posttoday

ทายาทรุ่นสองปั้นธุรกิจ"TEGH"โตยั่งยืน ปูทางอนาคตรุ่นสาม

11 กุมภาพันธ์ 2567

เปิดเส้นทาง "สินีนุช โกกนุทาภรณ์" ทายาทรุ่นสอง "ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH)" จากธุรกิจครอบครัว ก้าวสู่ฐานธุรกิจสุดแกร่ง สร้างการเติบโตก่อนส่งไม้ต่อรุ่นสามแบบยั่งยืน

ทายาทรุ่นสองปั้นธุรกิจ\"TEGH\"โตยั่งยืน ปูทางอนาคตรุ่นสาม      "เราตั้งใจสร้างบ้านหลังนี้ บริหารจัดการโรงงานแห่งนี้ให้ดีที่สุดเพื่อที่เราจะอยู่อาศัยที่นี่ต่อไปได้ และลูกหลานของเราสามารถอยู่บ้านหลังนี้ได้ในอนาคต นี่คือสิ่งที่คิดตอนที่รุ่นสองเริ่มทำธุรกิจกัน" 

     คุณนุช - สินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH บอกเล่าเรื่องราวธุรกิจในงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย : ในโลกความเปลี่ยนแปลง” 

     ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเด็กๆ ด้วยความที่คุณนุชมีพี่น้องรวม 4 คน ถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำตั้งแต่เด็ก ซึ่งนุชเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียวในบ้าน เวลาเข้าหอก็ต้องอยู่โรงเรียนประจำผู้หญิงเพียงคนเดียว ส่วนพี่ชายและน้องชายจะอยู่โรงเรียนประจำผู้ชายด้วยกัน ดังนั้นช่วงที่จะมาเจอกันครบหน้า 4 พี่น้องก็คือกลับบ้านช่วงปิดเทอม หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

     ในช่วงที่ได้อยู่บ้านนั้น ด้วยความที่ธุรกิจของเราโตมาจากการเป็นเกษตรกร ดังนั้นเวลาส่วนใหญ่ทางคุณพ่อจะพาเข้าไปในไร่มากกว่าอยู่เฉยๆ ซึ่งลูกๆจะเห็นพัฒนาการตั้งแต่การปลูกอ้อย ตัดอ้อย กระทั่งหันมาปลูกยาง ปลูกปาล์ม แล้วขยายมาทำโรงงาน เราเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่คุณพ่อทำมาตลอด คือ เตรียมทรัพยากรที่ดิน, เครดิตการเงินที่ดี เป็นต้น 

     หลังจากเรียนจบและได้เข้ามาทำธุรกิจเป็นรุ่นที่ 2 เราได้รับการยอมรับจากภาคธนาคารให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และจากคู่ค้าที่เป็นเกษตรกรให้ความมั่นใจ รวมถึงลูกค้าที่เห็นเราตั้งแต่เด็ก เพราะช่วงที่คุณพ่อทำงานจะพาลูกๆไปร่วมประชุม ไปนั่งฟังซึ่งทุกท่านจะเห็นเราตั้งแต่เรียนไม่จบ จนเราเรียนจบ และรับช่วงต่อธุรกิจของคุณพ่อ เราตั้งใจทำบ้านหลังนี้ บริหารจัดการโรงงานแห่งนี้ให้ดีที่สุดเพื่อที่เราจะอยู่อาศัยที่นี่ต่อไป และลูกหลานของเราก็จะอยากอยู่บ้านหลังนี้ได้ นี่คือสิ่งที่คิดตอนที่รุ่นสองเริ่มทำธุรกิจกัน

     ถามว่า ปัญหาที่เผชิญคืออะไรนั้น ต้องบอกว่าเราทำสินค้าเกษตร สิ่งที่เจอจะเริ่มตั้งแต่ทรัพยากร(Resources)ที่จำกัด ซึ่งทรัพยากรแรกที่สำคัญคือ "น้ำ" เพราะในช่วงที่คุณพ่อปลูกอ้อย ตอนนั้นเราไม่มีแหล่งน้ำ หรือ คำนวณในเรื่องอัตราการใช้น้ำ เราปลูกโดยใช้ฟ้าฝนเป็นหลัก ซึ่งในประเทศไทย รุ่นที่เราเกิดมาเราผ่าน "เอลนีโญ" (El Niño) มา 5 รอบในช่วงอายุเรา ซึ่งแต่ละรอบมันรุนแรงขึ้น ส่งผลให้บางครั้งผลผลิตที่ออกมา บางปีอ้อยคุณภาพดี บางปีที่น้ำน้อยอ้อยคุณภาพไม่ดี หรือในช่วงที่เราปลูกปาล์ม ปลูกยาง เรื่องน้ำฝนมีผลต่อการผลิต มีผลต่อคุณภาพ

     ปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" จะทำให้เกิดฝนตกหนัก ในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้ง อากาศร้อน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ส่วน "ลานีญา" เป็นปรากฏการณ์ขั้วตรงข้าม ง่ายๆคือจะเกิดความแห้งแล้ง ในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย" 

ทายาทรุ่นสองปั้นธุรกิจ\"TEGH\"โตยั่งยืน ปูทางอนาคตรุ่นสาม     ดังนั้นการจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องแรกที่เราให้ความสำคัญ แม้การลงทุนแหล่งน้ำจะไม่สามารถคำนวณเรื่องผลตอบแทน IRR ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน รู้เพียงแต่หากเราไม่มี "น้ำ" ธุรกิจเดินต่อไม่ได้ "น้ำ"คือสิ่งที่จำเป็นต้องมี พอธุรกิจได้ขยายจาก 1 โรงงาน ปัจจุบันมีมากกว่า 10 โรงงาน ดังนั้นแหล่งน้ำจึงเป็นอีกปัจจัยที่เราต้องลงทุนพัฒนาทุก 2-3 ปี 

     แต่พอพัฒนาถึงระดับหนึ่ง พบว่าหากยังใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นแม้เราจะมีแหล่งน้ำมากแค่ไหนก็ไม่พอ จึงกลับมาคิดทบทวนว่าถ้าสมมุติว่าน้ำไม่พอจะต้องทำอย่างไร สามารถรีไซเคิล หรือ รียูส อย่างไร

     ซึ่งธุรกิจของ TEGH มีทั้ง ธุรกิจยาง, ปาล์ม เรามีธุรกิจอยู่ในซัพพลายเชนของเราหลายธุรกิจ และทรัพยากรของเรา หรือของเสีย(Waste)ของโรงงานหนึ่งสามารถใช้เป็นรีซอร์สของอีกโรงงานหนึ่งได้ ที่สำคัญบางกระบวนการไม่จำเป็นต้องใช้น้ำใหม่ สามารถใช้น้ำรียูสได้ 

ทายาทรุ่นสองปั้นธุรกิจ\"TEGH\"โตยั่งยืน ปูทางอนาคตรุ่นสาม      จึงเกิดโมเดล "แชร์ริ่งทรัพยากรร่วมกัน" เป็นลักษณะของการต่อโมเดล แต่ละปัญหาแต่ละช่วงเวลาที่เราเจอมันเลยเป็นแนวคิดว่าทำอย่างไรให้พอกับการเติบโต พอกับการใช้ และใช้อย่างเพียงพอ นั่นคือสิ่งที่ TEGH ทำมากว่า 20 ปี

     "สิ่งที่คิดคือ ตอนนี้เราอยู่รุ่นสอง แล้วเราจะต้องส่งต่อกระดาษและปากกาตรงนี้ให้กับรุ่นที่สามอย่างไร มันเหมือนกับเราต้องเตรียมทรัพยากรต่างๆให้เพียงพอ พอทำเรื่องน้ำเสร็จ เราก็มาทำเรื่องพลังงาน พอพลังงานเสร็จเราก็มาทำเรื่องการจัดการเรื่องของเสียในโรงงาน เราทำสังคมให้เป็น Zero Waste เราเอา Waste to Value การสร้างคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ , Waste to Energy การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

     และ การเอา Waste มา Sculation เพราะฉะนั้นนี่คือ Ecosystem ที่เรามองว่าจะเป็นทรัพยากรที่มันมากกว่างบดุล (Balance Sheet) มันอาจจะไม่ได้อยู่ในงบดุล มันไม่ได้โผล่มาในเรื่องของตัวเงิน แต่มันเป็น Balance Sheet ที่จะส่งต่อให้กับรุ่นถัดไป"

ทายาทรุ่นสองปั้นธุรกิจ\"TEGH\"โตยั่งยืน ปูทางอนาคตรุ่นสาม

     การทำงานร่วมกับพี่น้องทั้ง 4 คน ร่วมกับสะไภ้ อีก 3 คนที่เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวตรงนี้ พร้อมกับพนักงานกว่า 1,000 คน สิ่งที่เรายึดถือคือ "ความเป็นมืออาชีพ" การตรงต่อเวลา นัดประชุมต้องตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบแบบโพรเฟสชันนอล เพราะถ้าเราใช้ข้ออ้างการเป็นครอบครัว แล้วเข้าประชุมช้า หรือ ไม่ทำอะไรจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ดังนั้นเราจะพูดคุยกันเรื่องนี้ นอกจากนี้ต้องดูแลเอาใจใส่พนักงานเหมือนครอบครัว สร้างที่พักให้ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวอย่างเท่าเทียม

     "การดึงสะไภ้ทั้ง 3 คนมาทำงานด้วยกัน เราก็จะให้อำนาจในการตัดสินใจภายใต้ JD ของตัวเอง และวัดผลงาน พอทุกคนทำงานในทิศทางเดียวกันและเคารพการตัดสินใจในเรื่องงาน ส่วนเรื่องครอบครัวค่อยคุยกันหลังเลิกงาน เป็นต้น"

      โจทย์สำคัญที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวสามารถต่อยอดและสร้างความยั่งยืนได้ นั่นก็คือ ช่วงที่เราเริ่มร่างรัฐธรรมนูญครอบครัว คุณพ่อคุณแม่จะพูดตรงกันว่า "อยากให้พี่น้องรักกัน" นี่คือสิ่งที่รุ่น 1 หรือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจอยากเห็นลูกๆเติบโตและรักกัน ซึ่งในฐานะรุ่นที่ 2 เราเห็นเจตนารมณ์ เวลาที่เราทำอะไร พอเป็น Family Business เราดูในเรื่องของความเสี่ยง และทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถยืนยาวและยั่งยืนได้ 

     ดังนั้นสิ่งที่ทำคือควรจะต้องเริ่มตั้งแต่การจัดทำ Structure และควรทำตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มีปัญหาอะไร เช่น ตั้งแต่ช่วงแรกที่เราช่วยกันก่อร่างสร้างธุรกิจ คุณพ่อจัดสรรแบ่งที่ดินให้ทุกคนไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเราช่วยกันทำ หรือ เราอยู่ในช่วงของการปั้นธุรกิจถือเป็นจังหวะที่ดีในการทำ 

     ธุรกิจครอบครัว มี 2 มิติ คือ มิติแรก พอธุรกิจใหญ่โตขึ้น ต้องใช้วงเงินเยอะขึ้นในการพึ่งพาวงเงินแหล่งเดียวจากธนาคารอาจจะทำให้ธุรกิจถูกจำกัด เพราะฉะนั้นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯช่วยให้เรามีช่องทางการเงินในการขยายการเติบโตได้ ส่วนมิติที่ 2 คือ ครอบครัวมีความสุขมาก เพราะก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เราไม่เคยจ่ายปันผล เพราะเงินปันผลจะนำไปลงทุนต่อยอดธุรกิจ พอเข้าตลาดเรามีนโยบายปันผล 40% เราก็ได้ปันผลด้วย 

     สิ่งสุดท้ายที่ครอบครัวเราทำคือ เรามีความคิดอย่างหนึ่งว่าเวลาเราเตรียมอะไรให้กับใคร หรือ คนในครอบครัวคือให้เพื่อให้เขาไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ให้เพื่อให้เขาไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง อันนี้คือสิ่งที่เราทำ คือเราสร้าง Wealth เราสร้างและพัฒนาคน เราให้ทุนกับการเรียนการศึกษาการให้ประสบการณ์ เราให้เพื่อให้เขานำไปพัฒนา แต่เราไม่ได้ให้ Asset หรือให้อะไรเพื่อที่จะให้เขาอยู่เฉยๆ นี่คือสิ่งที่ทางครอบครัวเราวางเป็นกติกา 

     "นุชค่อนข้างโชคดี ตอนที่กลับมาช่วยงานเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี ข้อดีคือเราอยากทำตลาดส่งออก ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนทำให้น่าสนใจและได้พรีเมี่ยมที่ดีจากการส่งออก ตอนที่กลับมาทำตอนนั้นคุณพ่อให้โอกาสเราเต็มที่ เพราะเราเรียนจบมา ภาษาเราได้ เราสามารถสื่อสารได้ พอเราเปิดตลาดส่งออก เราเริ่มเห็นแล้วว่าลูกค้าต้องการมาตรฐาน เราจึงเริ่มวางระบบมาตรฐานช่วยลดความขัดแย้งได้

     แต่กรณีที่มีข้อขัดแย้งกันจริงๆ ทางนุชกับพี่ชายจะเข้าไปคุยกับคุณพ่อ เพราะช่วงแรกน้องชาย 2 คนยังไม่กลับมาช่วยงาน แต่ Conflict ของเรามักจะไม่ค่อยมีอะไรที่รุนแรง มักเป็น Conflict ทางความคิด หรือ โมเดลที่ต้องลงทุน เพราะงั้นถ้าเป็น Conflict แบบนี้ เราจะใช้หลักการคำนวณ พิสูจน์ด้วยตัวเลข โชว์ให้คุณพ่อดู อธิบายให้ท่านฟังมากกว่า"

ทายาทรุ่นสองปั้นธุรกิจ\"TEGH\"โตยั่งยืน ปูทางอนาคตรุ่นสาม