posttoday

การผ่าตัดส่องกล้องไร้สาย หุ่นยนต์สายสวนพลังแม่เหล็ก

04 มีนาคม 2567

การผ่าตัดส่องกล้องที่เรารู้จักคือ การผ่าตัดโดยการกรีดแผลขนาดเล็กแล้วสอดสายสวนที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเข้าไปในร่างกายเพื่อทำการผ่าตัด แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้น หุ่นยนต์สายสวนพลังแม่เหล็ก ที่ช่วยให้ผ่าตัดส่องกล้องไร้สายได้

แน่นอนว่าตามปกติคงไม่มีใครอยากเข้ารับการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น นอกจากเจ็บตัวจากบาดแผลผ่าตัดยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งผลจากการผ่าตัดหรืออาการแทรกซ้อนอื่นที่ตามมา นี่จึงเป็นตัวเลือกอันดับท้ายที่ผู้ป่วยหลายคนพยายามหลีกเลี่ยง

 

          อย่างไรก็ตามสำหรับโรคภัยบางชนิดผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดได้ นำไปสู่การพัฒนาวิธีผ่าตัดรูปแบบใหม่อย่างการผ่าตัดส่องกล้อง ที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิดโดยสร้างภาระและความเสี่ยงทางสุขภาพต่อคนไข้น้อยกว่า จึงได้รับความนิยมในการใช้งานทั่วไป

 

          ล่าสุดมีการพัฒนาหุ่นยนต์สายสวนรุ่นใหม่มาแล้วก็จริง แต่จะขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับผ่าตัดส่องกล้องกันเสียหน่อย

 

การผ่าตัดส่องกล้องไร้สาย หุ่นยนต์สายสวนพลังแม่เหล็ก

 

ผ่าตัดส่องกล้อง ทางเลือกลดเวลาฟื้นตัว

 

          การผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Laparoscopy คือ อีกหนึ่งรูปแบบการผ่าตัดที่อาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยจะทำการกรีดผ่าเปิดปากแผลในระดับ 5 – 10 เซนติเมตรเป็นจำนวน 1 – 4 แผล จากนั้นจึงนำอุปกรณ์ผ่าตัดรวมถึงกล้องที่มีลักษณะคล้ายท่อยาวขนาดเล็กสอดเข้าสู่ร่างกายเพื่อทำการผ่าตัด

 

          จุดเด่นของการผ่าตัดส่องกล้องอยู่ที่บาดแผลที่เกิดกับผู้ป่วยมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับการผ่าตัดทั่วไป ร่างกายเกิดความเสียหายน้อยทำให้ความเจ็บปวดจากบาดแผลลดลง เช่นเดียวกับระยะเวลาฟื้นตัวจากการผ่าตัดกินเวลาน้อย ช่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเร็วขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงติดเชื้อและอาการแทรกซ้อนอื่นอีกด้วย

 

          จริงอยู่การผ่าตัดส่องกล้องอาจไม่สามารถใช้งานกับอาการป่วยทุกรูปแบบ กรณีผู้ป่วยโรคปอดหรือหัวใจขั้นรุนแรงยังคงจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดช่องอก หรือผู้ป่วยที่มีพังผืดในร่างกายมากอาจไม่สามารถผ่าตัดสอดกล้องได้ก็จริง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอาการบาดเจ็บและระยะเวลาพักฟื้นที่ลดลง นี่จึงเป็นแนวทางผ่าตัดที่ได้รับความนิยมทั่วไป

 

          ปัจจุบันการผ่าตัดสอดกล้องสามารถใช้ในการรักษาโรคหลากหลายรูปแบบ ทั้งไส้เลื่อน, ไส้ติ่ง, ลำไส้ใหญ่, กระเพาะอาหาร, ต่อมลูกหมาก, นิ่วในถุงน้ำดี, เนื้องอก, มะเร็งในระยะเริ่มต้น ไปจนโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองทั้งหลาย

 

          อย่างไรก็ตามโดยพื้นฐานสายสวนต้องสอดเข้าไปในร่างกาย ก็อาจเกิดปัญหาในกรณีทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดได้ เช่น กรณีหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบและอุดตัน การสอดกล้องมักทำได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยเวลาและทักษะความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหารักษาผู้ป่วยไม่ทันท่วงที

 

          นำไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์สายสวนที่ขับเคลื่อนโดยสนามแม่เหล็กขึ้นมาในที่สุด

 

การผ่าตัดส่องกล้องไร้สาย หุ่นยนต์สายสวนพลังแม่เหล็ก

 

หุ่นยนต์สายสวนพลังแม่เหล็ก สู่การผ่าตัดสอดกล้องไร้สาย

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Eidgenossische Technische Hochschule Zurich กับการคิดค้นสายสวนสำหรับการผ่าตัดส่องกล้องชนิดใหม่ มาสู่หุ่นยนต์สายสวนที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อสายยืดยาวแบบสายสวนรุ่นเก่าอีกต่อไป แต่สามารถบังคับเคลื่อนไหวอย่างอิสระได้จากสนามแม่เหล็ก

 

          แนวคิดเริ่มจากปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือด โดยมากตำแหน่งเปิดแผลในการสอดกล้องมักเริ่มต้นจากเส้นเลือดใหญ่ที่ขา ทำให้การสอดกล้องส่งไปถึงตำแหน่งที่ต้องการทำได้ยาก ระยะทางไกลทำให้ต้องใช้เวลานาน แพทย์ผู้ใช้งานต้องมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งการสอดกล้องเข้าไปลึกก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้หลอดเลือดเสียหายจนอาจกลายเป็นภาวะแทรกซ้อน นี่จึงเป็นวิธีรักษาที่ใช้งานยากโดยเฉพาะกับผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจและสมอง

 

          เพื่อแก้ไขปัญหาทางทีมวิจัยจึงได้เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์สายสวนขึ้นมา ด้วยจุดเด่นในด้านการบังคับควบคุมแบบไร้สาย ทำให้แม้จะถูกส่งเข้าไปลึกในร่างกายก็ส่งเข้าไปได้โดยไม่เกิดผลกระทบกับร่างกายเท่าสายสวนทั่วไป และสามารถมุ่งตรงไปยังตำแหน่งที่เกิดการตีบหรืออุดตันอย่างรวดเร็ว

         

          ตัวหุ่นได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปทรงเกลียวคล้ายสกรู เหมาะสำหรับการเคลื่อนที่แบบหมุนจึงเคลื่อนไหวไปตามหลอดเลือดในร่างกายได้สะดวก พื้นผิวยังได้รับการออกแบบให้อ่อนนุ่มเพื่อลเกิดการบาดเจ็บต่อหลอดเลือด และส่วนที่เป็นไฮไลท์คือระบบควบคุมไร้สายที่ทำงานโดยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

 

          ระบบควบคุมผ่านสนามแม่เหล็กไฟฟ้าช่วยให้แพทย์เจ้าของไข้บังคับตัวหุ่นจากระยะไกล ช่วยลดปัญหาทั้งในด้านการส่งเข้าสู่ร่างกาย เพิ่มความคล่องตัว ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเกร็งหรือหดตัวหลอดเลือดระหว่างการผ่าตัด อีกทั้งสนามแม่เหล็กยังทำให้เกิดการบาดเจ็บน้อยกว่าการใช้สายสวนทั่วไปอีกด้วย

 

          จุดเด่นสำคัญอีกอย่างคือ หุ่นยนต์สายสวนนี้สามารถสอดเข้าไปผ่าน trans-radial artery ซึ่งเป็นหลอดเลือดแขนที่ใกล้กับหัวใจ ช่วยให้สามารถเข้าถึงตำแหน่งที่เกิดการบาดเจ็บในกรณีหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติของผู้ป่วยได้อีกมาก

 

 

 

          อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์สายสวนนี้ยังคงอยู่ในขั้นระหว่างการพัฒนา มีเพียงการทดลองใช้งานในแบบจำลองเนื้อเยื่อมนุษย์และสัตว์เท่านั้น แม้ในการทดสอบจะใช้ในการผ่าตัดสอดกล้องได้อย่างปลอดภัย ก็ยังต้องได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มเติมก่อนนำมาใช้จริง

 

          แต่วันใดที่หุ่นยนต์สายสวนประสบความสำเร็จการรักษาโรคหลอดเลือดของเราจะถูกยกระดับขึ้นอีกมาก

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.vimut.com/article/minimally-invasive-surgery

 

          https://www.phukethospital.com/th/center/surgery-center/mis-surgery/

 

          https://www.science.org/doi/10.1126/scirobotics.adh0298