posttoday

มิติใหม่แห่งการตรวจโรค การตรวจมะเร็งช่องปากด้วยอมยิ้ม

12 เมษายน 2567

มะเร็งช่องปาก หนึ่งในมะเร็งที่สร้างผลกระทบทางสุขภาพในหลายด้าน จำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ กระนั้นความยุ่งยากก็ทำให้หลายคนเข็ดขยาดไม่อยากรับการตรวจ แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อเราอาจใช้อมยิ้มตรวจมะเร็งช่องปากได้

มะเร็งช่องปาก อาจเป็นประเภทของมะเร็งที่ไม่ได้รับความสนใจหรือได้ยินชื่อมากนัก แต่ที่จริงนี่ก็เป็นมะเร็งอีกชนิดที่สามารถพบเห็นผู้ป่วยได้ทั่วไป จากข้อมูลทางสถิติพบว่าประเทศไทยมีอัตราการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งช่องปากราว 4,440 ราย/ปี หรือคิดเป็นจำนวนราว 12 ราย/วัน เลยทีเดียว

 

          ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้มาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การเคี้ยวหมาก, การสูบบุหรี่จัด, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, มีการอักเสบหรือในช่องปากบ่อยครั้งและต่อเนื่อง, การติดเชื้อบางชนิด ไปจนปัญหาสุขภาพช่องปากเรื้อรัง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งช่องปากได้ทั้งสิ้น

 

          วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดของพิษภัยที่มาจากมะเร็งช่องปากกันเสียหน่อย

 

มิติใหม่แห่งการตรวจโรค การตรวจมะเร็งช่องปากด้วยอมยิ้ม

 

มะเร็งช่องปาก อีกปัญหาใหญ่จากมะเร็ง

 

          มะเร็งช่องปาก ถือเป็นประเภทมะเร็งที่สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายตำแหน่งและรูปแบบ อวัยวะทุกส่วนภายในปากตั้งแต่ลิ้น เหงือก หรือช่องปากล้วนเกิดมะเร็งได้ทั้งสิ้น อาการมักเริ่มต้นจากแผลร้อนในหรืออาการปวดภายในช่องปากที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้เป็นเวลา 2 อาทิตย์ขึ้นไป

 

          นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีรอยปื้นสีแดงหรือขาวแดงภายในปาก, มีเลือดออกจากบาดแผล, อาการบวมหรือชาภายในปาก, เกิดก้อนเนื้อภายในลำคอหรือกล่องเสียง, ฟันโยกโดยไม่มีสาเหตุ, กลืนอาหารลำบาก ไปจนขยับกรามและลิ้นยาก อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งบ่งชี้มะเร็งช่องปากทั้งสิ้น

 

          อย่างไรก็ตามแม้เทคโนโลยีในการรักษามะเร็งจะก้าวหน้า แต่การพยากรณ์โรคไปจนดูแลรักษากลับพัฒนาขึ้นไม่มากนัก ผู้ป่วยมักมีอัตรารอดชีวิตไม่ถึง 50% ภายในระยะเวลา 5 ปีหลังตรวจพบ เนื่องจากมะเร็งช่องปากมักไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และมักตรวจพบในช่วงที่มะเร็งอยู่ในระยะลุกลามเสียมาก

 

          สาเหตุที่เป็นแบบนี้เกิดจากความเอาใจใส่และพื้นฐานอาการไม่ต่างจากปัญหาสุขภาพช่องปากทั่วไป ในช่วงต้นที่สามารถทำการรักษาได้คนจึงมักไม่ให้ความสนใจหรือรู้สึกเป็นปัญหา ต้องรอจนอาการรุนแรงขึ้นผู้ป่วยจึงจะสังเกตความผิดปกติ การรักษามะเร็งให้หายขาดจึงทำได้ยาก

 

          อีกทั้งขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยมะเร็งช่องปากในปัจจุบันยังมีความยุ่งยากซับซ้อน เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ, ตรวจปัจจัยเสี่ยง, ใช้เครื่องเอกซเรย์และ MRI หากอยากให้แน่ใจก็จำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจสอบ ถือเป็นวิธีทั่วไปแต่สร้างความยุ่งยากและเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย หลายท่านจึงไม่สะดวกใจจนประวิงเวลาทำให้อาการหนักในที่สุด

 

          แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อเราอาจสามารถตรวจมะเร็งช่องปากผ่านอมยิ้ม

 

มิติใหม่แห่งการตรวจโรค การตรวจมะเร็งช่องปากด้วยอมยิ้ม

 

สู่การตรวจมะเร็งช่องปากผ่านอมยิ้ม

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Birmingham กับการพัฒนาแนวทางการตรวจมะเร็งช่องปากแบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องสแกนราคาแพง หรือการผ่าตัดตรวจชิ้นเนื้อที่ยุ่งยากและสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยอีกต่อไป อาศัยเพียงอมยิ้มอันเดียวเพื่อนำไปตรวจสอบก็เพียงพอ

 

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย เมื่อมีการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งจะมีการปล่อยโปรตีนชนิดพิเศษแตกต่างจากโปรตีนทั่วไป หากสามารถตรวจสอบและค้นหาโปรตีนเหล่านี้ภายในช่องปาก เราก็สามารถระบุและยืนยันการเกิดมะเร็งช่องปากได้เช่นกัน

 

          นี่เองจึงเป็นที่มาของอมยิ้มที่พัฒนาจากวัสดุไฮโดรเจล วัสดุอัจฉริยะที่มีส่วนประกอบของน้ำ 99% และโพลีเมอร์ 1% เมื่อถูกอมเข้าไปในปากไฮโดรเจลจะทำหน้าที่เหมือนแหสำหรับจับปลา โดยจะทำการจับและยึดเกาะเข้ากับโปรตีนภายในปาก จากนั้นพวกเขาจะนำโปรตีนเหล่านั้นไปวิเคราะห์หาเซลล์มะเร็งอีกที

 

          จุดเด่นของการตรวจวินิจฉัยในรูปแบบนี้คือสามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องวางแผนผ่าตัดชิ้นเนื้อหรือส่องกล้องเข้าไปในร่างกายซึ่งเสียเวลาเตรียมตัว เพียงนำอมยิ้มเข้าปากจากนั้นก็รอจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด ช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา

 

          เมื่อการตรวจโรคสะดวกเพียงแค่การอมอมยิ้มจะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วย ทำให้พวกเขายอมเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สามารถค้นพบและรักษาโรคมะเร็งได้แต่เนิ่นๆ เพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาดและอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย

 

          อีกหนึ่งประโยชน์ในการตรวจพบและเข้ารับการรักษาทันท่วงทีคือ ผลกระทบที่เกิดต่อช่องปากจะน้อยกว่า การรักษามะเร็งช่องปากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในหลายด้าน ผู้ป่วยอาจไม่สามารถเปล่งเสียง พูดคุย หรือกลืนอาหารได้ตามเดิม อีกทั้งยังเป็นไปได้ว่าโครงสร้างปากอาจผิดรูปในขั้นตอนการรักษา

 

          ซึ่งการตรวจรักษาตั้งแต่ในช่วงแรกจะช่วยลดปัญหาและผลกระทบในส่วนนี้ลงมากทีเดียว

 

 

 

          อย่างไรก็ตามอมยิ้มตรวจมะเร็งช่องปากนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัย ด้วยปัจจุบันการจะให้ไฮโดรเจลจับโปรตีนได้ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงไม่สะดวกต่อการใช้งาน แต่ทางทีมวิจัยกำลังมองหาแนวทางแก้ไขเรื่องโดยตั้งเป้าว่าต้องเก็บโปรตีนกลับมาตรวจสอบได้ภายในระยะเวลา 10 นาที รวมถึงพัฒนาไฮโดรเจลให้สามารถใช้งานกับมะเร็งชนิดอื่นได้

 

          ที่เหลือคงต้องรอดูกันต่อไปว่าอมยิ้มตรวจมะเร็งช่องปากนี้จะได้รับการพัฒนาจนใช้งานจริงได้หรือไม่

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.medparkhospital.com/lifestyles/oral-cancer-monitoring

 

          https://www.phyathai.com/th/article/1955-oral_cancer_pyt3

 

          https://moderncancerhospital.com/cancer-diagnosis/oral-cancer-diagnosis/

 

          https://news.cancerresearchuk.org/2024/03/22/scientists-to-make-lollipops-to-aid-mouth-cancer-diagnosis/