ธ.ก.ส.เล็ง เปิดแพลตฟอร์มขายสินค้าทั่วโลก ผ่าน บล็อกเชน เพิ่มรายได้เกษตรกร
จุลพันธ์ เผย ธ.ก.ส.เตรียมสร้างแพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตรไทย ดึงระบบบล็อกเชนขับเคลื่อน หนุนเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย สร้างระบบการแบ่งผลกำไร เป็นธรรมแก่เกษตรกร
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างการเตรียมสร้างแพลตฟอร์มขายสินค้าการเกษตร โดยขับเคลื่อนด้วยระบบบล็อกเชน (Block Chain) เพื่อให้การแบ่งผลกำไรระหว่างพ่อค้า กับเกษตรกรที่ผลิตผลผลิต มีความยุติธรรมมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าการเกษตร ส่งไปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก แต่ผลกำไรที่ได้ส่วนใหญ่อยู่กับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่บางครั้งเกษตรกรกลับขาดทุนจากการขายผลผลิต ฉะนั้น วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อค้าขายสินค้าการเกษตรของไทย ไปยังตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ จะสร้างระบบการแบ่งผลกำไร ( Profit Sharing) อย่างยุติธรรม ระหว่างคนที่เป็นผู้ผลิตสินค้าต้นทาง กับพ่อค้าคนสุดท้ายที่อยู่ปลายทาง ซึ่งหากระบบนี้ประสบความสำเร็จจะปิดประตูขาดทุนของเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตสินค้าต้นทาง เนื่องจากเราสามารถควบคุมการผลิตสินค้าได้
“สินค้าการเกษตรอย่างแรก ที่จะถูกนำเข้ามาทดลองค้าขายบนแพลตฟอร์มนี้ คือ กาแฟ ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก” นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ธกส.ได้ผลักดันโครงการสร้างสินค้าเกษตรไปสู่เกษตรมูลค่าสูง ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างความหลากหลายทาง ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดจนสามารถไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง
รวมถึงการสนับสนุนการผลิตเพื่อบริโภค ในท้องถิ่น(Local consumption) และการเข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ประสบความสำเร็จในวง กว้าง ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมสานต่อเจตนารมณ์ในการเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อไปสู่ การเป็นแกนกลางการเกษตร (Essence of Agriculture)
โดยสนับสนุนเกษตรกรในทุกด้าน ทั้งการผลิต รายได้ และ การขาย โดยเฉพาะการทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่างจากการทำงานในเมือง รวมถึงสามารถมองเห็นช่องทางและ โอกาสที่จะพัฒนาภาคเกษตรไทยให้ก้าวไปข้างหน้า
“ธ.ก.ส. ได้จัดตั้งสำนักกิจการระหว่างประเทศขึ้น เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในการยกระดับการประกอบอาชีพและการ พัฒนาต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรไทยไปสู่ระดับสากล ได้แก่การนำสินค้าเกษตรกรไทยไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรแห่งประเทศจีน (Agricultural Development Bank of China : ADBC) ในการจับคู่ธุรกิจการค้า”