posttoday

เด็กไทยชูนวัตกรรม "แผ่นบอร์ดรักษ์โลก" ต่อยอดขยะเหลือใช้ หวังลดปัญหา PM 2.5

19 เมษายน 2567

เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ "แซนด์ ธมนต์ยศ พงษ์เภตรารัตน์" เด็กไทยชั้นม.5 ชูนวัตกรรมแผ่นบอร์ดรักษ์โลกจาก “แหอวน-กิ่งลำไย” ซึ่งได้รับเลือกให้ร่วมแสดงในงาน “Bangkok Design Week 2024” ต่อยอดขยะทางการเกษตรให้ไม่สูญเปล่า หวังลดปัญหาการเผาก่อมลพิษเพิ่ม

เชื่อว่าในขณะนี้ หลายคนคงให้ความสนใจกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล หรือสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างถุงผ้า หรือ กระติกน้ำ ที่ทุกวันนี้พบเห็นได้จนชินตา และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้อยู่ในรูปแบบของใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อมองให้ไกลกว่านั้น หากสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลถูกพัฒนาให้อยู่รอบตัวเรา ตึกรามบ้านช่องตัวอาคารต่างๆ ล้วนถูกก่อสร้างมาจากวัสดุรีไซเคิลที่มีความแข็งแรงกว่าคอนกรีตและซีเมนต์ แต่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีราคาที่จับต้องได้มากกว่า จะน่าสนใจขนาดไหน?

"แซนด์ ธมนต์ยศ พงษ์เภตรารัตน์" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนนานาชาติ ISB (The International School Bangkok) เด็กไทยความสามารถไกล ถือเป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์แผ่นบอร์ดรักษ์โลกจากวัสดุรีไซเคิล 100% อย่าง “WoodWeave” ขึ้นมา ซึ่งเจ้าแผ่นบอร์ดชนิดนี้สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารรวมถึงประยุกต์ใช้กับการออกแบบภายในได้ ทั้งยังถูกคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขันในงาน 2024 CONRAD CHALLENGE INNOVATION SUMMIT การแข่งขันด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมของเยาวชน ในสาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy & Environment) ณ รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากประเทศไทย!

เด็กไทยชูนวัตกรรม \"แผ่นบอร์ดรักษ์โลก\" ต่อยอดขยะเหลือใช้ หวังลดปัญหา PM 2.5

เราลองมาดูกันดีกว่าว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เด็กไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อยากคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อโลกขึ้นมา?

แซนด์ระบุว่า โดยปกติแล้วตนมีความชื่นชอบในวิชา STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าด้วยกัน

ขณะที่กิจกรรมนอกห้องเรียน ตนมีความชื่นชอบและหลงใหลในการ “ดำน้ำ” และ “การดูแลสิ่งแวดล้อม” เป็นพิเศษ นอกจากนั้น แซนด์ยังได้เข้าร่วมกับชมรมในโรงเรียนที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและคนไทย โดยปีที่แล้วทางชมรมได้จัดกิจกรรม Fun Run เพื่อระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อุปกรณ์ทางการศึกษา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นแรงบันดาลใจเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ WoodWeave ขึ้นมา

เด็กไทยชูนวัตกรรม \"แผ่นบอร์ดรักษ์โลก\" ต่อยอดขยะเหลือใช้ หวังลดปัญหา PM 2.5

จากขยะเหลือใช้ สู่แรงบันดาลใจ

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แซนด์ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์ทางทะเลบนเกาะเต่า ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ตนได้เห็นว่าปะการังในทะเลไทยฟอกขาวไปมากขนาดไหน รวมถึงขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลมีจำนวนมหาศาลเพียงใด โดยเฉพาะขยะจำพวกเครื่องมือประมงอย่าง “แหอวน” ที่ย่อยสลายยาก และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยตรง 

ขณะเดียวกัน ช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว แซนด์ได้เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือช้างบาดเจ็บที่ Elephant Nature Park ซึ่ง ณ จุดนี้เอง ทำให้ตนเห็นว่ามลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่นั้นวิกฤตขนาดไหน ประกอบกับการได้พบอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์กาเบรียลที่ได้จัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กและครอบครัวชาวเขา ตนจึงได้ทราบว่าพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่มีการปลูกต้นลำไยจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรต้องตัดแต่งกิ่งลำไยหลังการเก็บเกี่ยว และกิ่งลำไยเหล่านั้นก็กลายเป็นขยะเหลือใช้ที่ถูกเผาทิ้งไปจนก่อให้เกิดมลพิษ

แซนด์จึงเกิดความคิดว่าอยากนำขยะเหลือใช้จากสถานที่สองแห่งทั้ง “แหอวน” และ “กิ่งลำไย” มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติอีกต่อไป ตนจึงได้ปรึกษากับรศ.ทรงกลด จารุสมบัติ รองหัวหน้าภาควิชาวนผลิตภัณฑ์คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเริ่มวิจัยค้นคว้ามาเรื่อยๆว่าขยะจาก “แหอวน” และ “กิ่งลำไย” สามารถนำไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง จนได้ข้อสรุปที่พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นบอร์ดรักษ์โลก WoodWeave

เด็กไทยชูนวัตกรรม \"แผ่นบอร์ดรักษ์โลก\" ต่อยอดขยะเหลือใช้ หวังลดปัญหา PM 2.5

เพราะทุกกระบวนการต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

วัสดุอีกหนึ่งชนิดที่ถูกนำมาใช้คือ “ขยะจากขวดนม” ซึ่งเป็นวัสดุประเภทพลาสติก HDPE ที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ ก่อให้เกิดมลพิษน้อย โดยวัสดุชนิดนี้ถูกนำมาใช้แทนกาวแบบปกติ เพื่อยึดไม้กับแหอวนเข้าด้วยกันแบบไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังก่อให้เกิดความสวยงามในตัวผลิตภัณฑ์เอง

สำหรับความท้าทายในกระบวนการผลิต แซนด์ให้ความเห็นว่าเรื่องอัตราส่วนของวัสดุชนิดต่างๆ ถือว่ามีความยากที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าเราต้องใช้แหอวนกี่เปอร์เซ็น ไม้ลำไยกี่เปอร์เซ็น พลาสติกกี่เปอร์เซ็น เพื่อให้ตัวบอร์ดมีความแข็งแรงทนทานและยืดหยุ่นในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น กว่าตัวผลิตภัณฑ์จะออกมาอย่างสมบูรณ์ได้ต้องทดลองผสมอัตราส่วนของวัสดุแต่ละชนิดเยอะมาก

เด็กไทยชูนวัตกรรม \"แผ่นบอร์ดรักษ์โลก\" ต่อยอดขยะเหลือใช้ หวังลดปัญหา PM 2.5

WoodWeave ต่างจากแผ่นบอร์ดชนิดอื่นอย่างไร?

ความพิเศษของแผ่นบอร์ด WoodWeave นอกจากแข็งแรงทนทานกว่าไม้อัดปกติ ทนทานต่อความชื้นได้ดี ช่วยดูดซับเสียงได้ ยังทนต่อปลวกและมอดเนื่องจากวัสดุในตัวบอร์ดที่ทำมาจากพลาสติก กระบวนการผลิตใช้ต้นทุนต่ำ การใช้งานยังสามารถนำไปประยุกต์ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หรือการออกแบบภายในตัวอาคารได้ เนื่องจากลวดลายบนแผ่นบอร์ดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ก่อให้เกิดความสวยงาม

เมื่อถามว่าหลังจากผลิตภัณฑ์ WoodWeave ได้ร่วมจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2024 แล้ว ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง แซนด์ระบุว่า มีบริษัทหลากหลายให้การตอบรับเป็นอย่างดี บางบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้แล้วเหลือเศษไม้จำนวนมาก ก็สนใจในแนวคิดของเรา ซึ่งหากในอนาคต WoodWeave ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตาม คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย เพราะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่านี่คือผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากขยะเหลือใช้ และเรากำลังพยายามกอบกู้ให้ธรรมชาติและระบบนิเวศกลับมาดีดังเดิม

ทั้งนี้ แซนด์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้คนไทยมีความเข้าใจและตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษมากขึ้น เพราะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรา แต่สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่กระทบกับทุกคนโดยตรง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องทำเรื่องที่ยากหรือไกลเกินเอื้อม เพียงค่อยๆปรับรูปแบบการใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยกันคนละเล็กละน้อย แต่เมื่อทุกคนพร้อมใจร่วมกันทำก็จะกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของเราได้

สำหรับทีมที่ชนะในการแข่งขันใน The Conrad Challenge จะได้รับทุนการศึกษา รวมถึงคำแนะนำในการจดสิทธิบัตร เพื่อต่อยอดนวัตกรรมต่อไป