posttoday

ดอยตุงฉีกกฎใหม่ผ้าทอมือไทยยกระดับแฟชั่นงานคราฟต์เพื่อคนรุ่นใหม่

16 มกราคม 2567

ดอยตุง (DoiTung) ชูนิยามใหม่ของผ้าทอมือไทย ยกระดับแฟชั่นงานคราฟต์เพื่อคนรุ่นใหม่ ผ่านไลน์เสื้อผ้า Everyday ตอกย้ำจุดยืนและความตั้งใจพลิกมุมมองและพฤติกรรมของผู้บริโภค

สินค้าแบรนด์ดอยตุงในหมวดเสื้อผ้าและหัตถกรรม มีบทบาทในการผลักดันอุตสาหกรรมผ้าทอไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งภายในประเทศและทั่วทุกมุมโลก พร้อมกันกับที่แบรนด์มุ่งเป็น “An Enterprise For A Better World” หรือธุรกิจที่ทำให้โลกดีขึ้น ด้วยโจทย์ตั้งต้นง่าย ๆ ว่า “ชาวบ้านได้อะไร สังคมได้อะไร และสิ่งแวดล้อมได้อะไร”

ทั้งนี้นอกเหนือจากการฝึกฝนทักษะอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนชาวเขาแล้ว ดอยตุงยังตั้งปณิธานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ในทุกกระบวนการ ในฐานะแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม โดยยึดหลักการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมจำกัดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด และใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าเพื่อไม่ให้มีส่วนใดเหลือทิ้ง (Zero Waste) ด้วยวิธีการลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การซ่อมแซม (Repair) การแปรรูปนำมาใช้ใหม่ (Recycle) ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ (Upcycle) 

อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่ผ้าทอมือเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่และวิถีชีวิตของชุมชนที่ดอยตุงได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาหลายชั่วอายุคน วันนี้ ดอยตุงเริ่มขับเคลื่อนการเติบโตของแบรนด์ไปสู่อีกขั้น และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ ล่าสุดจับมือกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่เพื่อปรับปรุงเทคนิคในการผลิตและพัฒนาเส้นใยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งบูรณาการ Creative Design การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์

 

โดยถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เรื่องราวของผู้คน และวัฒนธรรมอันหลากหลายแห่งชนเผ่า เข้าไปผสมกับความคลาสสิกดั้งเดิมตามธรรมชาติของผ้าทอมือ จนออกมาเป็นวัสดุผ้าทอมือที่มีความร่วมสมัย และในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นงานแฮนด์เมดจากช่างฝีมือ นับตั้งแต่การเลือกเส้นด้ายเพื่อให้ได้วัสดุที่บางเบา สวมใส่สบาย ไปจนถึงการย้อมสี การถักทอไล่เฉดสีและลวดลายให้สวยงาม นอกจากนี้ยังทำ Collaboration ร่วมกับแบรนด์ R2R ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมจากฟิลิปปินส์ ในการรังสรรค์กระเป๋า Multi-way Bag ทั้งหมด 5 ดีไซน์ ใช้ได้อเนกประสงค์ และสะท้อนถึงการสืบสานทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ