posttoday

ย้อนพัฒนาการ กฎหมายแต่งงานไทย จาก ‘ผัวเดียว-หลายเมีย' สู่ ‘สมรสเท่าเทียม’

05 ธันวาคม 2567

โพสต์ทูเดย์พาย้อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการกฎหมายการแต่งงานของประเทศไทย จากค่านิยม ‘ผัวเดียว-หลายเมีย’ สู่การยอมรับความหลากหลายในกฎหมายการแต่งงานแบบ ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 22 มกราคม 2568

  • กฎหมายสมรสในสมัยสุโขทัย

รากฐานทางการปกครองและกฎหมายก็ยังคงใช้กฎหมายของขอมหรือกฎหมายพระธรรมศาสตร์  หลังจากที่มีอักษรใช้เป็นของตนเอง กฎหมายสำคัญต่างๆ ของสุโขทัยจึงถูกจารึกไว้ใน ศิลาจารึก อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและการสร้างครอบครัวไม่ได้กล่าวไว้มาก โดยรวมแล้วจะกล่าวถึงระบบครอบครัวที่เน้น บิดา มารดา พี่และน้อง  บิดาเป็นใหญ่ในครอบครัวและสตรีไม่มีบทบาทในครอบครัวหรือสังคม รวมถึงไม่มีการแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภรรยา

ในมังรายศาสตร์​ ยังปรากฎข้อกฎหมายในเรื่องการผิดสัญญาหมั้น อาทิ หากผู้ชายนำข้าวของไปหมั้นหญิง แล้วพ่อแม่ฝ่ายหญิงยินยอม แต่ฝ่ายหญิงเองไม่ยินยิมจึงหนีไป ดังนี้จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญา ต้องเสียไหมให้แก่ฝ่ายชาย  แต่ในกรณีที่มีการยินยอมจากผู้หญิง มีการชำระค่าสินสอดแล้ว แต่ฝ่ายหญิงกลับใจอีก เช่นนี้ต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชาย และฝ่ายชายคนใหม่ที่พาผู้หญิงไปจะต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ชายคู่หมั้นด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถหย่ากันได้ โดยไม่มีข้อกำหนดเรื่องเหตุหย่าเฉพาะเจาะจง ส่วนทรัพย์สินที่หามาได้หลังแต่งงาน หากมีการหย่าจะให้หญิง 2 ส่วน ชาย 1 ส่วน

 

  • กฎหมายสมรสในสมัยอยุธยา

ในสมัยอยุธยาได้มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะผัวเมีย พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการผิดเมีย พ.ศ. 1905 พระราชบัญญัติเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งปันสินบริคณห์ระหว่างผัวเมีย พ.ศ. 1905 กฎหมายลักษณะมูลคดีวิวาท กฎหมายลักษณะลักพา

โดยสรุปคือ กฎหมายได้รับรองสิทธิของชายและหญิงที่มีความรักต่อกัน และมองในเรื่องการยินยอมและสมัครใจของชาย-หญิงมากขึ้น  นอกจากนี้ยังยินยอมให้ชายมีภรรยาหลายคนได้ แต่ต้องไม่ใช่หญิงที่มีสามีอยู่ก่อนแล้ว  โดยจะมีการแบ่งลำดับขึ้นสถานะของภริยาแตกต่างกันไปตามวิธีการสมรส ได้แก่

เมียกลางเมือง คือ หญิงที่บิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย

เมียกลางนอก คือ หญิงที่ชายขอมาเลี้ยงเป็นอนุรองจากเมียหลวง

เมียกลางทาษี คือ หญิงที่ชายช่วยไถ่มาแล้วเลี้ยงเป็นภรรยา

รวมไปถึงยังมีเมียพระราชทาน และเมียอันทูลขอพระราชทานด้วย 

 

ส่วนฝ่ายหญิงไม่สามารถมีสามีมากกว่าหนึ่งขึ้นไปได้

 

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดอายุ โดยผู้หญิงที่สมรสได้จะต้องอายุไม่ต่ำกว่า 12 ปี  และแม้ว่ากฎหมายจะไม่รับรองการที่ชายจะเลี้ยงดูหญิงที่เป็นภรรยาคนอื่นไม่ได้ แต่ว่าหากชายคนนั้นได้เมียผู้อื่นที่ยังไม่มีบุตร และเลี้ยงดูจนมีบุตรด้วยกันสามคนขึ้นไป ให้ภรรยาเป็นสิทธิแก่สามีใหม่ได้

 

  • กฎหมายสมรสในสมัยรัตนโกสินทร์

ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือในสมัย ร.5 โดยให้มีการเทียบเคียงกฎหมายลักษณะผัวเมียกับกฎหมายต่างประเทศ โดยพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล

ในช่วง ร.6 ระบบแนวคิดผัวเดียว-เมียเดียว เริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

จนกระทั่งในช่วงร. 7 หลังจากการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรลงมติคะแนนเสียงข้างมาก เมื่อต้นพ.ศ. 2477 ให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีรายละเอียดที่ยึดหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” ภายใต้เงื่อนไขให้มีการรับรองบุตรที่เกิดนอกสมรสได้

ซึ่งการเปลี่ยนค่านิยมดังกล่าวนั้น มีจุดเริ่มต้นสำคัญคือ การอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งเป็นแบบอย่างของการมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว และเป็นธรรมเนียมการมีคู่ครองแบบที่ไม่เคยปรากฎในสังคมไทย 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

 

รวมไปถึงยังเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม และทั้งสองพระองค์ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์ และยังมีพิธีลอดซุ้มกระบี่และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำรวยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’

 

ทะเบียนแต่งงาน ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์

 

  • กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสยุคใหม่

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศ ‘สมรสเท่าเทียม’ กฎหมายอนุญาตให้มีคู่สมรสได้เพียงคนเดียวระหว่างชายและหญิง และสิ้นสุดได้ด้วยการหย่าซึ่งต้องทำโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย โดยกำหนดให้ชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ไม่สืบสายโลหิต ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ และไม่ใช่บุตรบุญธรรม และเมื่อมีการหย่ากันแล้วสินสมรสจะแบ่งในสัดส่วนเท่ากัน

 

  • กฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’

วันที่ 22 มกราคม 2568 ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันแรกที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้  โดยเป็นกฎหมายที่รับรองสถานะของคู่สมรสเพศเดียวกันในประเทศไทย และบุคคลที่แต่งงานได้จะต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถสมรสกับคนต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทยได้ สามารถมีสวัสดิการและสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับการแต่งงานของชาย-หญิง อย่างไรก็ตามยังคงกฎข้อห้ามแต่งงานกับบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ หรือสืบสายโลหิต บุตรบุญธรรม และห้ามสมรสซ้อน และยังสามารถฟ้องหย่าหรือฟ้งอค่าทดแทนจากชู้ได้เช่นกัน

 

อ้างอิง

https://www.law.cmu.ac.th/lasc/conference/wp-content/uploads/sites/2/2017/09/4สุภธิดา-แก้.pdf

https://library.stou.ac.th/2024/02/prajadhipok-law-on-husbands-and-wives-2473/

https://library.stou.ac.th/2022/08/royal-wedding-ceremony-of-king-prajadhipok/