ย้อนรอย Stonewall Riots เสียงกรีดร้องเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ LGBTQ+
ย้อนรอยเหตุจลาจล Stonewall Inn ประกายไฟแห่งการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่ลุกลามไปทั่วโลก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความเสมอภาคให้กับกลุ่ม LGBTQ สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ยุค 1960 นับว่าเป็นยุคที่ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากนัก ด้วยมุมมองทางเพศที่แบ่งแยกความเป็นชายและหญิงออกจากกันอย่างชัดเจน บทบาททางสังคมของเพศชายและเพศหญิงถูกกำหนดไว้อย่างเด็ดขาด ใครก็ตามที่บทบาททางเพศต่างไปจากนี้จะถูกปัดเป็นกลุ่มคนชายขอบทันที ยิ่งการแสดงออกทางความรักระหว่างเพศเดียวกันในนิวยอร์คซิตี้ยังถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และด้วยเหตุผลนี้ กลุ่ม LGBTQ จึงมักรวมตัวกันตามบาร์และคลับสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาสามารถแสดงออกได้อย่างเปิดเผยและเข้าสังคมได้อย่างอิสระไร้กังวล
อย่างไรก็ตาม สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐนิวยอร์ค (New York State Liquor Authority) ได้คาดโทษและปิดสถานประกอบการที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับใครก็ตามที่คาดว่าอาจเป็น LGBTQ พร้อมเหตุผลว่า การรวมตัวกันของกลุ่มรักร่วมเพศนั้นเป็นการ “ประพฤติไม่เหมาะสม”
ด้วยความพยายามผลักดันของกลุ่มนักเคลื่อนไหว กฎระเบียบเหล่านี้ถูกยกเลิกไปในปี 1966 ทำให้ลูกค้าที่เป็น LGBTQ สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามกฎหมาย แต่การจับมือ การจูบ หรือการเต้นรำกับคนเพศเดียวกันในที่สาธารณะยังคงผิดกฎหมาย และเป็นให้ทางตำรวจยังคงจ้องเล่นงานบาร์เกย์อยู่อย่างต่อเนื่อง
ความเท่าเทียมทางเพศก่อนเหตุจลาจล Stonewall
ในปี 1966 หรือ 3 ปีก่อนเหตุจลาจล Stonewall องค์กรแรกๆ เพื่อสิทธิ์ของกลุ่ม LQBTQ อย่าง The Mattachine Society ได้จัดกิจกรรม sip-in ขึ้น เพื่อให้กลุ่ม LQBTQ สามารถเข้าใช้บริการในคลับบาร์ได้อย่างเปิดเผย แสดงตัวตนทางเพศอย่างชัดเจน รวมถึงยื่นฟ้องสถานประกอบการใดๆก็ตามที่ปฏิเสธการให้บริการกลุ่ม LQBTQ ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตัดสินว่า กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิ์ใช้บริการในคลับบาร์โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของเหตุจลาจล Stonewall เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มมาเฟียทุนหนาอย่างครอบครัว Genovese เข้าซื้อกิจการร้านอาหารกึ่งบาร์ “Stonewall Inn” ก่อนจะเริ่มรีโนเวทให้กลายเป็นบาร์เกย์ในปี 1967 ด้วยเห็นลู่ทางหาผลกำไรจากลูกค้ากลุ่ม LQBTQ ที่ถูกปัดเป็นกลุ่มคนชายขอบ โดย “Stonewall Inn” ได้รับความนิยมจนดังเปรี๊ยงในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายที่กลุ่มมาเฟียจดทะเบียนเป็นร้านไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (แต่ลูกค้าสามารถนำเครื่องดื่มมาเองได้) รวมถึงจ่ายส่วยให้กับตำรวจในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเพื่อให้เมินเฉยต่อกิจกรรมใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นในร้านแห่งนี้
เมื่อตำรวจไม่ได้ยื่นมือเข้ามายุ่งกับกิจการ กลุ่มมาเฟีย Genovese ก็สามารถลดต้นทุนต่างๆได้ตามต้องการ โดย “Stonewall Inn” เป็นบาร์ที่ไม่มีทางหนีไฟ ไม่มีน้ำสำหรับล้างภาชนะใส่เครื่องดื่ม ห้องน้ำขาดการดูแล เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลอันเอ่อล้น ทั้งยังมีรายงานว่ามาเฟียกลุ่มดังกล่าวยังข่มขู่และรีดไถกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะ หากไม่จ่ายเงินตามที่พวกเขาร้องขอ ก็จะถูกเปิดเผยเรื่องรสนิยมทางเพศ
สถานที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังดำเนินกิจการมาได้สักระยะ จนกระทั่งปมเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวผัน ในเช้าวันที่ 28 มิถุนายน 1969 กองกำลังตำรวจพร้อมอาวุธครบมือเข้าบุกค้น Stonewall Inn เต็มกำลังโดยผู้ใช้บริการในสถานที่ดังกล่าวไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการจับกุมเกิดขึ้น และนี่คือจุดแตกหักที่กลุ่ม LGBTQ จะไม่ยอมทนอีกต่อไป
ประกายไฟเรียกร้องความเท่าเทียม
เมื่อฝั่งหนึ่งต้องการเรียกร้องซึ่งอิสรภาพในการใช้ชีวิต ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมหยุดใช้กำลัง ความเดือดดาลยิ่งทวีความรุนแรงจนกระทั่งหนึ่งในสมาชิก LGBTQ ถูกตำรวจใช้กระบองตีเข้าที่ศีรษะและผลักเธอเข้าไปในรถตำรวจ เธอได้ตะโกนบอกกับกลุ่มคนที่ประท้วงอยู่ว่าให้ลุกขึ้นสู้ และนับเป็นประโยคจุดประกายให้ฝูงชนเริ่มขว้างขวด ก้อนหิน และสิ่งของต่างๆ ใส่ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มพยายามวางเพลิงเพื่อฝ่าแนวกั้น โดยเหตุการณ์นี้กินเวลายืดเยื้อกว่า 5 วัน
แม้เหตุจลาจล Stonewall จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นการเรียกร้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเสียทีเดียว แต่ก็เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม LGBTQ จนนำไปสู่การก่อตั้งองค์กรมากมาย เช่น Gay Liberation Front, Human Rights Campaign, GLAAD:Gay and Lesbian Alliance Against Defamation, PFLAG: Parents, Families and Friends of Lesbians and Gays
ในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี เหตุจลาจล Stonewall ประชาชนหลายพันคนได้ร่วมเดินขบวนไปตามถนนแมนฮัตตัน โดยเริ่มจาก Stonewall Inn ไปจนถึง Central Park พร้อมกู่ร้องว่า "Say it loud, gay is proud" (ตะโกนให้ดัง ภูมิใจในความเป็นเกย์) ซึ่งนับเป็นการเดินขบวนพาเหรดครั้งแรกของกลุ่ม LGBTQ ในสหรัฐฯ
ถัดมาในปี 2016 ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ประกาศให้สถานที่เกิดเหตุจลาจลทั้ง Stonewall Inn, Christopher Park และพื้นที่โดยรอบเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อยกย่องความสำคัญของพื้นที่นี้ต่อสิทธิ์ของกลุ่ม LGBTQ
Stonewall Inn ไม่ได้เป็นเพียงเหตุจลาจล แต่เปรียบเสมือนประกายไฟแห่งการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่ลุกลามไปทั่วโลก สร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่ม LGBTQ ทุกแห่งหนให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความเสมอภาคที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน