posttoday

Tasted Better แป้งเสริมอาหารน้ำตาลต่ำ เจาะตลาดคนรักสุขภาพ

28 กุมภาพันธ์ 2567

Tasted Better แป้งเสริมอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำทดแทนแป้งสาลีในอัตรา 1:1 ชูจุดเด่นลดอัตราการปล่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต ปราศจากสารเคมี นวัตกรรมจากผู้หญิงยุคใหม่ ที่เปลี่ยนความหวานให้เป็นเรื่องดีต่อใจและสุขภาพ

หากพูดถึงเทรนด์การรับประทานของคนรักสุขภาพในปัจจุบัน เชื่อว่า “อาหารแพลนต์เบส” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยตลาดแพลนต์เบสของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด และใคร ๆ ก็มองเห็นโอกาสเติบโตนี้ รวมทั้ง “พีรดา ศุภรพันธ์” CEO & Co-Founder บริษัท เทสเต็ด เบ็ตเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ได้คิดค้นและพัฒนา Tasted Better แป้งเสริมอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำทดแทนแป้งสาลีในอัตรา 1:1 และช่วยลดอัตราการปล่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต ปราศจากสารเคมี ซึ่งกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์พร้อมทาน และผลิตภัณฑ์ผงที่มีความแตกต่างและล้ำหน้าที่สุดในตลาดปัจจุบันต้องผ่านการทดลองที่ควบคุมอย่างยิ่งยวดและทดสอบความเป็นไปได้กว่าร้อยแบบ เพื่อสร้างแป้งเสมือนขึ้นโดยยึดหลักอาหารถูกปากเป็นสำคัญ 

Tasted Better แป้งเสริมอาหารน้ำตาลต่ำ เจาะตลาดคนรักสุขภาพ

“Dancing with a Baker” เป็นขนมปังไร้แป้ง ไร้น้ำตาล ผลิตจาก Tasted Better แป้งเสริมอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำที่สุดในโลก หรือมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 25 เท่า ให้คาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าขนมปังทั่วไป 5 เท่า แต่ให้โปรตีนมากกว่า 4 เท่า และไฟเบอร์มากกว่า 7 เท่า ทั้งยังไม่มีส่วนผสมของนมและไข่ไก่ จึงเหมาะกับผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่รักสุขภาพ ผู้ที่ต้องควบคุมอาหารเป็นพิเศษที่เลี่ยงการบริโภคแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตนอกจากขนมปังแล้ว แบรนด์ Dancing with a Baker ยังใช้แป้ง Tasted Better เป็นวัตถุดิบแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ  เช่น ครัวซองต์ เค้กโรล และวาฟเฟิล 

พีรดา เล่าว่า เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีโอกาสเป็นผู้เสนอนโยบายให้แก่คณะรัฐมนตรีเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพของประเทศไทยในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งเกษตร อาหาร สุขภาพและความเป็นอยู่ รวมถึงอุตสาหกรรมหนัก ทำให้ได้ศึกษาและเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ประกอบกับปัจจุบันภาครัฐทั้งไทยและสากลให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น ถือเป็นเวลาที่เหมาะหากจะเริ่มทำธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งนวัตกรหญิงมีวิสัยทัศน์และเทคโนโลยีที่ช่วยเติมเต็มความต้องการและแก้ไขปัญหาของสังคมได้เช่นกัน ปัจจุบันมีการจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหลัก เพียงแค่ร้อยละ 1 ของธุรกรรมจากทั่วโลก ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจนน่าตกใจ ดังนั้น หากเราสามารถเพิ่มอัตราส่วนการจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของได้ ก็จะช่วยลดช่องว่างความเลื่อมล้ำทางสังคมลง และทำให้โลกเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกเชิงธุรกิจ 

สำหรับผู้หญิงที่สนใจอยากเริ่มดำเนินธุรกิจฐานนวัตกรรม อยากฝาก 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1. เสาะหาสิ่งที่ตนเองชอบ ปัญหาที่ต้องการแก้ไข และมีความมุ่งมั่นที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น 

2. ลึกซึ้ง ทำงานจนตนเองมั่นใจว่าเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และค้นหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น ไม่ใช่เพียงผิวเผินให้งานเสร็จ แต่ต้องเล็งผลสำเร็จเป็นที่ตั้ง 

3. ต่อยอด เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งได้เเล้ว เราจะพบปัญหาที่สอง สาม และสี่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทำงานต่อยอดไปอย่างไม่หยุดยั้ง แล้วความสำเร็จจะตามมา

เพราะผู้หญิงยุคใหม่เก่งและเป็นอะไรก็ได้มากกว่าที่เราคิด นับเป็นเรื่องที่ดีที่วันนี้ประเทศไทยและโลกเปิดพื้นที่ให้สตรีเข้ามามีบทบาทในโลกนวัตกรรมมากขึ้น