posttoday

MoodCapture แอปพลิเคชันตรวจซึมเศร้าผ่านสมาร์ทโฟน

19 มีนาคม 2567

ซึมเศร้า หนึ่งในการเจ็บป่วยทางจิตที่มีจำนวนผู้ป่วยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการประเมินอาการโรคต้องพึ่งพาจิตแพทย์และแบบทดสอบทางจิตวิทยาอันยุ่งยาก แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อเราอาจสามารถตรวจซึมเศร้าผ่านสมาร์ทโฟน

ซึมเศร้า ถือเป็นอาการทางจิตเวชที่ได้รับการพูดถึงและความสำคัญมากยิ่งขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่าไทยมีจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านราย ส่วนในระดับโลกคาดว่าจำนวนผู้ป่วยอาจมากถึง 300 ล้านคน ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

          อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าหลายครั้งกลับไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จากข้อจำกัดทั้งด้านเวลา งบประมาณ ไปจนข้อจำกัดจากตัวโรค หลายครั้งผู้ป่วยไม่รู้ตัวหรือตระหนักว่าตนเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี จนอาจนำไปสู่อันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง

 

          วันนี้เราจึงมาพูดถึงแอปพลิเคชันอัจฉริยะที่สามารถใช้วินิจฉัยอาการซึมเศร้าผ่านสมาร์ทโฟนกันเสียหน่อย

 

MoodCapture แอปพลิเคชันตรวจซึมเศร้าผ่านสมาร์ทโฟน

 

MoodCapture แอปพลิเคชันวิเคราะห์อาการซึมเศร้า

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก New Hampshire's Dartmouth College กับการคิดค้นพัฒนาแอปพลิเคชัน MoodCapture อาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประมวลผลใบหน้าของผู้ใช้งาน เพื่อประเมินหาสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าได้ผ่านสมาร์ทโฟน

 

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากอาการและพฤติกรรมของโรคซึมเศร้าที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ หลายครั้งรายละเอียดส่วนนี้ตัวผู้ป่วยมักไม่ทันรับรู้จึงถูกละเลยไปโดยง่าย ทำให้ผู้ป่วยอาจเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติและเข้ารับคำปรึกษาในช่วงอาการหนัก ในกรณีร้ายแรงก็อาจไม่ทันรู้ตัวจนอาจนำไปสู่การกระทำไม่ยั้งคิด

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนา MoodCapture แอปพลิเคชันที่อาศัยประโยชน์จากระบบสแกนใบหน้า ฟังก์ชันยืนยันตัวตนที่หลายท่านได้รู้จักผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร แต่อันที่จริงระบบนี้สามารถนำมาใช้งานในการปลดล็อกหน้าจอสำหรับสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน ซึ่งแต่ละวันเราต่างปลดล็อกสมาร์ทโฟนเพื่อการใช้งานนับร้อยครั้ง

 

          นำไปสู่กลไกของแอปพลิเคชันซึ่งใช้ประโยชน์ภาพที่ได้จากการสแกนใบหน้า เมื่อนำภาพเข้าสู่ระบบประมวลผลเพื่อมองหาความแตกต่าง อาศัยฐานข้อมูลจากจำนวนภาพย้อนหลังที่เก็บสะสมในแต่ละวันของผู้ใช้งานเป็นเกณฑ์ จากนั้นจึงนำข้อมูลแต่ละวันมาประเมินความเสี่ยง

 

          ภาพถ่ายที่ได้จากการสแกนใบหน้าจะถูกนำมาประมวลในหลายด้าน ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของดวงตา, การขยับของกล้ามเนื้อ, การแสดงออกทางสีหน้า ไปจนสภาพแวดล้อมภายในภาพ ทั้งหมดจะถูกนำมาตรวจสอบประเมินหาความเสี่ยงผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงจากอาการซึมเศร้าของผู้ใช้งาน

 

          จากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่ป่วยโรคซึมเศร้าพบว่า ระดับความแม่นยำในการประเมินนี้อยู่ที่ราว 75% และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถทำให้ความแม่นยำไปถึง 90% ได้

 

MoodCapture แอปพลิเคชันตรวจซึมเศร้าผ่านสมาร์ทโฟน

 

ประโยชน์ในการทำความเข้าใจและป้องกันซึมเศร้า

 

          จริงอยู่เมื่อเทียบในด้านความแม่นยำสำหรับการตรวจโรค MoodCapture อาจยังไม่เพียงพอ ขาดความแม่นยำในการตรวจสอบไปมากเมื่อเทียบกับการประเมินอาการจากผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้แบบทดสอบประเมินภาวะซึมเศร้า PHQ-8 ก็ตาม แต่แอปพลิเคชันนี้ก็มีข้อดีในหลายด้าน

 

          อย่างแรกคือการใช้งานสะดวกเข้าถึงง่าย จากเดิมเพื่อความแม่นยำผู้ป่วยควรต้องเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์โดยตรงซึ่งต้องอาศัยทั้งเงินและเวลา หรือการทำแบบทดสอบสุขภาพจิตที่มีความยุ่งยาก มาเป็นการโหลดแอปพลิเคชันสู่สมาร์ทโฟนที่เข้าใจง่ายและทุกคนสามารถเข้าถึงได้

 

          ลำดับต่อมาคือใช้งานง่าย สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าการบอกเล่าความทุกข์หรือนำเรื่องนี้ไปปรึกษาใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาเหล่านั้นจะไม่เกิดกับแอปพลิเคชันนี้ ทั้งหมดที่ต้องทำมีเพียงโหลดลงเครื่องแล้วใช้งานตามปกติ จากนั้นระบบจะประเมินให้เองโดยอัตโนมัติ

 

          ซึ่งนี่จะสอดคล้องกับข้อดีลำดับต่อมาคือผลประเมินเบื้องต้น จะช่วยให้ผู้ป่วยคลายข้อสงสัยว่าตนป่วยซึมเศร้าจริงหรือไม่ นำผลลัพธ์ที่ได้จากมาประเมินและตัดสินใจต่อไปอย่างถูกต้อง รับมือสถานการณ์ได้อย่างมีสติ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์

 

          อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญคือข้อมูลนี้ถูกบิดเบือนได้ยาก การเข้าพบจิตแพทย์หรือการทำแบบประเมินทางจิตวิทยาเพื่อการตรวจสอบ บางครั้งผู้ป่วยอาจเกร็งหรือเก็บซ่อนอาการเพื่อให้เห็นว่าตัวเองไม่ได้เจ็บป่วย ในขณะที่การประเมินจาก MoodCapture อาศัยภาพใบหน้าจากชีวิตประจำวัน ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติและตรงกับความเป็นจริงมากกว่า

 

          นี่จึงถือเป็นอีกก้าวสำหรับการตรวจสอบและรับมืออาการซึมเศร้าที่อาจช่วยชีวิตผู้คนอีกมากในอนาคต

 

 

 

          สำหรับท่านที่กังวลว่าแอปพลิเคชัน MoodCapture เก็บข้อมูลไปเป็นจำนวนมากอีกทั้งยังใช้ในการประเมินสุขภาพจิต อาจนำไปสู่ปัญหาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ทางทีมวิจัยยืนยันว่าข้อมูลส่วนมากจะประมวลผลภายในอุปกรณ์ และข้อมูลจากแอปพลิเคชันทั้งหมดจะมีการเข้ารหัสจึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีการรั่วไหล

 

          ที่เหลือขอเพียงพัฒนาระดับความแม่นยำในการตรวจสอบได้ คาดว่าในอีกไม่กี่ปีแอปพลิเคชันจะพร้อมสำหรับใช้งาน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.thaipbs.or.th/news/content/324887

 

          https://home.dartmouth.edu/news/2024/02/phone-app-uses-ai-detect-depression-facial-cues