posttoday

ซิมโฟนีปะการัง แนวทางฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ใต้ทะเล

03 เมษายน 2567

ปะการังฟอกขาว ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลสำคัญที่กำลังทวีความรุนแรงในปัจจุบัน จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพแวดล้อมและอากาศแปรปรวน แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการค้นพบว่า คลื่นเสียงจากปะการังอาจใช้ฟื้นฟูแนวปะการังได้

เราทราบกันดีว่ากิจกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ในแต่ละวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่การรวมตัวอยู่ในชุมชน การผลิตพลังงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมล้วนนำไปสู่ความเสียหายต่อธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมอย่างกว้างขวางและสร้างปัญหาในระยะยาว

 

         หนึ่งในพื้นที่ซึ่งประสบภัยจากน้ำมือมนุษย์มากที่สุดคือท้องทะเล ด้วยผลกระทบจากการใช้ชีวิตของเราส่วนมากมักจบลงด้วยการมารวมกันอยู่ใต้ผืนน้ำอันกว้างใหญ่ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง นำไปสู่วิกฤติของมหาสมุทรหลายรูปแบบที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน

 

         แต่เมื่อพูดถึงปัญหาใหญ่ที่สุดในท้องทะเลคงหนีไม่พ้นการฟอกขาวของปะการัง

 

ซิมโฟนีปะการัง แนวทางฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ใต้ทะเล

 

ปะการังฟอกขาว อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของท้องทะเล

 

         อันที่จริงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลสามารถหยิบมาพูดถึงได้ในหลายมิติ เนื่องจากหัวข้อและประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมีมากมาย พฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์หลายส่วนสามารถสร้างความเสียหายได้ทั้งในแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การจับสัตว์น้ำเกินขนาด ปัญหาขยะ ไปจนมลพิษทางทะเล ฯลฯ

 

         แต่ถ้าพูดถึงปัญหาที่เป็นรูปธรรมจนเห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น ปะการังฟอกขาว เกิดจากการที่ปะการังสูญเสียสาหร่าย Zooxanthellae ที่คอยจ่ายอาหารและสร้างหินปูนให้แก่ปะการัง ส่งผลให้ปะการังสูญเสียสีสันและการขาดสารอาหารจนทำให้ปะการังตายในที่สุด

 

         ปะการังฟอกขาวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทิ้งขยะภายในทะเล, ปัญหาไมโครพลาสติก, การทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ, สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม, สารตกค้างจากของใช้ในชีวิตประจำวัน, การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล, น้ำมันรั่วลงทะเล ฯลฯ

 

         ในจำนวนนี้สาเหตุที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบสูงสุดคือ ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นในระดับ 1 – 2 องศาเซลเซียส, ระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงส่งผลให้น้ำจืดเข้ามาปะปน ไปจนสารเคมีและมลพิษที่เกิดจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาปะการังฟอกขาว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม

 

         ระดับอุณหภูมิน้ำทะเลในปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.27 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับแนวปะการังของแต่ละพื้นที่ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลประเมินว่า หากยังไม่เร่งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ภายใน 30 ปีข้างหน้าทั่วโลกอาจเหลือปะการังเพียง 10%

 

         นี่เองจึงนำไปสู่ความพยายามฟื้นฟูแนวปะการังในท้องทะเล หนึ่งในนั้นคือการใช้คลื่นเสียงฟื้นฟูปะการัง

 

ซิมโฟนีปะการัง แนวทางฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ใต้ทะเล

 

บทเพลงจากปะการังที่เรียกหาปะการัง

 

         ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Woods Hole Oceanographic Institution (WHOI) กับการค้นพบกลไกการฟื้นฟูระบบนิเวศและแนวปะการังรูปแบบใหม่ อาศัยเสียงจากแนวปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการดึงดูดตัวอ่อนปะการัง จะช่วยดึงดูดตัวอ่อนให้มาอยู่ในแนวปะการังได้มากขึ้นถึง 7 เท่า

 

         แนวคิดนี้อาศัยประโยชน์จากกลไกชีวิตของตัวอ่อนปะการัง โดยปกติตัวอ่อนปะการังจะถูกพัดพาไปโดยน้ำทะเล เมื่อค้นพบบริเวณที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตจึงเริ่มลงหลักปักฐาน จากนั้นปะการังจะขึ้นเป็นรูปร่างและเริ่มพัฒนาเป็นปะการังที่เรารู้จัก

 

         สำหรับการเลือกตำแหน่งทำเลตั้งรกรากของตัวอ่อนปะการัง หลายครั้งที่พวกมันอาศัยการเลือกทำเลผ่านทางคลื่นเสียง โดยปะการังโตเต็มวัยที่มีความอุดมสมบูรณ์จะทำการส่งคลื่นเสียงรูปแบบเฉพาะออกไป เมื่อตัวอ่อนปะการังได้ยินก็จะถูกดึงดูดให้เข้ามาตั้งรกราก นำไปสู่แนวคิดจำลองคลื่นเสียงเพื่อดึงดูดตัวอ่อนปะการังเข้ามาในพื้นที่

 

         ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้ทำการทดสอบนำเอาคลื่นเสียงนี้มาใช้งาน เริ่มจากการเก็บข้อมูลคลื่นเสียงใต้น้ำจากแนวปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์ จากนั้นจึงนำลำโพงใต้น้ำไปติดตั้งไว้ตามแนวปะการังเสื่อมโทรมใน หมู่เกาะเวอร์จิน ของสหรัฐฯ ก่อนพบว่าตำแหน่งที่มีการเล่นคลื่นเสียงมีอัตราการเกาะของตัวอ่อนมากกว่าปกติถึง 7 เท่า

 

         การค้นพบครั้งนี้อาจเป็นอีกแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูแนวปะการัง เพราะเราต่างทราบดีว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังกำลังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก หากสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลคลื่นเสียงและดึงดูดให้ปะการังสามารถาตั้งรกรากได้ เราอาจมีโอกาสรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเล

 

         ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นกุญแจสำคัญที่อาจช่วยพลิกฟื้นท้องทะเลให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็เป็นได้

 

 

 

 

         อย่างไรก็ตามโครงการคลื่นเสียงที่กระตุ้นการฟื้นตัวของแนวปะการังนี้ยังอยู่ในขั้นค้นคว้าวิจัยอย่างระมัดระวัง เพราะจำเป็นต้องตรวจสอบในระยะยาวว่าสัญญาณเสียงนี้ใช้กับปะการังพื้นที่ใดได้บ้าง สร้างผลกระทบต่อแนวปะการังแบบใด รวมถึงตัวอ่อนปะการังที่ถูกดึงดูดเข้ามาจะสามารถดำรงชีวิตได้หรือไม่

 

         ที่สำคัญกว่าคือความพยายามในการลดภาวะโลกร้อนและดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ว่าจะมีกระตุ้นตัวอ่อนปะการังเข้ามารวมตัวกันได้แค่ไหน หรือฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับมาสวยงามได้เพียงไร หากไม่อาจรักษาสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการมีชีวิตของปะการังได้ ทุกอย่างที่ทำก็ไม่มีความหมายเช่นกัน

 

 

 

 

         ที่มา

 

         https://ngthai.com/science/26012/coral-bleaching/

 

          https://www.thaipbs.or.th/news/content/337727

 

         http://www.rspg.or.th/articles/coral/coral1.htm