posttoday

เอเอฟเอส จัดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด ธุรกิจจะเติบโตและยั่งยืนอย่างไรในปี 2025

23 เมษายน 2567

เอเอฟเอส ประเทศไทย ผนึกกำลังศิษย์เก่าชั้นนำ แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน ภายใต้สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมชูนโยบายดำเนินงาน 'การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิต' ไม่จำกัดแค่นักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย

เอเอฟเอส ประเทศไทยโดยการนำของนายสนั่น อังอุบลกุล  ประธานมูลนิธิ จัดงาน AFS Thailand Forum 2024: Power of AFS Network ณ หอประชุมเอเอฟเอส ประเทศไทย ถนนประชาชื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักเรียนเก่ากับเอเอฟเอส และแขกผู้มีเกียรติ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี

 

เอเอฟเอส จัดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด ธุรกิจจะเติบโตและยั่งยืนอย่างไรในปี 2025

 

ภายในงาน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการมูลนิธิ ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าเอเอฟเอส รุ่นที่ 4 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อรองรับโอกาสของประเทศไทยในปี 2025 ” โดยได้มอบมุมมองวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ และความท้าทายของสถานการณ์ต่างๆ ต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันซึ่งต้องปรับตัวเพื่อเป็น 'คลื่นลูกใหม่' ทางเศรษฐกิจให้ได้ โดยมี 4 ปัจจัยท้าทายที่สำคัญได้แก่

1.Geopolitical Challenge ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม 

2.Technological Challenge ความท้าทายด้านเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยกลับมีAdvanced ICT Skills ของแรงงานไทยมีเพียง 1% เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

3.Aging Population Challenge ความท้าทายเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้วัยแรงงานของไทยลดน้อยลง รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานและมาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น 

4.Climate Change Challenge ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับธุรกิจเกษตรและการท่องเที่ยว

 

โดยการบรรยายดังกล่าวได้ เปิดมุมมองให้กับนักเรียนเก่าเอเอฟเอสที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเพื่อเตรียมความพร้อมและปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการมูลนิธิ

 

จากนั้น นักเรียนเก่าในโครงการเอเอฟเอส ได้แชร์ประสบการณ์ความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ กลับมาต่อยอดในการสร้างธุรกิจร่วมบรรยายในงาน อาทิ 

คุณกวิสรา จันทร์สว่าง ผู้ก่อตั้ง Fresh Me กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรชมี จำกัด (นักเรียนเก่าประเทศเยอรมนี รุ่น 49)  ร่วมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “จากนักเรียนแลกเปลี่ยนสู่นักธุรกิจ: จุดประกายไอเดียจากการเปิดโลกกว้าง”

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ CEO DataX และ Deputy CEO จาก SCBX (นักเรียนเก่าประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น 29)   คุณปาริฉัตร หาญญานันท์ Head of Digital HR จากกลุ่มเซ็นทรัล (นักเรียนเก่าประเทศฟินแลนด์ รุ่น 37) และคุณสุรพล บุพโกสุม Vice President, Sustainability Service Development Dept. จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”

 

แขกผู้มีเกียรติ - ศิษย์เก่าเอเอฟเอส ที่มาร่วมภายในงาน

 

ด้าน ผศ. ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ เอเอฟเอส ประเทศไทย กล่าวว่า AFS Forum 2024 เป็นวันแห่งโอกาสของครอบครัวเอเอฟเอส ประเทศไทย ได้แก่ โอกาสในการเรียนรู้จากพี่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ โอกาสในการสร้างเครือข่าย และโอกาสในการสร้าง Social impact ในการเอาแนวคิดและประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดจากวิทยากรไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่งผลต่อการพัฒนาธุรกิจ และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตและยั่งยืน

ทั้งนี้ เอเอฟเอส ประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรซึ่งดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนเยาวชนไทยกับนานาชาติกว่า  45 ประเทศทั่วโลก เป็นระยะเวลา 62 ปี ปัจจุบันมีนักเรียนเก่ามากกว่า 28,000 คน อยู่ในหลากหลายสาขาวิชาชีพ  อาทิ นักธุรกิจ ข้าราชการ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา นักการทูต เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนระยะ 1 ปี โครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้น โครงการค่ายภาษาและวัฒนธรรม โครงการออนไลน์ และการรับอุปถัมภ์นักเรียนต่างชาติซึ่งส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณค่าและมีคุณภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ

นอกจากนี้ เอเอฟเอส ประเทศไทย ยังส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนเก่า เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์กร และพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน

 

เอเอฟเอส จัดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด ธุรกิจจะเติบโตและยั่งยืนอย่างไรในปี 2025

 

ผศ. ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ยังได้กล่าวถึงนโยบายของเอเอฟเอส ประเทศไทย เพิ่มเติมว่า นโยบายของ AFS ประเทศไทย 60 ปีที่ผ่านมาจะเน้นเพียงการแลกเปลี่ยนในโปรแกรม 1 ปี อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา ได้มีการประกาศวิสัยทัศน์ต่อไปถึงปี ค.ศ.2080  เรื่อง Lifelong intercultural Learning หรือ การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิต นั่นหมายความว่ากิจกรรมของ AFS จะไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะชั้น ม.ปลายอย่างเดียวแต่ได้ขยายไปสู่คนในวัยอื่นๆ ด้วย อาทิ

  • ระดับชั้นมัธยมต้น -  การจัดเข้าค่ายระยะสั้น เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ รวมไปถึงการเข้าค่ายเพื่อเรียนรู้การเป็น ‘พลเมืองโลก’ รวมไปถึงมีการจัดโปรแกรมระยะสั้นเพื่อไปเรียนรู้วัฒนธรรมในต่างประเทศใน 3 ช่วงเวลาตลอดทั้งปี รวมไปถึงโปรแกรมรายปีซึ่งส่งเด็กไทยไปเรียนรู้วัฒนธรรมและเรียนรู้ภาษาที่ต่างประเทศครอบคลุม 40 ปีทั่วโลก
  • ระดับ อายุ 18-32 ปี - การจัดคอร์สเดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา ใช้เวลา 1 สัปดาห์ และนั่งประชุมร่วมกันที่สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ เพื่อพูดคุยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Climate Entrepreneur ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ร่วมมือกับสหประชาชาติ และ NYU ( New York University ) เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคม
  • ระดับวัยทำงาน - เนื่องจากแนวคิดว่า ประเทศอินเดียมีศักยภาพโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ จึงเหมาะสำหรับคนวัยทำงานที่อยาก Upskill และ Reskill ที่เกี่ยวข้องกับภาษาในการทำงาน ทาง AFS กำลังพัฒนาโปรแกรมที่เจาะลึกลงไปถึงการพัฒนาสกิลภาษาของคนวัยทำงานมากยิ่งขึ้น
  • ระดับ อายุ 50+ ปีขึ้นไป  - ทางเอเอฟเอสมองว่า ควรจะมีโครงการที่สามารถสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่คนกลุ่มนี้ โดยได้สร้างโครงการต้นแบบดึงชาวญี่ปุ่นและจีนที่มีความสนใจในวัฒนธรรมของไทยเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมที่ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยในปัจจุบัน

 

ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวนี้สอดคล้องกับมุมมองและวิสัยทัศน์ที่มีต่อความท้าทายของโลก โดยมองว่ามุมมองต่อการเป็น 'พลเมืองโลก' อันเป็นพื้นฐานของการสร้างบุคลากรที่เอเอฟเอสเชื่อมั่นมาตลอดนี้ จะเป็นวิสัยทัศน์สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจหรือการปรับตัวในชีวิตที่สามารถเข้าใจความหลากหลาย และเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบันได้