ยูโอบีปล่อยโครงการSIP 2024ผดันเอสเอ็มอีไทยเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว
รู้จักโครงการ SIP 2024 โดย ยูโอบี ฟินแล็บ ปั้นผู้ประกอบการกว่า 200 ราย ดันธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Sustainability Innovation หรือ โครงการ SIP ประจำปี 2024 จัดโดย ยูโอบี ฟินแล็บ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีไทยในทุกภาคอุตสาหกรรม ให้ประสบความสำเร็จในการนำความยั่งยืนมาสู่ธุรกิจ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่กว้างขวางของยูโอบี ฟินแล็บ (UOB FinLab) ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรจากภาครัฐ เอกชน ผู้ให้คำปรึกษา และ เอสเอ็มอี
สำหรับโครงการ SIP ประกอบด้วย 3 โมดูลหลัก ซึ่งจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), PwC ประเทศไทย,องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โครงการยั่งยืนนิยม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 และ 30 พฤษภาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ
โดยโครงการ SIP ประกอบด้วยเวิร์กชอปและมาสเตอร์คลาส ที่ออกแบบมาสำหรับเอสเอ็มอีไทย ที่ผ่านการคัดเลือกมากกว่า 200 ราย ซึ่ง ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการจะได้รับความรู้และข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านความยั่งยืน เครื่องมือวัดผล ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance - ESG) แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว
ทั้งนี้จากรายงาน UOB Business Outlook Study 2024 พบว่า การนำแนวทางปฏิบัติ ESG มาใช้ในประเทศไทยนับเป็น 1 ใน 5 ลำดับความสำคัญทางธุรกิจ ที่องค์กรให้ความสำคัญอย่างมากในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประมาณ 3 ใน 10 ระบุว่า จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในส่วนของการเชื่อมโยงกับองค์กรอื่น ๆ ในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงคำแนะนำสำหรับการปรับใช้มาตรฐาน ESG และแนวทางปฏิบัติในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
นายบัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่าปัญหาโลกร้อนส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน จากผลสำรวจ UOB Business Outlook Study พบว่าโดยทั่วไปแล้วองค์กรธุรกิจในไทยมองว่าการปรับใช้แนวทางความยั่งยืนคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กร (ร้อยละ 56) ช่วยดึงดูดนักลงทุน (ร้อยละ 50) และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ (ร้อยละ 42)
นอกจากนี้พบว่าเอสเอ็มอีตระหนักมากขึ้นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โดยโครงการ SIP รวบรวมพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนที่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มไทยในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อเริ่มต้นปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้เฉพาะทาง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถประเมินความพร้อมของธุรกิจตน สำหรับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยใช้เครื่องมือด้านความยั่งยืนของทางธนาคารที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยเครื่องมือนี้จะแนะนำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ
"เราอยากมีส่วนร่วมทำให้โลกดีขึ้นและปล่อยกู้อย่างมีคุณภาพ" นายบัลลังก์กล่าวถึงที่มาของการผลักดันโครงการ
ด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวว่า “ปัจจุบันความยั่งยืนกลายเป็นความจำเป็นของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ หลังนโยบายทั้งไทยและต่างประเทศมุ่งเป้าจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่ามีหลาย ๆ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero มากขึ้น แต่ไม่มีความรู้ที่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหน
ด้วยเหตุนี้ทาง TGO จะเข้ามาช่วย เสริมโครงการ SIP ในจุดนี้ได้ ด้วยการสนับสนุน SMEs ทั้งในเรื่องของแพลตฟอร์มการขอขึ้นทะเบียนกับ TGO ตลอดการให้คำปรึกษาและข้อแนะนำต่างๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถรุกตลาดคาร์บอนเครดิตต้องทำยังไง ทั้งเป็นหน่วยงานกลางให้ความรู้และช่วยในการประเมินก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ
ส่วนนายปิติพัฒน์ มงคลอริยนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคเอ็มพี คอร์ปอเรชัน ที่ทำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างแบบครบวงจรที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการภาครัฐและภาคเอกชนอย่างครบวงจรกล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการกับทาง UOB FinLab เราเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน นอกจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง ระบบปฏิบัติการหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังได้นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปปรับใช้ในธุรกิจและคู่ค้าของธุรกิจด้วย
"การขยายโครงการ SIP ในปีนี้ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม นับว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับสู่ความยั่งยืน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหน เพราะจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ความจำเป็น กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง การประเมินการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจ การทำโมเดลธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงโอกาสเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น"
นอกจากนี้ยูโอบี ฟินแล็บ ยังจัดทำโครงการสำหรับสตาร์ทอัพและบริษัทผู้ให้บริการโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือกรีนเทค ที่ชื่อว่า GreenTech Accelerator (GTA) 2024 ระยะเวลา 6 เดือนอีกด้วย โดยโครงการ GTA จะช่วยให้ผู้ให้บริการโซลูชันกลุ่มกรีนเทคได้พัฒนาโซลูชั่น เพื่อสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากเอสดอ็มอีในอาเซียน และกรีนเทคผู้ชนะจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการนำร่องในการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของยูโอบี ฟินแล็บ ในการขับเคลื่อนโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โครงการ GTA 2024 จะสนับสนุนเงินทุนสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับเทคโนโลยีสีเขียว หรือกรีนเทค (Greentech) เพื่อนำร่องนวัตกรรมโซลูชันที่เหมาะสมและสามารถนำไปใช้งานได้จริงสำหรับธุรกิจต่าง ๆ
"GTA จะเริ่มจากคัดเลือก 10 รายในประเทศก่อนแล้ว ส่งไปประกวดต่อที่สิงคโปร์ แล้วคัดผู้ชนะเหลือ 5 รายสุดท้าย"