posttoday

กาง 25 มาตรการ ‘แก้วิกฤตประชากร’ ชงเข้า ครม. หัวใจคือสร้างสังคม 'คนอยากมีลูก'

08 มีนาคม 2567

เปิด 25 มาตรการ ‘แก้วิกฤตประชากร’ จากกระทรวงพม. เตรียมชงเข้า ครม.เดือนนี้ เน้นสร้างสังคมที่ทำให้คนอยากมีบุตร ช่วยค่าใช้จ่ายวัยแรงงาน และคนสูงวัยดูแลตัวเองได้ ‘วราวุธ’ ย้ำการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องการเพิ่มโอกาสเจริญพันธุ์ และต้อง ‘ทั่วถึง’ แต่ไม่ใช่ ‘ถ้วนหน้า’

จากที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นวิกฤตประชากร” เพื่อรวบรวมและระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐทุกกระทรวง ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญอันได้แก่ องค์การอนามัยโลก World Bank และ 6 องค์การสำคัญของ UN รวมไปถึงภาคประชาสังคม ไปเมื่อวานนี้ ผลสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการได้ออกมาเป็นแนวทาง 5 เสาหลัก ครอบคลุม 25 มาตรการสำคัญ ที่จะ ‘แก้วิกฤตประชากร’ ของประเทศไทยอันเป็นวาระเร่งด่วนในวันนี้

 

25 มาตรการเป็นข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ทุกกระทรวงสามารถนำไปเป็นแนวทางนโยบายได้

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า 25 มาตรการนี้เป็นแนวทางที่มองร่วมกันว่าควรทำอย่างไร และคิดว่า 25 แนวทางนี้ต้องขอให้ทุกกระทรวงไปแปลงให้เป็นแนวทางการทำงานอย่างไร ตนไม่กล้าก้าวล่วง แต่ในส่วนของพม. ตนได้เห็นชอบข้อเสนอที่จะเพิ่มฐานของเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีซึ่งได้รับเบี้ย 600 บาทต่อเดือน จากเดิมตอนแรกได้รับเพียง 2 ล้าน 3 แสนคน ตอนนี้ได้กระจายให้ครบทุกคนครอบคลุมเด็กจำนวน 4 ล้านคน เพราะเห็นว่าการลงทุนในเด็กโดยเฉพาะในวัย 3-5 ปีนั้นเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด

โดยนายวราวุธย้ำว่า 25 มาตรการนี้ไม่ใช่พม. คิดแต่เป็น 20 กระทรวงและภาคส่วนอื่นๆ ช่วยกันคิด การแก้โครงสร้างประชากรเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่สามารถมีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งรับเป็นคนแก้ปัญหาได้เพียงแค่คนเดียว แต่ละกระทรวงต้องนำไปแก้ปัญหาของตนเอง ทุกหน่วยงานราชการต้องเข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้

ส่วนในเรื่องของงบประมาณที่จะต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรนั้น นายวราวุธมองว่าตอนนี้อาจจะยังไม่พูดถึงเรื่องงบประมาณของภาครัฐ การสร้างสังคมที่น่าอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรจริงๆ แล้วสิ่งที่ง่ายที่สุดขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนแต่ละครอบครัวด้วย  อย่างเช่นการใช้เวลาร่วมกันแค่อาทิตย์ละครั้ง หรือการทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งขึ้น แน่นอนภาครัฐมีแนวทางการแก้ปัญหามากมาย แต่การทำสังคมน่าอยู่ต้องทำงานร่วมกัน เริ่มจากสถาบันที่เล็กที่สุดคือสถาบันครอบครัว เมื่อครอบครัวเข้มแข็งประกอบกับนโยบายของแต่ละกระทรวงที่จะลงมือทำ มันจะทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้นมา   ส่วนการแก้ปัญหานั้นจะเป็นแผนระยะยาวได้หรือไม่ ตนคิดว่ายาวไม่ได้ ไม่เกิน 5 ปีเพราะปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรกำลังจะระเบิดและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ภาพงานแถลงข่าววันนี้

 

มาตรการช่วยเหลือวัยทำงาน ‘เดอะแบก’ ของสังคม ช่วยค่าใช้จ่าย ลดภาระ

นายวราวุธยังกล่าวเพิ่มเติม เมื่อถามถึงมาตรการที่ได้มาจากการหารือส่วนไหนบ้าง ที่จะช่วยเหลือ ‘วัยทำงาน’ ซึ่งกลายเป็นเดอะแบกของสังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากทั้งบุตรหลานและพ่อแม่ไปพร้อมๆ กันว่า

 

“ เรื่องแรกเลย คือได้พูดคุยกับการเคหะแห่งชาติ ผมได้พูดคุยว่าเราควรมีบ้านให้กับ First Jobber เพราะบ้านเดี๋ยวนี้หลังละ 3-4 ล้านกว่าบาท ในใจกลางกรุงเทพฯ หลังละ 3 ล้านหาไม่ได้แล้ว ซึ่งยังไม่ได้แปลว่าจะสามารถผ่อนได้ เพราะจบปริญญาตรีมาเงินเดือนก็ไม่ได้เท่าไหร่ และครอบคลุมค่าใช้จ่ายเยอะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมจึงขอให้การเคหะแห่งชาติพัฒนาและปรับปรุงที่พักอาศัยในราคาที่จับต้องได้ และคุณภาพดี ไม่ใช่อยู่ในสังคมเสื่อมโทรมหรืออะไรก็ตาม

ประเด็นต่อมาคือการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุมีงานทำ ก็จะมีรายได้มากขึ้น การใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐจะลดลง หรือการแบกภาระของลูก-หลานก็จะลดลง”

 

โดยนายวราวุธย้ำว่า นโยบายหรือมาตรการนั้นควรที่จะทั่วถึง แต่ไม่ถ้วนหน้า โดยมองว่า การช่วยเหลือคนนั้นยากดีมีจนต่างกัน มีคนที่เดือดร้อนมาก เดือดร้อนน้อยแตกต่างกันไป การสนับสนุนคนแต่ละกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ พิการ จะมีกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าคนอื่น หน้าที่ของพม. คือการทำให้ทุกคนสามารถทำงานและอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน บางคนเราต้องช่วยมากกว่าบางคน นี่คือการช่วยเหลือที่จะทำให้คนอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ในที่ประชุมเมื่อวาน นายวราวุธได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ ซึ่งผู้คนจับจ้องไปที่การเพิ่มสวัสดิการรายเดือนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยมองว่าการเพิ่มสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า เช่น การให้เงินเดือนละ 1,000 บาท หรือ 3,000 บาทต่อเดือนเป็นขั้นบันไดไปเรื่อยๆ นั้น เป็นสิ่งที่รัฐไม่สามารถทำได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง กระทบกับเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของรัฐ

 

มั่นใจ 25 มาตรการนี้จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรประเทศไทย

เมื่อถามถึงกรณีที่หลายประเทศทั่วโลกเช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด และมีการออกมาตรการและนโยบายจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหามานานแต่ยังไม่สำเร็จ ประเทศไทยจะสามารถมั่นใจแนวทางนี้ได้อย่างไร นายวราวุธได้ให้ความเห็นว่า

 

“ ผมคิดว่าสาเหตุที่หลายๆ ประเทศยังแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จเพราะการแก้ไขโครงสร้างปัญหาประชากร ไม่ใช่แค่สองคนมาอยู่ด้วยกันและมีลูก มันเป็นสิทธิของบุคคลแต่ละคนที่อยากจะมีลูกหรือไม่ .. มันต้องมีความอยากที่จะมีลูก ซึ่งความอยากมาจากการรู้ว่า สังคมนี้ลูกเกิดมาจะปลอดภัย จะได้เรียน มีสถานเลี้ยงเด็กที่รองรับไม่ต้องกังวล และที่สำคัญคือรู้สึกว่าเมื่อมีครอบครัวแล้ว จะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรจึงไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์  แต่เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมโดยรวมซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

สาเหตุที่หลายประเทศยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้สำเร็จ เพราะการแก้ไขปัญหาสังคมในแต่ละประเทศมีความซับซ้อน มีความเปราะบาง ส่วนประเทศไทยของเรา ผมคิดว่าแผนเหล่านี้จะทำให้สังคมมีความสุขและยั่งยืน หากสามารถผลักดันให้แนวทางเหล่านี้เป็นแนวทางการทำงานให้หน่วยงานราชการต่างๆ ได้ ผมมั่นใจว่าวิกฤตประชากรจะสามารถแก้ไขได้"

 

ภาพงานแถลงข่าววันนี้

 

ทั้งนี้ มาตรการที่ได้มีการรวมรวมและสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการนั้นประกอบด้วย 5 ด้าน 25 มาตรการ ดังนี้

  • กลุ่มวัยทำงาน : เสริมพลังวัยทำงาน

เรื่องสำคัญคือทำให้วัยทำงานสามารถตั้งตัวได้ ดูแลครอบครัวได้ และสูงอายุอย่างมีคุณภาพ โดยมี 5 ประเด็นได้แก่

  1. เสริมศักยภาพการทำงาน Upskill-Reskill
  2. กระจายรายได้สู่พื้นที่และชุมชนอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างงานในท้องถิ่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ในระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การส่งเสริมการออม โดยสร้างแรงจูงใจให้วัยทำงานเรียนรู้จะออมในอนาคต โดยอาจจะเสนอให้มีการออมภาคบังคับเกิดขึ้น
  4. ส่งเสริมสุขภาพของประชากรในวัยทำงาน ตั้งแต่การปรับสถานที่ทำงาน และเสริมสิทธิประโยชน์และหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมวัยทำงานมากขึ้น
  5. ส่งเสริมสมดุลระหว่างการทำงานและครอบครัว เช่น การให้นายจ้างและสถานประกอบการจัดสวัสดิการต่างๆ ให้ลูกจ้าง โดยใช้มาตรการลดภาษีหรือสิทธิประโยชน์แก่นายจ้าง เพื่อให้นายจ้างจัดสวัสดิการที่มากขึ้นและเอื้อการมีครอบครัวของลูกจ้าง เช่น การจัดให้มีการดูแลเด็ก หรือผู้สูงวัยในช่วงเวลาการทำงาน สวัสดิการลาดูแลบุตร และสนับสนุนให้การทำงานในเวลาที่ยืดหยุ่นและทำงานที่ไหนก็ได้มากขึ้น ที่สำคัญคือส่งเสริมบทบาทของผู้ชายและผู้หญิงให้ดูแลบุตรอย่างเท่าเทียมกัน

 

  • กลุ่มเด็กและเยาวชน : เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน

แม้ว่าเด็กจะน้อยลงแต่ต้องส่งเสริมให้มีคุณภาพมากขึ้น ได้แก่

  1. ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
  2. ส่งเสริมเรื่องสุขภาพของเด็กทั้งกายและใจตั้งแต่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงแม่ของเด็กด้วย
  3. จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน และอนุญาตให้รับเด็กในอายุที่ต่ำลง ซึ่งจะสอดคล้องกับการลาคลอดของแม่ที่สามารถลาคลอดได้ตามกฎหมาย 98 วัน โดยการบริหารจัดการจะต้องสนับสนุนให้แต่ละชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ
  4. การพัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพให้เข้ากับวัยและสังคม ให้เท่าทันโลก
  5. ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเรียนตลอดชีวิต เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์แต่ละเจนให้ได้

 

  •  กลุ่มผู้สูงอายุ : สร้างพลังให้ผู้สูงอายุ ผ่อนหนักเป็นเบา
  1. ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี เน้นการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค เพราะใช้งบประมาณมากกว่าการดูแลผู้ป่วยที่ติดเตียงไปแล้ว
  2. ส่งเสริมการจ้างงานและขยายอายุเกษียณ โดยในประเด็นนี้ นายวราวุธกล่าวว่า ควรพิจารณาจากวิชาชีพแต่ละกลุ่มว่ากลุ่มไหนที่ควรจะขยายอายุเกษียณ เพราะ ณ ปัจจุบันกลุ่มที่ทำงานด้านกฎหมายได้ขยายกรอบการเกษียณไปถึงอายุ 70 ปีแล้ว ก็ต้องพิจารณาเป็นกลุ่มๆ ไป รวมไปถึงต้องพัฒนาทักษะใหม่เพื่อทดแทนข้อจำกัดการทำงานของผู้สูงอายุเช่น สถานทำงานหรือชั่วโมงในการทำงาน
  3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุ ให้ชุมชนสามารถดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสถาบันครอบครัว และสร้างสัมพันธภาพที่ดีด้วย
  4. ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมและการเดินทาง
  5. ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยน ข้อมูลผู้สูงอายุทุกมิติ ให้มีหน่วยงานที่จะได้บูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน

 

  • กลุ่มคนพิการ : เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่า
  1. เพิ่มโอกาสทางการศึกษา
  2. เพิ่มการจ้างงาน วันนี้มีกฎหมายไม่ว่าจะทุกพื้นที่จะต้องมีการจ้างานคนพิการร้อยละ 1 ซึ่งปัจจุบันยังมีหลายองค์กรที่ยังไม่ถึงร้อยละ 1 ส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานผู้พิการและปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน
  3. ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม
  4. ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้พิการ โดยใช้หลัก Universal Design
  5. ส่งเสริมการป้องกันการพิการแต่กำเนิดและทุกช่วงวัย

 

  • กลุ่มระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงของครอบครัว
  1. สร้างระบบสนับสนุนครอบครัว โดยข้อนี้จะเน้นไปที่สวัสดิการไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การศึกษา หรือเศรษฐกิจ และมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ
  2. สร้างชุมชนที่น่าอยู่สำหรับคนทุกช่วงวัย ปลอดยาเสพติดและมิจฉาชีพต่างๆ
  3. สร้างบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย อย่างเช่นคนวัยทำงานมีบ้านของตัวเองอย่างปลอดภัย
  4. ส่งเสริมเศรษฐกิจให้เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียม สร้างกลไกการค้ำประกันเพื่อเสริมสภาพคล่องของครอบครัว
  5. ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม

 

“ 5 เสาหลักนี้ กระทรวงพม. ถือว่าเป็น Blue Print ของประเทศไทยที่จะเดินหน้าไปข้างหน้า แน่นอนว่ามีการใช้นโยบายมากมายผลักดันเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ มากมาย แต่ทางพม.เชื่อว่าการจะเดินหน้าไปข้างหน้าได้ บ้าน สังคม และคนทุกเพศทุกวัย จะต้องมั่นคง น่าอยู่ และเป็นสังคมที่สร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ก่อน การจะมีครอบครัวหรือการมีลูก การเพิ่มจำนวนประชากรจึงจะเกิดขึ้นในที่สุด

หัวใจที่สำคัญในวันนี้ไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวนประชากร แต่คือการสร้างสังคมที่พร้อมด้วยความรักและอบอุ่น เปลี่ยนจากสังคมปัจเจกบุคคล เป็นสังคมที่เข้าใจกันและกัน หัวใจของการเพิ่มประชากร คือการสร้างสังคมที่รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยนายวราวุธกล่าวย้ำ

 

ทั้งนี้ 25 มาตรการดังกล่าวจะมีการนำเสนอไปยังครม. ภายในเดือนมีนาคม เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละกระทรวงไปประยุกต์ใช้ต่อไป และในปลายเดือนเมษายนจะมีการนำเสนอต่อ UN ต่อไป