posttoday

ชิปเปลี่ยนโลก สู่อนาคตแห่งสงครามชิปทั่วโลก

20 มีนาคม 2567

การพัฒนาเทคโนโลยี AI ส่งผลโดยตรงต่อบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ NVIDIA ที่มีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 283% อย่างไรก็ตามมูลค่านี้อาจเป็นเพียงตัวเลขชั่วคราว เมื่อบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกต่างมุ่งพัฒนาชิปของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน

เชื่อว่าทุกท่านคงรู้จัก ชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์ กันมาไม่น้อย โดยเฉพาะหลังผ่านช่วงการระบาดของโควิดกับปัญหาขาดแคลนชิป ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดราคาถีบตัวสูงจนน่ากลัว ต้องรอจนกำลังการผลิตเริ่มกลับมาเป็นปกติและเริ่มคลายล็อกดาวน์สถานการณ์จึงคลี่คลาย

 

          อย่างไรก็ตามความตื่นตัวของเทคโนโลยี เอไอ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เริ่มทำให้ความต้องการชิปพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง และแตกต่างจากรอบการระบาดของโควิดที่มาจากความจำเป็น หรือความนิยมในคริปโตเคอเรนซี่ที่ได้รับความสนใจเพื่อทำกำไร คราวนี้ที่มุ่งเป้าแย่งชิงกลับมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ส่งผลให้ NVIDIA เติบโตแบบก้าวกระโดด

 

          วันนี้เราจึงมาไล่ย้อนกันเสียหน่อยว่าที่ผ่านมา เซมิคอนดักเตอร์เป็นรากฐานไว้ให้แก่เทคโนโลยีชนิดใดบ้าง

 

ชิปเปลี่ยนโลก สู่อนาคตแห่งสงครามชิปทั่วโลก

 

ก้าวที่ผ่านมาของชิป แกนกลางสำคัญแห่งเทคโนโลยี

 

          ถ้าจะให้พูดตั้งแต่จุดเริ่มเราอาจย้อนเวลาไปได้ถึงในช่วงปี 1824 กับการค้นพบแร่ซิลิคอนเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามช่วงเวลาดังกล่าวซิลิคอนยังเป็นโลหะไม่มีชื่อที่ไม่ได้รับความสนใจนัก ด้วยขีดจำกัดของเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นที่ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากนัก

 

          จวบจนปี 1947 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน จึงเริ่มมีการคิดค้นแผงวงจรในการจ่ายพลังงานแบบเฉพาะเจาะจงเป็นที่มาของคำว่า เซมิคอนดักเตอร์ สู่การคิดค้น ทรานซิสเตอร์ ถือเป็นรากฐานสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนคิดค้น วิทยุทรานซิสเตอร์ ขึ้นมาสำเร็จ

 

          การขยายตัวทางเทคโนโลยียังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามเย็น ทั้งการแข่งขันการพัฒนาอาวุธและโครงการวิจัยอวกาศมากมาย เริ่มมีการนำซิลิคอนมาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างเซมิคอนดักเตอร์ จนในปี 1958 จึงเริ่มมีการผลิตวงรวมรุ่นใหม่ที่กลายมาเป็น ชิป แบบที่เรารู้จักกัน

 

          ความก้าวหน้าในการผลิตชิปนี้เองเป็นรากฐานสำคัญเริ่มผลักดันเข้าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ นวัตกรรมในการผลิตชิปเริ่มได้รับการย่อส่วนไปสู่ ไมโครโปรเซสเซอร์ และ ไมโครคอนโทรเลอร์ ที่ใช้ในการประมวลผลด้วยความเร็วสูง นำไปสู่การวางจำหน่ายคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในปี 1975 เปิดทางเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์เต็มอย่างรูปแบบ

 

          สิ่งนี้เองที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากเดิมระบบประมวลจำเป็นต้องใช้พื้นที่ห้องขนาดใหญ่และตู้ควบคุม แต่ทั้งหมดถูกย่อส่วนให้เหลือขนาดเพียงชิปขนาดไม่กี่เซนติเมตรเพียงตัวเดียว สิ่งนี้เป็นรากฐานให้แก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดจนเป็นโลกที่เรารู้จักทุกวันนี้

 

ชิปเปลี่ยนโลก สู่อนาคตแห่งสงครามชิปทั่วโลก

 

จากชิปตัวจิ๋วสู่การใช้งานเอไอและอวกาศ

 

          ปัจจุบันการใช้งานชิปไม่ได้จำกัดเพียงแค่คอมพิวเตอร์อีกต่อไป แต่เกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราในแทบทุกด้าน อุปกรณ์ที่มีการใช้งานชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์มีมากมาย ตั้งแต่แลปท็อป, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน, เครื่องเกม, กล้องถ่ายรูป, เครื่องเล่นเพลง ฯลฯ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รอบตัวล้วนพึ่งพาไมโครชิปทั้งสิ้น

 

          นอกจากอุปกรณ์ทั่วไปโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างใช้งานเครื่องมือที่มีชิปเป็นเรื่องปกติ เครื่องจักรทุกชนิดที่มีกระบวนการทำงานละเอียดซับซ้อนล้วนมีชิปคอยกำหนดรูปแบบการทำงานอยู่ภายใน เซมิคอนดักเตอร์จึงเป็นชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องจักรขนาดใหญ่ของภาคการผลิตทุกสาขา

 

          อีกหนึ่งสาขาที่มีการพึ่งพาชิปไม่แพ้กันคือเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ทั้งกังหันลม โซล่าเซลล์ พลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ล้วนพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ช่วยให้เราสามารถพัฒนาพลังงานสะอาด อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

 

          ปัจจุบันการใช้งานเซมิคอนดักเตอร์ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ทั้งการผลักดันโครงการอวกาศที่ชิปถือเป็นส่วนสำคัญในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนผลิตชิ้นส่วนต่างๆ  ไปจนเป็นแกนกลางสำคัญในระบบประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังได้รับความสนใจและการจับตาจากทั่วโลก

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความก้าวหน้าเหล่านี้จะส่งผลให้หุ้นของ NVIDIA บริษัทผู้ถือครองสิทธิบัตรชิปประสิทธิภาพสูงพุ่งทะลุฟ้า มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น 283% ภายในปีเดียว คิดเป็นเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ แซงหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Amazone, Tesla และใกล้จะแซง Apple เข้าทุกที

 

          อีกทั้งการขยายตัวนี้ยังไม่มีทีท่าจะหยุดยั้งตราบเท่าที่บริษัทน้อยใหญ่ไปจนสตาร์ทอัพยังคงเร่งพัฒนาเอไอ

 

ชิปเปลี่ยนโลก สู่อนาคตแห่งสงครามชิปทั่วโลก

 

          สู่อนาคตแห่งสงครามชิปและพลังงาน

 

          การขยายตัวอย่างต่อเนื่องสำหรับมูลค่าหุ้นในบริษัทย่อมถือเป็นเรื่องดี ทาง NVIDIA เองก็ยืนยันเจตนาชัดเจนว่า ยินดีรวมงานกับทุกบริษัทที่มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตในระยะยาวมากกว่า แต่แน่นอนว่าเมื่อมีอัตราการเติบโตสูงย่อมดึงดูดความสนใจไม่แพ้กัน

 

          เจ้าแรกที่เริ่มขยับคือทาง OpenAI เจ้าของผลิตภัณฑ์พลิกโลกอย่าง ChatGPT ที่เริ่มแสดงความสนใจในการจัดตั้งโรงงานผลิตชิปเป็นของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนชิป AI โดยการหารือความร่วมมือกับทาง TSMC โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก เช่นเดียวกับทาง Microsoft ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ให้ความสนใจในการร่วมมือกับ Intel

 

          อันดับต่อมาคือ Meta ที่เริ่มหันหัวเรือมาให้ความสนใจในการพัฒนาโปรเจค AI เช่นกัน โดยพวกเขามีแผนการพัฒนาชิปรุ่นใหม่ในชื่อ Artemis เพื่อตอบสนองขีดความสามารถในการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทโดยเฉพาะ ลดการพึ่งพาชิปจากภายนอกเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

 

          อีกหนึ่งบริษัทที่มีความสนใจไม่แพ้กันคือ Samsung กับการเปิดตัว HBM3E 12H ชิปรุ่นใหม่มีปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดถึง 1.25 เทราไบต์/วินาที มากกว่าชิปรุ่นก่อนถึง 50% ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลโดยรวม ทำให้จัดเก็บข้อมูลจำนวนมากในต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาอุปกรณ์และปัญญาประดิษฐ์ต่อไปในอนาคต

 

          แน่นอนทาง NVIDIA ที่รู้ว่าจะมีผู้เล่นยักษ์ใหญ่กระโจนเข้ามาร่วมส่วนแบ่งในตลาดก็ใช่จะนิ่งนอนใจ มีการเปิดตัวตัวฟังก์ชันใหม่ Chat with RTX เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งาน GPU NVIDIA RTX 30 และ 40 เข้าถึงการใช้งาน AI สำหรับการค้นหา ย่อ และสรุปเนื้อหาในเอกสารและวีดีโอ ช่วยจัดการข้อมูลจำนวนมากให้สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น

 

          แสดงให้เห็นว่าทิศทางเทคโนโลยีต่อจากนี้จะนำไปสู่สงครามพัฒนาชิป ที่ทุกฝ่ายต่างเร่งผลิตและพัฒนาชิปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถปัญญาประดิษฐ์ของตัวเอง

 

 

 

          อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ส่วนที่เป็นคอขวดอาจไม่ใช่การผลิตชิปอีกต่อไป ปัญหานี้แม้เกิดขึ้นแต่สามารถทดแทนได้ไม่ยาก ด้วยหลายประเทศตั้งแต่สหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น ไปจนชาติในยุโรปต่างทุ่มเงินเพื่อจัดสร้างโรงงานผลิตชิปในประเทศ สายพานการผลิตโดยรวมจึงอาจประสบปัญหาขาดแคลนเพียงช่วงสั้นๆ

 

          สิ่งที่จะก่อปัญหาให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คือปัญหาพลังงาน AI แต่ละตัวใช้พลังงานในการประมวลผลมหาศาล ยิ่งประสิทธิภาพและขีดความสามารถสูงเท่าไหร่ก็จะยิ่งกินพลังงานมากตาม ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอาจโตตามไม่ทัน จนนำไปสู่การขาดแคลนพลังงานได้ในอนาคต

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.xm.com/th/research/markets/allNews/reuters/nvidia-closes-with-2-trillion-valuation-as-dell-stokes-ai-rally-53780180

 

          https://www.buerklin.com/en/electronic-competence/measurement-technology/the-history-of-semiconductors/#semiconductor-technology-of-the-future-the-first-chips

 

          https://www.britannica.com/technology/electronics/Digital-electronics

 

          https://www.theverge.com/2024/2/1/24058179/meta-reportedly-working-on-a-new-ai-chip-it-plans-to-launch-this-year

 

          https://news.samsung.com/global/samsung-develops-industry-first-36gb-hbm3e-12h-dram

 

          https://interestingengineering.com/innovation/sam-altman-plans-to-tap-tsmc-to-rival-nvidia-with-his-own-ai-chip

 

          https://interestingengineering.com/culture/sam-altman-aims-to-raise-a-staggering-7-trillion-to-challenge-nvidias-monopoly

 

          https://interestingengineering.com/innovation/microsoft-intel-ai-chip