นักวิชาการแนะเสริม "สิทธิการซ่อม" ดัน BCG รับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อม
นักวิชาการแนะไทยเสริมสิทธิในการซ่อม ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) รับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยกำลังพิจารณากฎหมาย "Lemon Law" เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมสิทธิในการซ่อมแซม (Right to Repair - R2R) เป็นแนวทางที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียน
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ "Lemon Law" ของประเทศไทย กำลังรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร
กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง โดยกำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดชอบในการซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้า ลดราคา หรือคืนเงิน
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า กฎหมายดังกล่าวยังขาดมิติที่สำคัญคือ "สิทธิในการซ่อมแซม (Right to Repair - R2R)" ซึ่งเป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์เพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์
เสียงสะท้อนจากภาคการซ่อม ความท้าทายและโอกาส
งานวิจัยล่าสุดจากสถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-PP) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ลงสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการร้านซ่อมอิสระกว่า 40 รายในกรุงเทพมหานคร
ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นถึง ความท้าทาย ที่ภาคส่วนนี้กำลังเผชิญอยู่
ประเทศไทยเป็นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ มีการนำเข้าสมาร์ทโฟนถึง 14 ล้านเครื่องในปี 2566 และคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตอีกเกือบ 100% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ในทางกลับกัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ วิกฤตขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่คิดเป็น 65% ของขยะอันตรายจากชุมชน หรือราว 450,000 ตันต่อปี
โดยขยะจากโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตมีสัดส่วนกว่า 25,000 ตัน แต่กลับมีเพียง 21% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง
ขณะที่ นายเอ็ดเวิร์ด แรตคลิฟฟ์ กรรมการบริหาร SEA-PP เผยว่า "กว่า 50% ของร้านซ่อมอิสระ ไม่มีคู่มือการซ่อม และเกือบทั้งหมด (96%) ไม่สามารถเข้าถึงอะไหล่แท้ จากศูนย์บริการที่ได้รับอนุญาต"
ความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลและชิ้นส่วนเหล่านี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของร้านซ่อมอิสระ และบั่นทอนความมั่นใจของผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการซ่อมแซม
แม้ร้านซ่อมอิสระจะมีศักยภาพในการช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ เช่น นโยบายการรับประกัน ที่มักกีดกันการซ่อมแซมภายนอกศูนย์บริการ
และ "การจับคู่ชิ้นส่วน" (Parts Pairing) ซึ่งเป็นกลไกที่ผู้ผลิตกำหนดให้ชิ้นส่วนอะไหล่ต้องได้รับการ "อนุญาต" จากผู้ผลิตก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้
Lemon Law จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดระยะเวลาการซ่อมสูงสุด 30 วัน และความรับผิดชอบในการซ่อมแซม
แต่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมหลักการสำคัญของ "สิทธิในการซ่อมแซม (Right to Repair - R2R)" เช่น การเข้าถึงเครื่องมือ คู่มือ และอะไหล่สำหรับช่างซ่อมอิสระ และการห้ามการจับคู่ชิ้นส่วน
"หากพิจารณาจากต่างประเทศ สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมาย R2R ที่ทำให้การซ่อมแซมง่ายและราคาถูกลง"
"ขณะที่บางรัฐในสหรัฐอเมริกาและอินเดียก็มีมาตรการที่เข้มงวดในการจำกัดการจับคู่ชิ้นส่วนและส่งเสริมสิทธิในการซ่อมแซม" - ดร.ถนอมลาภ รัชวัตร์ นักวิจัยอาวุโส TEI
เพื่อให้ "สิทธิในการซ่อม" ในประเทศไทยประสบความสำเร็จ งานวิจัยของ SEA-PP เสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่ครอบคลุมหลายด้าน ได้แก่
- ปรับปรุงการเข้าถึง ชิ้นส่วนอะไหล่ เครื่องมือ และคู่มือการซ่อมในราคาที่เป็นธรรม
- สร้างแรงจูงใจ ทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนธุรกิจซ่อมแซม
- จัดแคมเปญรณรงค์ เพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของการซ่อม
- จัดทำระบบรับรอง เพื่อยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของร้านซ่อมอิสระ
สิทธิในการซ่อมกับเศรษฐกิจ BCG
ดร. กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า "สิทธิในการซ่อม" สอดคล้องกับ แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) ของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
การผนวก "สิทธิในการซ่อม" เข้ากับกฎหมายที่มีอยู่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค และนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ช่วยให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว และเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการซ่อมแซมเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว