posttoday

แพทย์-นักวิชาการจุฬาฯ เผยเคล็ดลับ กินอย่างไร ‘ชะลอวัยและสุขภาพดี’

02 มีนาคม 2567

แพทย์-นักวิชาการจุฬาฯ เผยเคล็ดลับวิธีการกินเพื่อ ‘ชะลอวัย’ และ ‘สุขภาพดี’ ในผู้สูงอายุ ย้ำควรกินให้หลากหลาย และกินโปรตีนให้เพียงพอ พร้อมเผยวิธีการกินผัก-ผลไม้ให้ครบตามสารพฤกษเคมี ช่วยป้องกันโรคได้!

KEY

POINTS

  • แพทย์ชี้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้น และอาจถึง 120 ปีในอนาคตจำเป็นต้องอายุยืนและสุขภาพดีไปพร้อมกัน
  • หลักการกินชะลอวัย กินไม่ให้เกิดโรคและกินเพื่อให้สุขภาพดี
  • พบผู้สูงวัยมีปัญหาการขาดโปรตีน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • รู้จักสารพฤกษเคมีในผัก-ผลไม้ ช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย

วันนี้ (2 มี.ค.2567) เนชั่น กรุ๊ป ร่วมกับ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเวที Well-Being Talk : Aging Society สุขดี วัยเก๋า เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์การดูแลสุขภาพร่างกายสำหรับผู้สูงอายุ

 

ฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารฯ เนชั่น กรุ๊ป

 

ภายในงาน พญ.จิรา ถาวรประดิษฐ์ ผู้อำนวยการคลินิกรอยัลไลฟ์ เวลเนส กรุงเทพฯ และ รศ.ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและการศึกษา คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจในงานจัดในประเด็นทางด้านศาสตร์การชะลอวัยและโภชนาการในผู้สูงอายุ

 

แพทย์-นักวิชาการจุฬาฯ เผยเคล็ดลับ กินอย่างไร ‘ชะลอวัยและสุขภาพดี’

 

อายุขัยมนุษย์เพิ่มขึ้นจาก 50 ปี และอาจไปถึง 120 ปี ในอนาคต

พญ.จิรา ถาวรประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของศาสตร์การชะลอวัยในปัจจุบันว่า แต่เดิมอายุขัยของมนุษย์ย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วอยู่ที่ 50 ปี แต่ในปัจจุบันสูงขึ้นที่ 70 ปี และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึนเรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งในทางการแพทย์ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 120 ปี จึงเป็นโจทย์ว่าเมื่ออายุขัยนานขึ้น จะทำอย่างไรให้สูงวัยแล้วสุขภาพดีตามไปด้วย

ศาสตร์ชะลอวัย หรือ Anti-aging จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ผู้สูงวัยอาจจะเคยพบว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไร แต่กลับรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เกิดอาการปวดเมื่อยไม่ทราบสาเหตุ สิ่งเหล่านี้แม้ว่าจะกินดี นอนพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่อาการก็ยังไม่หายไปและไม่เพียงพอ

จึงเป็นหน้าที่ของศาสตร์ชะลอวัยที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว บนพื้นฐานความคิดที่ว่าแต่ละคนมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป และมุ่งศึกษาว่าอะไรที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของแต่ละคนมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาอย่างการตรวจหาพันธุกรรม เช่น การตรวจพันธุกรรมการย่อย เป็นต้น

 

 

กินเพื่อชะลอวัยทำอย่างไร? โปรตีนจุดบ่งชี้สำคัญ

พ.ญ.จิรา ถาวรประดิษฐ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การกินเพื่อชะลอวัย มีพื้นฐานง่ายๆ คือ

1. กินอย่างไรไม่ให้เกิดโรค เช่น ไม่กินเยอะเกินไป โดยเฉพาะอาหารประเภท น้ำตาล ไขมัน และแป้ง ซึ่งอาหารประเภทนี้หากรรับประทานเยอะเกินไปก็จะทำให้ก่อโรคเรื้อรังได้อย่าง เบาหวาน มะเร็ง และความดัน

2. กินอย่างไรให้แข็งแรง โดยเริ่มที่การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และทุกอย่างใน 5 หมู่นั้น ต้องกินให้สมดุลกัน โดยปัจจุบันพบว่าการรับประทานโปรตีนเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เพราะทานไม่เพียงพอ และจะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของกล้ามเนื้อตามมา เมื่อเกิดกล้ามเนื้อไม่พอ ก็จะส่งผลถึงการขยับร่างกายยากขึ้น เมื่อขยับร่างกายไม่ได้ ก็จะส่งผลให้การเผาผลาญน้อยลงไขมันแทรกซึมไปตามกล้ามเนื้อตามลำดับ จนก่อให้เกิดโรคตามมา

 

สารพฤกษเคมี สารในผัก-ผลไม้ เคล็บลับป้องกันโรค

ด้าน รศ.ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและการศึกษา คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องโภชนาการผู้สูงวัยว่า  เมื่อสำรวจเมืองที่เรียกว่า Blue Zone คือเมืองที่มีประชากรอายุยืน และพบว่าปัจจัยการกินมีส่วนต่อการอายุยืนเป็นอย่างมาก โดยพฤติกรรมการกินที่ดีนั้นจะมีหลักการง่ายๆ คือ

1. กินให้หลากหลาย ไม่ซ้ำไปซ้ำมา แม้ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ก็ต้องเลือกทานโปรตีนที่มาจากอาหารที่มีความหลากหลาย

2. ผัก-ผลไม้ ตามหลักพฤกษเคมี โดยให้กินผัก-ผลไม้ วันละ 5 กำมือ และควรจะมีผัก-ผลไม้ที่มีสีหลากหลาย ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการต้านอนุมูลอิสระ 

3. การทานข้าว - ขนมปังที่ไม่ขัดสี หรือไม่ใช่สีขาว จำพวก ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตประเภทนี้จะมีใยอาหารสูง ชะลอการเกิดเบาหวานและคลอเลสเตอรอลสูง ชะลอการเกิดโรคเรื้อรัง และมีวิตามินครบถ้วน

4.รับประทานโปรตีนให้เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ นม ไข่ ซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพดี แต่หากทานมังสวิรัติ ก็ต้องเลือกทานโปรตีนที่มีความหลากหลายของแหล่งที่มา

5.ออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลาเช้า-เย็น เพื่อจะได้รับวิตามิน D จากแสงแดด ซึ่งวิตามิน D ในเลือดนั้นจะเป็นตัวเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น ทำให้กระดูกแข็งแรง

6.บรรยากาศภายในบ้านเวลารับประทาน อย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุทานอาหารเพียงลำพัง เพื่อให้การทานอาหารมีความสุข และอร่อย ทานได้เยอะมากยิ่งขึ้น