posttoday

สาหร่ายสีแดง Asparagopsis Taxiformis ทางออกที่ช่วยลดมีเทน

03 มิถุนายน 2567

การลดมีเทน ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะในภาคปศุสัตว์ที่เป็นต้นเหตุการปล่อยมีเทนเป็นจำนวนมาก แต่ล่าสุดมีการพบว่า สาหร่ายสีแดง Asparagopsis Taxiformis สามารถลดการก่อตัวของมีเทนในสัตว์ได้

การรับมือภาวะโลกร้อน นับเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่กิจการมากมายต้องเร่งหาทางรับมือ ภาคอุตสาหกรรมต่างถูกชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดมลพิษและภาวะโลกร้อน นำไปสู่การปรับตัวของภาคธุรกิจหลายชนิดที่ต้องมองหาแนวทางความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

 

          หนึ่งในส่วนการผลิตที่ก่อให้เกิดผลกระทบคืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปศุสัตว์ประเภทวัวซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุภาวะโลกร้อนโดยตรง หากให้เทียบอัตราส่วนนับว่าฟาร์มวัวมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 10% จากกิจกรรมของมนุษย์เลยทีเดียว

 

          วันนี้เราจึงมาพูดถึงว่าเหตุใดเนื้อวัว อาหารที่หลายท่านชื่นชอบจึงกลายเป็นสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

สาหร่ายสีแดง Asparagopsis Taxiformis ทางออกที่ช่วยลดมีเทน

 

ฟาร์มวัว อีกหนึ่งต้นตอแห่งก๊าซเรือนกระจก

 

          เราทราบกันดีว่าการเลี้ยงปศุสัตว์มีอัตราการผลิตก๊าซเรือนกระจกสูง เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ต้องเริ่มต้นจากการปลูกพืชอาหารสัตว์เพื่อนำมาเลี้ยงให้เติบโต เป็นเหตุให้มีการใช้งานทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมาก ในจำนวนนี้สัตว์ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมากสูงสุดคือ ฟาร์มวัว

 

          สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเนื่องจากธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตประเภทวัว โดยพื้นฐานถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่สัตว์กินพืชที่อาศัยประโยชน์จากแบคทีเรียในลำไส้สำหรับการย่อยและดูดกลืนสารอาหาร แต่กระบวนการย่อยนี้จะทำให้ภายในลำไส้วัวเกิด ก๊าซมีเทน ก่อนถูกระบายออกมาผ่านการเรอหรือผายลม

 

          มีเทน จัดเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกชนิดที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากคุณสมบัติของมีเทนสามารถดักจับความร้อนได้ดีกว่า อีกทั้งอัตราการสะสมความร้อนสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายสิบเท่า ทำให้ก๊าซมีเทนส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกเป็นอย่างยิ่ง

 

          โดยพื้นฐานแล้ววัวมีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนอยู่ที่ 70 – 120 กิโลกรัม/ปี อีกทั้งการผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัมก็ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ราว 60 กิโลกรัม ทำให้เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นในระดับอุตสาหกรรม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการเกิดภาวะโลกร้อน

 

          นี่เองจึงนำไปสู่การรณรงค์ลดการกินเนื้อวัวไปจนเนื้อสัตว์ทุกชนิด เพื่อบรรเทาปัญหาลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ขณะเดียวกันบรรดานักวิจัยเองก็พยายามมองหาทางแก้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากภาคปศุสัตว์โดยที่เรายังสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้เช่นเดิม

 

          นำไปสู่การใช้สาหร่ายแดงเพื่อช่วยลดอัตราการเกิดก๊าซมีเทนภายในวัว

 

สาหร่ายสีแดง Asparagopsis Taxiformis ทางออกที่ช่วยลดมีเทน

 

Asparagopsis Taxiformis สาหร่ายสีแดงที่ช่วยลดการปล่อยมีเทนของวัว

 

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ Asparagopsis Taxiformis สายพันธุ์หนึ่งของสาหร่ายสีแดง เมื่อสาหร่ายชนิดนี้ไปผสมในอาหารวัวแล้ว จะช่วยลดอัตราการผลิตก๊าซเรือนกระจกภายในร่างกายวัว ตั้งแต่คาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ ไปจนถึงมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดภาวะโลกร้อน

 

          โดยพื้นฐาน Asparagopsis Taxiformisเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในน่านน้ำอุ่นจนถึงน่านน้ำเขตร้อน ถือเป็นวัตถุดิบยอดนิยมสำหรับอาหารฮาวาย แต่ผลการวิจัยพบว่าสาหร่ายสีแดงสายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งและลดอัตราการก่อตัวของก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะมีเทนได้ถึง 90%

 

          ขั้นตอนการใช้งานเริ่มจากการผสมสาหร่ายชนิดนี้ลงไปในอาหารวัวที่เป็นของแห้งในอัตราส่วนเพียง 2% สาหร่ายจะเข้าไปทำปฏิกิริยาต่อสารเคมีจนไปลดอัตราการเกิดมีเทนในกระเพาะอาหาร จนเป็นผลในการลดอัตราการก่อตัวของก๊าซมีเทนในลำไส้วัวได้มากถึง 98.9% เป็นเวลายาวนานถึง 72 ชั่วโมง

 

          นอกจากใช้ลดการก่อตัวของมีเทนภายในลำไส้วัวแล้ว Asparagopsis Taxiformis ยังสามารถใช้ในการผสมลงไปในมูลวัวโดยตรง ส่งผลให้มูลวัวที่ได้รับการผสมสาหร่ายสีแดงชนิดนี้มีอัตราการก่อตัวของมีเทนน้อยลงจากเดิม 44%

 

          นี่จึงทำให้ Asparagopsis Taxiformis กลายเป็นพืชที่มีความสำคัญ เนื่องจากการลดอัตราก่อตัวของมีเทนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับสัตว์ชนิดอื่น เช่น แกะ แพะ หรือม้า รวมถึงยังอาจนำไปใช้งานร่วมกับปุ๋ยหมักหรือขยะชีวภาพต่างๆ เพื่อลดการก่อตัวของก๊าซเรือนกระจกได้อีกทาง

 

          สาหร่ายสีแดงชนิดนี้จึงอาจเป็นกุญแจในการรับมือมีเทนและแก้ไขภาวะโลกร้อนในอนาคต

 

 

 

 

          อย่างไรก็ตามปัจจุบันการใช้งาน Asparagopsis Taxiformis ในภาคปศุสัตว์ยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการค้นพบตามธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ครั้นจะเพาะพันธุ์เพื่อทำฟาร์มปลูกก็ติดปัญหาในการจัดสรรสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สาหร่ายสีแดงชนิดนี้จึงยังไม่สามารถนำมาใช้งานทั่วไป

 

          อีกทั้งการบริโภคสารชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายในกลุ่มโคนม จะทำน้ำนมที่ผลิตได้มีปริมาณไอโอดีนสูงกว่าปกติ แม้นี่จะเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ น้ำนมที่ผลิตมาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนเป็นอันตรายได้เช่นกัน

 

          แต่เมื่อใดสามารถแก้ข้อจำกัดเหล่านี้ได้สำเร็จ เชื่อว่านี่จะเป็นอีกส่วนผสมในอาหารของสัตว์กินพืชทุกชนิด

 

 

 

          ที่มา

 

          https://newatlas.com/biology/red-alga-cow-feces-methane-emissions-half/

 

          https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/63570

 

          https://www.bangkokbiznews.com/environment/1116501

 

          https://www.sciencealert.com/feeding-cows-this-weird-pink-seaweed-could-actually-help-us-fight-climate-change

 

 

ข่าวล่าสุด

ทบ.แจงปมปั่นจักรยานเยือนปราสาทตาเมือนธม ประสานฝ่ายกัมพูชาแล้ว