posttoday

ไม่ใช่แค่ในคน สู่การคิดค้นวัคซีนมะเร็งในสุนัข

22 มีนาคม 2567

ที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามคิดค้นพัฒนาวัคซีนมะเร็งล้วนมีความคืบหน้าไปไม่น้อย แต่มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีแนวคิดค้นคว้าวิจัยวัคซีนมะเร็งในสุนัข

สำหรับคนรักสัตว์เรื่องน่าเจ็บปวดสูงสุดคือการที่สัตว์เลี้ยงแสนรักมักด่วนจากไปก่อน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่รู้สึกเหมือนสัตว์เลี้ยงเปรียบเสมือนคนในครอบครัวที่ไม่มีทางยืดอายุขัยได้นานพอ ทำได้เพียงคอยดูแลประคับประคองให้อยู่ด้วยกันนานเท่าที่ทำได้

 

          ความคาดหวังเหล่านั้นกลับไม่เป็นจริงเสมอไป เมื่อโรคภัยกลายเป็นสาเหตุให้ต้องจากลากันทำหลายคนใจสลายมานักต่อนัก ยิ่งกับสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขที่มักเผชิญการเจ็บป่วยไม่ต่างจากคนเรา หนึ่งในโรคที่สร้างปัญหาให้แก่พวกเขามากที่สุดคือ มะเร็ง เช่นเดียวกัน

 

          วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดมะเร็งในสุนัขเสียหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้างและร้ายแรงแค่ไหน

 

ไม่ใช่แค่ในคน สู่การคิดค้นวัคซีนมะเร็งในสุนัข

 

มะเร็งในสุนัข โรคร้ายที่คุกคามชีวิตสุนัขอันดับต้นๆ

 

          อันที่จริงมะเร็งไม่ได้เป็นโรคที่จำกัดเพียงในมนุษย์แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์ทุกชนิด แต่สัตว์เลี้ยงที่มักพบการเกิดโรคมะเร็งมักเป็น สุนัข หรือ แมว เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยม เมื่อได้รับการดูแลเอาใจใส่จนมีคุณภาพชีวิตและอายุยืนมากขึ้น จึงมีการค้นพบโรคภัยไข้เจ็บแบบเดียวกับมนุษย์

 

          มะเร็งในสุนัขโดยพื้นฐานไม่ได้ต่างจากคนนัก สามารถเกิดขึ้นได้กับสุนัขแทบทุกชนิด เป็นโรคที่เกิดจากกลุ่มเซลล์ภายในร่างกายเกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ นำไปสู่การเกิดเนื้องอก ก่อนจะเริ่มลุกล้ำรบกวนการทำงานของอวัยวะแล้วจึงแพร่กระจายผ่านทางเลือดและน้ำเหลืองไปทั่วร่างกายในที่สุด

 

          มะเร็งในสุนัขมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่มะเร็งอัณฑะ, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปาก, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งกระดูก ฯลฯ พบมากในกลุ่มสุนัขที่มีอายุมากขึ้น ผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตอาการและพฤติกรรมของสุนัขที่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย หากตรวจสอบความผิดปกติควรเร่งมาพบสัตวแพทย์ทันท่วงที

 

          แนวทางรับมือและรักษามะเร็งในสุนัขใกล้เคียงกับการรักษาในมนุษย์ ตั้งแต่การผ่าตัด, เคมีบำบัด, ฉายแสง ไปจนการรักษาทางเลือก พร้อมการดูและควบคุมรูปแบบการกินอาหารแก่สุนัข บรรเทาความรุนแรงและอัตราการแพร่กระจาย เพื่อให้การรักษาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          อย่างไรก็ตามขั้นตอนการรักษาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในระยะแรก ในกรณีที่มะเร็งไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ จนขยายขนาดและมีการแพร่กระจายภายในร่างกาย อาจทำให้ระบบอวัยวะภายในร่างกายล้มเหลวนำไปสู่การเสียชีวิต ความเร็วในการตรวจพบจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

          แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อเราไม่ต้องคอยพะวงอาการของเพื่อนคู่ใจ เมื่อมีการคิดค้นวัคซีนมะเร็งสำหรับสุนัข

 

ไม่ใช่แค่ในคน สู่การคิดค้นวัคซีนมะเร็งในสุนัข

 

วัคซีนมะเร็งในสุนัข อีกหนึ่งก้าวแห่งการรักษาชีวิต

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Yale University กับการคิดค้นพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับใช้ในการรับมือมะเร็งในสุนัข หลังจากฉีดวัคซีนเข้าสู่สุนัขที่เจ็บป่วยด้วยมะเร็งร่วมกับขั้นตอนรักษาตามปกติ ช่วยให้อัตราการรอดชีวิตของสุนัขที่เป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

 

          อันที่จริงเดิมทีการค้นคว้านี้ไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อรักษาสุนัขโดยตรง แต่เป็นงานวิจัยเพื่อคิดค้นแนวทางรักษามะเร็งในมนุษย์ โดยอาศัยแนวคิดจากโรคภูมิแพ้ตัวเอง หากเปลี่ยนเป้าหมายของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจากเซลล์ที่เป็นประโยชน์มาเป็นเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกได้ ก็จะช่วยให้สามารถกำจัดมะเร็งออกไปในที่สุด

 

          แต่ด้วยกลไกการทำงานของร่างกายและรูปแบบมะเร็งที่มีการค้นพบในสุนัขคล้ายคลึงกับมนุษย์ ทั้งในด้านพฤติกกรรม การตอบสนอง หรืออัตราแพร่กระจาย ประกอบกับไม่มีการคิดค้นพัฒนาการรักษามะเร็งในสุนัขเพิ่มเติมมาเป็นเวลานาน ทีมวิจัยจึงลองปรับปรุงยาให้สามารถนำมาใช้กับสุนัข

 

          แนวคิดของพวกเขาจะอาศัยการพัฒนาตัวจับกับโปรตีน EGFR และ HER2 ต้นตอของมะเร็งหลายชนิดทั้งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งกระดูก แต่ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันมักจบลงที่การดื้อยาและไม่สามารถขจัดเซลล์มะเร็งได้ พวกเขาจึงได้คิดค้นพัฒนาสารประกอบชนิดใหม่ ทำการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลายตำแหน่งเพื่อประสิทธิภาพการรักษา

 

          หลังจากประสบความสำเร็จกับการทดลองในหนู ทีมวิจัยเริ่มนำวัคซีนใช้ในการทดลองกับสุนัขที่ป่วยเป็นมะเร็งมากกว่า 300 ตัว ก่อนพบว่า วัคซีนช่วยให้สุนัขมีอัตราการอดชีวิตใน 12 เดือนแรกหลังทำการรักษาเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว เช่น อัตรารอดชีวิตของมะเร็งกระดูกในสุนัขอยู่ที่ราว 35% แต่หลังได้รับการรักษาพร้อมวัคซีนอัตรารอดชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 60%

 

          หนึ่งในผลสำเร็จของงานวิจัยนี้คือ Hunter สุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์วัย 11 ปี สุนัขค้นหาและช่วยเหลือที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกระดูกในปี 2022 แต่เมื่อเข้ารับการผ่าตัด เคมีบำบัด และวัคซีนมะเร็งชนิดใหม่ ก็ช่วยให้มันหายดีและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรงและมีความสุขในปัจจุบัน

 

          ถือเป็นอีกขั้นในการรักษามะเร็งในสุนัขซึ่งช่วยรักษาชีวิตและสุขภาพของเจ้าเพื่อนสี่ขานี้อีกมาก

 

 

 

          สำหรับท่านที่มีสุนัขที่เจ็บป่วยจากมะเร็งอาจต้องอดใจรอกันอีกหน่อย ด้วยวัคซีนยังคงอยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิกที่ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม แต่หากการคิดค้นนี้ประสบความสำเร็จในอนาคตไม่เพียงวัคซีนสำหรับรักษามะเร็ง แต่พวกเขาวางแผนจะพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันและยับยั้งโรคมะเร็งต่อไป

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.nestle.co.th/th/nhw/news/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%82

 

           https://news.yale.edu/2024/03/05/novel-cancer-vaccine-offers-new-hope-dogs-and-those-who-love-them