posttoday

ดัชนีความร้อน ตัวชี้วัดอุณหภูมิ เตือนระดับไหนอันตรายต่อสุขภาพ

11 มีนาคม 2567

รู้จักดัชนีความร้อน ( Heat Index ) และ 4 ระดับการเฝ้าระวัง ตั้งแต่ปลอดภัยจนถึงอันตรายต่อชีวิต แนะเช็คได้ทุกวันเพื่อป้องกันอันตราย พบกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง

ดัชนีความร้อน (Heat Index, HI) หมายถึง อุณหภูมิที่ร่างกายมนุษย์รู้สึกตามความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิอากาศและความชื้น หรือก็คือ อุณหภูมิที่ร่างกายของเรารับรู้ได้ในขณะนั้น ๆ

Heat Index โดยปกติจะมีค่าสูงกว่า อุณหภูมิอากาศจริงเสมอ เพราะมีการนำความชื้นในอากาศต่อการระบายความร้อนของร่างกายมาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากถ้าอากาศร้อนแต่ความชื้นสัมพัทธ์กลับสูงขึ้น เหงื่อที่ถูกขับออกมาก็จะไม่ระเหย ร่างกายจะรู้สึเหนอะหนะและร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริง แต่ถ้าหากวันไหนที่ความชื้นน้อย เหงื่อจะถูกขับออกมาและระเหยได้ดี ก็ทำให้รู้สึกร้อนน้อยกว่าอุณหภูมิอากาศจริง

เพราะฉะนั้นการจะดูว่าอุณหภูมิร้อนช่วงไหนมีผลต่อสุขภาพจนเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้นั้น จำเป็นต้องใช้ดัชนีความร้อน และนำมาระบุความเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวัง แบ่งเป็น 4 ระดับได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง

  • สีเขียว คือ ระดับเฝ้าระวัง โดยมีอุณหภูมิที่ 27.0-32.9 องศาเซลเซียส  ผลกระทบต่อสุขภาพคือ เกิดอาการเบื้องต้นหากสัมผัสความร้อนและอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นจากความร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นำไปสู่การเกิดตะคริวจากความร้อนได้
  • สีเหลือง คือ ระดับเตือนภัย โดยมีอุณหภูมิที่ 33.0-41.9 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพคือ มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพลียแดด และเป็นตะคริวจากความร้อนได้ อาจส่งผลให้เกิดโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก
  • สีส้ม คือ ระดับอันตราย โดยมีอุณหภูมิที่ 42.0-51.9 องศาเซลเซียส จะเกิดตะคริวจากความร้อน โรคเพลียแดด เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก
  • สีแดง คือ ระดับอันตรายมาก โดยมีอุณหภูมิตั้งแต่ 52 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จะมีความเสี่ยงสูงมากที่เกิดโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก

 

ภาพจาก http://www.rnd.tmd.go.th/heatindexanalysis/

 

สำหรับในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัด และมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส และจะพบค่า Heat Index ที่เป็นอันตรายในบางวัน

 

ทางด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเปิดเผยว่า กลุ่มเสี่ยงที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน (กลุ่มโรค Heat Stroke) ในช่วงปี 2562 – 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี และพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังพบว่า อาการเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ/สับสน/มึนงง มีผื่นแดงตามผิวหนัง รวมถึงยังพบพฤติกรรมเสี่ยงจากความร้อน เช่น ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด อยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ไม่ดีหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มสุรา น้ำหวาน และน้ำอัดลม

 

ดัชนีความร้อน ตัวชี้วัดอุณหภูมิ เตือนระดับไหนอันตรายต่อสุขภาพ

 

สำหรับการดูแลตนเองที่สำคัญ ได้แก่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัดหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

 

โดยประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบค่า Heat Index สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็ปไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

http://www.rnd.tmd.go.th/heatindexanalysis/

 

ค่า Heat Index ระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2567