุกช่องทาง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเติบโตของทั้ง 2 หน่วยงานคือ ต้องการสร้างการเติบโตแบบองค์รวมทั้งในภาคของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับเอสเอ็มอีและระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในอนาคตให้พร้อมแข่งขันในระดับสากล

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน พัฒนา เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร เพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct)

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายและพันธกิจในการสร้างอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมของทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี เพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากรผ่านการดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดสัมมนา การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับสถานประกอบการและประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และร่วมมือกันดำเนินงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา (Feedback) ให้ความรู้เชิงวิชาการ เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และสร้างโอกาสทางการตลาดการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดกิจกรรมการทดสอบตลาด ตลอดจนกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้แก่บุคคลทั่วไปในชุมชนและสังคม