posttoday

กลลวงยุคดิจิทัล: เมื่อ AI กลายเป็นอาวุธในมือโจร

10 พฤษภาคม 2567

เปิดวิวัฒนาการกลลวงมิจฉาชีพตั้งแต่ยุค 1.0 ที่นิยมเดินเข้าไปหลอกซึ่งหน้า จนถึงยุค 5.0 เมื่อเทคโนโลยี AI กลายเป็นอาวุธลับในมือโจร เจาะจงเหยื่อได้แม่นยำจากฐานข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ต

คนไทยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ วันละ 217,047 เเละ ใน 1 ปี มีสายจากมิจฉาชีพ 20.8 ล้านครั้ง ทำให้เห็นว่ามิจฉาชีพในปัจจุบันกลายเป็นปัญหาร้ายเเรงขึ้นสำหรับประเทศไทย ขณะที่การพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพเช่นกัน ทำให้การหลอกลวงในปัจจุบันนั้นเป็นไปอย่างแยบคายกว่าที่เคยเป็น

 

กลลวงยุคดิจิทัล: เมื่อ AI กลายเป็นอาวุธในมือโจร

วิวัฒนาการกลลวงมิจฉาชีพในแต่ละยุค

มิจฉาชีพพัฒนาวิธีการหลอกลวงผู้คนให้แยบยลและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจากภาพ "วิวัฒนาการกลลวงมิจฉาชีพ"  แสดงให้เห็นถึงวิธีการหลอกลวงที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย  ดังนี้

ยุค 1.0 : หลอกซึ่งหน้า

มิจฉาชีพจะใช้วิธีการหลอกลวงแบบตัวต่อตัว โดยการเข้าหาเหยื่อโดยตรง เจาะจงเหยื่อที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุอยู่บ้านตามลำพัง ตามป้ายรถเมล์ หรือชุมชนตามต่างจังหวัด วิธีการที่พบบ่อยในยุคนี้ ได้แก่

  • หลอกขายของตามบ้าน 
  • ปลอมเป็นคนที่กำลังเดือดร้อน 
  • หลอกให้ไปกด ATM
  • หลอกไปทำงานเป็นแรงงาน

ยุค 2.0 : โทรมาหลอก

ในยุคนี้ มิจฉาชีพเริ่มใช้วิธีการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์โดยการโทรหาเหยื่อ หรือส่ง SMS มักจะอ้างตัวเป็นบุคคลสำคัญ เช่น ตำรวจ ธนาคาร หรือหน่วยงานราชการ หลอกลวงให้โอนเงินด้วยการเลือกเหยื่อแบบกระจายสุ่ม เช่น

  • หลอกว่าได้รับรางวัล
  • หลอกว่าเป็นหน่วยงานราชการ
  • หลอกว่าทำผิด ต้องโอนเงิน 
  • นำเสนอสินเชื่อประกันที่ไม่มีจริง

ยุค 3.0 : สร้างเพจหลอก

มิจฉาชีพเริ่มใช้วิธีการหลอกลวงผ่านโซเชียลมีเดีย กระจายเหยื่อเป็นวงกว้าง ซึ่งวิธีการที่พบบ่อยในยุคนี้ คือการสร้างเพจปลอมขายของแต่ไม่มีของอยู่จริง สร้างตัวตนปลอม และมักจะมาในรูปแบบ

  • ทัวร์ไฟไหม้
  • ของมันต้องมีโอนเลย
  • สั่งของเก็บเงินปลายทาง
  • ปลอมเป็นคนรู้จักมาขอความช่วยเหลือ

ยุค 4.0 : หลอกแบบรู้ใจ

มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงที่แยบยลมากขึ้น มักจะใช้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาวิเคราะห์เพื่อหาจุดอ่อน และใช้กลวิธีหลอกลวงที่เหมาะสมกับเหยื่อแต่ละคน โดยจะเจาะจงเหยื่อที่แม่นยำขึ้นจากฐานข้อมูล ตัวอย่างกลวิธีในยุคนี้ เช่น

  • ปลอมเป็นเพื่อนที่อยู่ในชีวิตจริงมาขอยืมเงิน
  • หลอกชำระเงินหน่วยราชการ
  • หลอกลงทุนออนไลน์
  • หลอกให้คลิกอ่านต่อเรื่องที่สนใจ

ยุค 5.0 : หลอกด้วย AI

มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงที่ล้ำสมัย มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ ทำให้เจาะจงเหยื่อได้แม่นยำขึ้นจากฐานข้อมูลที่ได้มาก่อน และเชื่อมโยงได้ถึงบุคคลอ้างอิง ซึ่งวิธีการที่พบบ่อยในยุคนี้ ได้แก่

  • โทรมาด้วยเสียงของคนรู้จักพร้อมข้อมูลที่ระบุตัวตนได้อย่างถูกต้อง
  • โทรมาเก็บเสียงของเหยื่อไปใช้หลอกลวงต่อ

ข้อมูลจาก Whoscall แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก และป้องกันสแปม สำหรับสมาร์ทโฟน เผยว่าปี 2566 คนไทยได้รับข้อความ SMS ที่เป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวงเฉลี่ย 6 ใน 10 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของข้อความ SMS ทั้งหมดที่ได้รับ

กลลวงยุคดิจิทัล: เมื่อ AI กลายเป็นอาวุธในมือโจร

ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ติดอันดับการได้รับข้อความ SMS หลอกลวงสูงที่สุดในเอเชียโดยการหลอกลวงนั้นมีหลายรูปแบบ อาทิ การหลอกให้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันปลอม เช่น

  • ธุรกรรมทางการเงิน 27%
  • หลอกให้ดาวน์โหลดโปรแกรมหรือ แอปพลิเคชันที่อันตราย 20%
  • หลอกให้เข้าไปที่หน้าช้อปปิ้งออนไลน์ปลอม 8% 

นอกจากนี้ สถิติในปี 2566 คนไทยที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมีถึง วันละ 217,047 ราย โดยมีคนไทยได้รับสายจากมิจฉาชีพถึง 20.8 ล้านครั้ง และถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจาก SMS มากกว่า 58.3 ล้านข้อความ ซึ่งเป็นจำนวนยอดที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่มียอดรวมของสายโทรศัพท์ หลอกลวงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 และ ข้อความ  SMS เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 รวมมูลค่าความเสียหาย สะสมกว่า 53,875 ล้านบาท 

มิจฉาชีพใช้เบอร์ 191 โทรมาหลอกเหยื่อว่ามีหมายศาล

ที่ผ่านมายังมีกรณีมิจฉาชีพใช้เบอร์ 191 เพื่อโทรมาหลอกเหยื่อว่ามีหมายศาล หรือมีหมายอื่นๆ ที่เราเป็นผู้ต้องสงสัยในคดี โดยจะมีการวิดีโอคอล ให้เห็นว่าคุยกับตำรวจที่ใส่เครื่องแบบ อีกทั้งยังใช้เอกสารปลอม เพื่อทำให้เหยื่อหลงเชื่ออีกด้วย หากเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะหลอกให้โอนเงิน ทำให้เกิดความเสียหายได้

ทางตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้ย้ำเตือนประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อหมายเลขโทรเข้าที่เป็นเบอร์ 191 เพราะเบอร์โทร 191 เป็นหมายเลขเฉพาะ ที่ใช้สำหรับรับสายเหตุด่วนเหตุร้ายเท่านั้น ไม่สามารถเป็นหมายเลขโทรออกไปยังประชาชนได้

กลลวงยุคดิจิทัล: เมื่อ AI กลายเป็นอาวุธในมือโจร

ด้วยวิวัฒนาการของกลโกงการหลอกลวงที่มาถึงยุค 5.0 เป็นยุคที่มิจฉาชีพหลอกด้วย AI ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI Deep Fake ในการปลอมตัวตน หรือเก็บและนำข้อมูลส่วนตัว มาหลอกให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น การหลอกลวงทางโทรศัพท์จึงถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นต้องร่วมกันต่อต้านภัยคุกคามที่แพร่กระจายนี้ ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพย์สินยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันตัวเบื้องต้น นอกจากตัดสายหรือ ไม่กดลิงก์จาก SMS ที่ส่งมาจากเบอร์แปลกๆ ยังสามารถทำได้ผ่านการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Whoscall เพราะเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถระบุตัวตนของเบอร์แปลกที่โทรมาหาเราได้ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถช่วยรายงานเบอร์ของมิจฉาชีพ เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้