posttoday

Chula Book AI Library ยกระดับการอ่านด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

19 เมษายน 2567

ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดตัว Chula Book AI Library นวัตกรรมยกระดับการอ่านให้ง่ายและสนุกตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในหนังสืออย่างแม่นยำ

คุณกำพล อมรวนิชย์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯ กล่าวว่า Chula Book AI Library เป็นนวัตกรรมใหม่จากศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความท้าทาย ในการอ่านและการเรียนรู้ในสังคมไทย มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่หลากหลายตั้งแต่คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ไปจนถึงการเข้าถึงหนังสือที่มีข้อจำกัด ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI แพลตฟอร์มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้การอ่านและการเรียนรู้เป็นเรื่องง่าย สนุก และเข้าถึงได้มากขึ้น โดยการให้บริการที่สามารถค้นหา แนะนำ และวิเคราะห์ข้อมูลในหนังสือได้อย่างแม่นยำและเป็นส่วนตัว ตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลผ่านเทคโนโลยี AI อันล้ำสมัย นับเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ให้กับสังคมไทย เพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ศ.กิตติคุณ ดร.กุณฑลี รื่นรมย์  อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เจ้าของผลงานหนังสือ “Corporate Brand Success Valuation” และ “การวิจัยการตลาด” กล่าวเสริมว่า จากการใช้แพลตฟอร์มนี้แล้วพบว่าแชทบอทของอาจารย์ที่เรียกว่า “Guntalee GPT” มีประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์ผู้สอน นักวิจัย และช่วยเสริมการสอนและการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพและน่าสนใจยิ่งขึ้น Chatbot นี้ยังเป็น TA หรือผู้ช่วยส่วนตัวของครู และยังเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของนิสิตนักศึกษาในการเรียนรู้ผ่านการทบทวนบทเรียน การฝึกทำโจทย์ และการเข้าถึงข้อมูลที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ที่สำคัญรองรับการใช้งานได้หลายภาษาสำหรับนิสิตนักศึกษาชาวต่างประเทศอีกด้วย

คุณเอกชัย วรรณแก้ว นักเขียน Best Seller เจ้าของผลงาน “พลังใจ พิชิตความสำเร็จ” และ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ได้เข้าร่วมโปรเจกต์ Chula Book AI Library เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านและผู้ติดตามได้รับคำแนะนำและแรงบันดาลใจผ่านรูปแบบใหม่ที่สะดวกและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทางแชทบอท “เอกชัย วรรณแก้ว GPT” โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนต้องการการสนับสนุนทางจิตใจและแรงบันดาลใจในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในชีวิต การใช้ Chatbot เป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน และแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ได้อย่างลึกซึ้งและเฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้ใช้ได้รับคำแนะนำที่ตรงกับสถานการณ์และคำถามของตนเองได้ทันที เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ผู้เขียนหนังสือชุด Digital Transformation  ทั้ง 4 เล่ม และเจ้าของแพลตฟอร์ม Sfia AI พันธมิตรเบื้องหลังเทคโนโลยีในการพัฒนา Chula Book AI กล่าวต่อว่า Chula Book AI เป็นการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของแต่ละคน (Personalized) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ตั้งแต่การเรียน การอบรม การอ่าน งานสัมมนา การทำเวิร์กชอป การประชุมหารือ การวางแผนงาน จนถึงขั้นตอนการลงมือปฏิบัติและการสอนผู้อื่นต่อได้  ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับทั้งผู้อ่านที่เริ่มต้นในการเรียนรู้ ไปจนถึงผู้ที่กำลังทำและผู้มีประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในหนังสือต่างๆ Chula Book AI จะช่วยให้ผู้ใช้งานมีไอเดียและจุดประกายความคิดใหม่ๆ เป็นผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของผู้อ่านทุกที่ทุกเวลา ภาษาใดก็ได้ เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สเปน อารบิก รวมถึงภาษาไทย ที่จะช่วยให้สามารถเรียนรู้ เข้าใจ และลงมือทำให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในยุค AI

Chula Book ยังได้ร่วมมือกับ insKru พัฒนาแชทบอทที่เรียกว่า “BuddyKru” สำหรับคุณครู เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ และการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง BuddyKru เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนที่จะเดินทางไปกับคุณครูในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนที่ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเจอกับ “พฤติกรรมชวนปวดหัว” ใดๆ BuddyKru พร้อมเคียงข้างคุณครูเสมอ โดย BuddyKru ได้รับการฝึกฝนจาก insKru    คอมมูนิตี้ของครูกว่า 6 แสนคนทั่วประเทศที่ร่วมกันแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จริง โดยสมาชิกของ insKru ซึ่งเป็นคุณครูทั่วประเทศ นอกจากจะได้รับส่วนลดพิเศษในการซื้อหนังสือและสินค้าของ Chula Book แล้ว ยังมีสิทธิ์เข้าใช้บริการแชทบอท ‘BuddyKru’ ใน Chula Book AI Librarty อีกด้วย