posttoday

ตัวเลขเด็ก LD ไทยสูง สวนทางความเข้าใจต่อพฤติกรรม ‘อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้’

27 กุมภาพันธ์ 2567

โพสต์ทูเดย์ชวนสังเกตพฤติกรรมและเข้าใจลูกหลานในบ้านมากยิ่งขึ้น เพราะ ‘อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้’ อาจเป็นสัญญาณของการป่วยโรค LD ไม่ใช่ผลจากสติปัญญา!

ลูก-หลาน เรียนไม่รู้เรื่อง มีผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนค่อนข้างต่ำ เรียนรู้ได้ช้ากว่าเพื่อนในชั้นอย่างชัดเจน ผู้ปกครองได้รับรายงานจากครูประจำชั้นเรื่องการเรียนและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กที่เป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้คืออาการเบื้องต้นซึ่งผู้ปกครอง ครู รวมถึงผู้ที่แวดล้อมเด็กควรจะตั้งข้อสงสัยต่อพฤติกรรมดังกล่าว ก่อนที่จะกล่าวโทษด้านสติปัญญาว่า ‘คงเป็นเพราะไม่ฉลาด’ และวางเฉย

ซึ่งจากสถิติทั่วโลกตรงกันว่าร้อยละ 5 ของเด็กชั้นประถมเป็นโรค LD โดยจะพบแบบรุนแรงร้อยละ 1-2 ซึ่งอัตราที่พบใกล้เคียงกันระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่พบว่าเด็กผู้ชายจะเข้าถึงการรักษามากกว่า เพราะมีพฤติกรรมดื้อและซน ส่วนผู้หญิงจะเรียบร้อยจึงไม่ได้รับการสังเกต

 

ในขณะเดียวกันเด็กที่เป็น LD มักจะมีความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร รวมถึงมีสมาธิสั้น มีปัญหาด้านการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตาร่วมด้วย

 

ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับประเทศไทยก็คือ เด็กที่ป่วยเป็น LD เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองไม่ได้มีเวลา และมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก มองว่าเด็กเองมีพฤติกรรมไม่สนใจและไม่มีสมาธิต่อการเรียน เป็นเด็กดื้อและเกเร จนถูกเพิกเฉยและไม่ได้รับการรักษาและพัฒนาอย่างตรงจุด ...

 

โดยปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลต่อตัวตนของเด็ก ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนคนอื่น รวมไปถึงรู้สึกว่าเป็นคนที่ล้มเหลวในอนาคตได้ … โพสต์ทูเดย์ จึงอยากจะชวนทุกคนให้ทำความเข้าใจโรค LD มากยิ่งขึ้น

 

LD คืออะไร?

LD ย่อมาจาก Learning disorder หรือ โรคการเรียนรู้บกพร่อง เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์  ซึ่งเป็นการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง แม้ว่าเด็กจะมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นๆ ปกติดี บางครั้งเด็ก LD หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเองหากสามารถพัฒนาได้ตรงจุด

โดยมีสาเหตุของโรคมาจาก การทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา  นอกจากนี้ร้อยละ 50 มาจากกรรมพันธุ์ มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีปัญหาเดียวกัน รวมไปถึงความผิดปกติของโครโมโซม

 

สำหรับโรค LD มีลักษณะ 3 ด้าน ได้แก่

  • ความบกพร่องด้านการอ่าน  พบได้มากที่สุดของเด็ก LD ตามสถิติเด็ก 100 คนจะมีอัตราการพบอยู่ที่ 5 คนโดยเด็กจะบกพร่องด้านการจำ ขาดทักษะในการสะกดคำ จำตัวพยัญชนะและสระไม่ได้ จึงอ่านไม่ออกและอ่านช้า อ่านไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้
  • ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ   เช่น เขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง เรียงลำดับอักษรผิด ทำให้เขียนหนังสือและสะกดคำผิด
  • ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ เช่น ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน จำสูตรคูณไม่ได้ ใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ไม่ได้ ไม่สามารถบวก ลบ คูณ หารได้

 

รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์

การแก้ไขปัญหาในหลากหลายมิติ

รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางจิตเวช BMHH ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญคือพ่อแม่และสังคมต้องมีความเข้าใจเด็กที่เป็น LD ว่าเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ได้เรียนหนังสือไม่ได้ และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา เพื่อช่วยกันหาวิธีการเรียนรู้และพัฒนาเด็กให้ได้เหมาะสมมากที่สุด

“ เด็ก LD ต้องการความช่วยเหลือตั้งแต่วัยเล็กๆ เพื่อช่วยให้เชื่อว่าเขาทำได้ ไม่ได้เป็นคนล้มเหลว รวมถึงหาความสามารถพิเศษร่วมไปด้วยและต้องมีการฝึกฝน ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีทีมช่วยเหลือที่เข้มแข็ง คุณครูต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี เพื่อคัดกรองและประเมินเด็ก โดยรวมคือทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกัน ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียนและผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม .. นอกจากนี้ส่วนที่สำคัญคือการช่วยเหลือแต่ละครั้งต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาทำได้ และมีพัฒนาการ เพื่อสร้างกำลังใจและทำให้เด็กภูมิใจในตัวเอง

 

ทั้งนี้ แม้เด็กที่เป็น LD จะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากคนรอบข้างมีความเข้าใจในโรคของเด็ก ก็จะสามารถช่วยสอนเสริมในทักษะที่บกพร่องและสามารถปรับตัวได้ เพราะเด็ก LD บางคนมีความอัจฉริยะและสามารถเติบโตขึ้นเป็นแพทย์ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้

โดยพบว่าการสอนย่อย หรือเพิ่มเติมจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะเพิ่มเติมได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมไปถึงโรงเรียนสามารถทำแผนการเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กได้ ก็จะสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้  นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมทักษะด้านอื่นที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น