posttoday

มาดู! วิธีรับมือฝุ่นPM2.5 จากทั่วทุกมุมโลก

28 มีนาคม 2567

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นเรื่องหนักใจแก่คนไทยปัจจุบัน จากอัตราการขยายตัวของมลพิษทางอากาศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราจึงพามาดูการแก้ปัญหาของนานาประเทศ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและกำลังดำเนินการว่าพวกเขาทำเช่นไร

เมื่อพูดถึงฝุ่นละอองในอากาศนี่อาจเป็นปัญหาที่กำลังรบกวนชีวิตใครหลายคน ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นแบบทวีคูณจนเกิดผลกระทบทางสุขภาพเป็นวงกว้าง นำไปสู่การตั้งคำถามที่มาของฝุ่นละออง รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดค่าฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

 

          จริงอยู่การรับมือแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศไม่ใช่ของง่าย ถือเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับปรุง สวนทางกับความต้องการของผู้ประสบภัยฝุ่นละอองที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน กระนั้นที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศที่เคยประสบปัญหาจากฝุ่นละออง PM2.5 เช่นกัน

 

          วันนี้เราจึงไปดูแนวทางแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศกันเสียหน่อยว่าพวกเขามีแนวทางแก้ไขรับมือเช่นไร

 

มาดู! วิธีรับมือฝุ่นPM2.5 จากทั่วทุกมุมโลก

 

ปัญหาและแนวทางรับมือฝุ่นละอองในสหรัฐฯ

 

          สำหรับสหรัฐฯปัญหามลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความสนใจยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ นับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รถยนต์บนท้องถนน โรงงานอุตสาหกรรม ไปจนเตาเผาขยะในสหรัฐฯก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศจนเกิดวิกฤติหมอกควันในปี 1966 ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย

 

          ความร้ายแรงของเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ภาครัฐต้องหันมาให้ความสนใจในการแก้ปัญหา เริ่มจากการออกกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศฉบับแรกอย่าง Air Pollution Control Act ในปี 1955 และได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องในปี 1963, 1967, 1970, 1977 และ 1990 เพื่อความรัดกุมในการดูแลควบคุมมลพิษทางอากาศ

 

          สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือการมอบอำนาจดูแลจัดการมลพิษให้แก่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงมีการจัดตั้งองค์กร United States Environmental Protection Agency (EPA) คอยทำหน้าที่ทบทวนและตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามที่กำหนด โดยสามารถออกประกาศเตือนให้แก้ไขไปจนสามารถสั่งปรับและฟ้องดำเนินคดีได้ในกรณีไม่ปฏิบัติตาม

 

          นอกจากจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลโดยเฉพาะยังมีการใช้เครื่องมือและมาตรการควบคุมจัดการอีกหลายด้าน ทั้งการปรับปรุงการอนุญาตประกอบกิจการ, กำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี, กำหนดมาตรฐานคุณภาพ, ควบคุมระดับการปล่อยมลพิษ, ปรับปรุงบัญชีสารพิษในอากาศเป็นประจำ ไปจนมาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนกฎหมายควบคุมมลพิษ

 

          ด้วยการควบคุมเข้มงวดรวมกับนโยบายผลักดันการใช้ยานยนต์และพลังงานสะอาด ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองจึงทุเลาลง อย่างไรก็ตามไฟป่าจากภาวะโลกร้อนยังคงเป็นปัญหา นำไปสู่การสะสมฝุ่น PM2.5 กลายเป็นประเด็นปัญหาใหม่ที่ยังต้องมองหาแนวทางแก้ไขรับมือต่อไป

 

มาดู! วิธีรับมือฝุ่นPM2.5 จากทั่วทุกมุมโลก

 

ปัญหาและแนวทางรับมือฝุ่นละอองในญี่ปุ่น

 

          เช่นเดียวกับสหรัฐในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความพยายามฟื้นฟูประเทศของญี่ปุ่นทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย เกิดการปล่อยมลพิษออกมาเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะฝุ่นและควันจากโรงงานอุตสาหกรรม จนต้องมีการประกาศกฎหมายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ เพื่อบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงในขณะนั้น

 

          ครั้งแรกที่มีการออกกฎหมายควบคุมมลพิษในญี่ปุ่นคือ กฎหมายควบคุมเขม่าและหมอกควันปี 1962 ตามด้วยการออกกฎหมายอักหลายฉบับและแรงกดดันจากนานาชาติ นำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานทั้งในระดับโรงงานและยานยนต์ จนเริ่มทุเลาลงเมื่อมีการควบคุมเข้มงวดในช่วงปี 1998

 

          สำหรับฝุ่นละออง PM2.5 รัฐบาลญี่ป่นได้ประกาศแนวทางรับมือตั้งแต่ปี 2013 มีการติดตาม กำกับ และควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงฐานข้อมูลและโมเดลพยากรณ์อากาศให้รองรับค่าฝุ่น รวมถึงการกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับสารพิษให้ประชาชนระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น

 

          อย่างไรก็ตามปัญหาจากฝุ่น PM2.5 ในญี่ปุ่นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2019 มลพิษทางอากาศจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรกว่า 42,000 ราย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากมลพิษจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ โดยในปี 2022 ระดับความเข้มข้นมลพิษทางอากาศในญี่ปุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.8 เท่า

 

          ด้วยเหตุนี้ทางญี่ปุ่นจึงริเริ่มโครงการพลังงานสะอาดมากมาย เช่น ความพยายามในการสร้างเมืองต้นแบบพลังงานไฮโดรเจน ในเมืองนามิเอะ จังหวัดฟูกุชิมะ, ผลักดันการติดตั้งโซล่าเซลล์ตามบ้านเรือนพร้อมเงินสนับสนุน, ผลักดันการใช้แอมโมเนียเป็นพลังงานเชื้อเพลิงอีกชนิด เพื่อลดการเผาไหม้จากโรงไฟฟ้าและยานพาหนะ เป็นต้น

 

มาดู! วิธีรับมือฝุ่นPM2.5 จากทั่วทุกมุมโลก

 

          ปัญหาและแนวทางรับมือฝุ่นละอองในจีน

 

          เมื่อพูดถึงปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศหลายท่านอาจนึกถึงจีน โดยเฉพาะกับภัยพิบัติฝุ่นละอองในปักกิ่งปี 2013 กับระดับมลพิษทางอากาศที่พุ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO กว่า 30 เท่า โดยส่วนมากหมอกควันเหล่านั้นเกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 นำไปสู่การออกนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม

 

          ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเริ่มประกาศใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศฉบับใหม่ในปี 2013 เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศหลัก 6 ชนิด ตามมาด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่สำหรับควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับ เพื่อสอดรับการทำงานในการลดค่าฝุ่นอย่างจริงจัง

 

          ข้อสำคัญที่ทำให้การลดค่าฝุ่น PM2.5 ของจีนประสบความสำเร็จคือ ความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย กับความพยายามอุดช่องโหว่การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือแก่ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการสั่งและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จนมีการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าไปหลายแห่ง

 

          การสั่งปิดโรงงานเพื่อให้ปรับปรุงการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายพื้นที่ ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ลงมาก นอกจากนี้การผลักดันพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบเป็นอย่างดี

 

          ที่ต้องพูดถึงไม่แพ้กันคือมาตรการควบคุมการจราจร ทั้งการควบคุมการปล่อยมลพิษของรถยนต์, ลดอัตราการใช้งานรถยนต์ภายในประเทศ, มาตรการสลับวันใช้งานรถยนต์ รวมถึงการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้มีการใช้งานแพร่หลายช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง จนในช่วงปี 2020 และ 2021 เป็นต้นมา จีนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาในที่สุด

 

มาดู! วิธีรับมือฝุ่นPM2.5 จากทั่วทุกมุมโลก

 

          ปัญหาและแนวทางรับมือฝุ่นละอองในเกาหลีใต้

 

          เกาหลีใต้ เป็นอีกประเทศที่ประสบปัญหาคุณภาพอากาศเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงปี 2009 – 2013 ค่าฝุ่นละออง PM10 สูงเกินค่ามาตรฐาน ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศสร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง และคาดว่าในปี 2010 คุณภาพอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนกว่า 16% จากผู้เสียชีวิตทั้งหมดในโซล

 

          ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลจึงประกาศแผนแม่บทในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ เริ่มจากเริ่มปิดและลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในประเทศ เช่นเดียวกับความพยายามยุติการใช้รถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในเขตเมือง เพื่อลดอัตราการก่อมลพิษในเมืองใหญ่

 

          พร้อมกันนั้นเกาหลีใต้ได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล Dangjin Bio-1 ที่ถูกจัดว่าใหญ่ที่สุดในเอเชีย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเขื่อนฮัปซอน ไปจนการลงทุนด้านพลังงานกว่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์(ราว 1.5 ล้านล้านบาท) โดยมีจุดหมายในการมุ่งสู่ Net zero ในปี 2050

 

          อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาฝุ่นละอองของเกาหลีใต้ทำได้ไม่ง่ายนัก เมื่อฝุ่นถูกพัดเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ที่ต่างมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียด แต่ก็มีความพยายามการเจรจาทางการทูต เช่น โครงการสร้างฝนเทียมเพื่อทำความสะอาดชั้นบรรยากาศ

 

          ปัจจุบันเกาหลีใต้เริ่มรับมือคุณภาพอากาศด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ตั้งแต่หุ่นยนต์วัดคุณภาพอากาศลาดตระเวนที่เชื่อมต่อ 5G, โดรนเฝ้าระวังมลพิษรอบชายฝั่ง ไปจนดาวเทียมสิ่งแวดล้อม Chollian-2B ที่จะแจ้งและตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์แก่คนในประเทศ เพื่อการเก็บรวบรวมและตรวจข้อมูลสำหรับหาทางรับมือปัญหาต่อไป

 

 

 

          ทั้งหมดคือแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศที่เคยประสบความสำเร็จในต่างประเทศ สำหรับไทยเริ่มมีการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่อาจช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้อีกมาก

 

          ที่เหลืองต้องรอดูแผนแม่บทจากคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด การผลักดันกฎหมายรองรับ หรือการบังคับใช้หลังจากนี้ต่อไป

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.nytimes.com/2017/02/28/nyregion/new-york-city-smog.html

 

          https://www.vox.com/future-perfect/23757949/air-pollution-history-progress-clean-air-act-environmental-protection-agency-wildfires-smoke-smog

 

          https://earththailand.org/th/article/6845

 

          https://www.climateimpactstracker.com/air-pollution-in-japan/

 

          https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/562776

 

          https://earth.org/how-china-is-winning-its-battle-against-air-pollution/

 

          https://www.theguardian.com/world/2013/feb/16/chinese-struggle-through-airpocalypse-smog

 

          https://earththailand.org/th/article/6845

 

          https://www.reuters.com/article/us-southkorea-energy-windfarm/south-korea-unveils-43-billion-plan-for-worlds-largest-offshore-wind-farm-idUSKBN2A512D/

 

          https://isdp.eu/publication/south-koreas-air-pollution-gasping-solutions/