posttoday

มาเป็นกองทัพ!! OFFSET สู่วันที่เราบังคับโดรน 250 ลำได้พร้อมกัน

20 กุมภาพันธ์ 2567

โดรน ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น หลายท่านอาจเชี่ยวชาญการบังคับโดรนผ่านรีโมทจนสามารถควบคุมได้คล่องแคล่ว แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการพัฒนาระบบ OFFSET ที่ให้เราควบคุมโดรนสูงสุด 250 ลำพร้อมกัน

เชื่อว่าปัจจุบันทุกท่านต้องเคยเห็นหรือผ่านตาอุปกรณ์ประเภทโดรนไม่มากก็น้อย อากาศไร้คนขับช่วยส่งข้าวของอุปกรณ์ทั้งหลายขึ้นสู่ฟ้าโดยไม่ต้องพึ่งพาอากาศยานขนาดใหญ่ เปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวิชาชีพและอุตสาหกรรมมากมายในตลาด

 

          รูปแบบโดรนที่มีการใช้งานจนคุ้นตามักอาศัยการบังคับควบคุมจากระยะไกลผ่านรีโมทหรือคอนโทรลเลอร์ เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยให้แก่การปฏิบัติงานหลายรูปแบบ แต่จากที่เห็นเราย่อมเดาได้ไม่ยากว่า การควบคุมโดรนแบบนี้ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญและสมาธิเป็นอย่างมาก จึงมักพบเห็นการบังคับควบคุมโดรนหนึ่งลำต่อผู้ใช้งานหนึ่งคน

 

          แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถบังคับควบคุมโดรนนับร้อยลำได้พร้อมกัน

 

มาเป็นกองทัพ!! OFFSET สู่วันที่เราบังคับโดรน 250 ลำได้พร้อมกัน

 

OFFSET ระบบที่ช่วยให้เราบังคับโดรน 250 ลำพร้อมกัน

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Oregon State University ร่วมกับ Defense Advanced Research Projects Agency(DARPA) กับความพยายามในการลดภาระการบังคับควบคุมโดรนแต่ละลำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการใช้โดรน สู่การพัฒนาโปรแกรมรุ่นใหม่ที่ผู้ใช้งานสามารถบังคับโดรนจำนวนมากได้สูงสุด 250 ลำพร้อมกัน

 

          แนวคิดนี้เริ่มต้นจากการพัฒนาโดรนสำหรับตรวจสอบพื้นที่ ในกรณีไม่สามารถใช้งานภาพถ่ายดาวเทียมและบริเวณดังกล่าวมีโครงสร้างซับซ้อน มีความพยายามในการส่งโดรนจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่ แต่ด้วยข้อจำกัดของโดรนที่ผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถบังคับโดรนได้ครั้งละลำ ในกรณีพื้นที่กว้างจึงสามารถทำได้ยาก

 

          นำไปสู่การพัฒนาระบบ Offensive Swarm-Enabled Tactics (OFFSET) ระบบควบคุมโดรนรุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานควบคุมโดรนจำนวนมากได้พร้อมกัน ขีดความสามารถสูงสุดที่ระบบได้รับการออกแบบคือสามารถควบคุมโดรนได้พร้อมกันถึง 250 ลำ

 

          แน่นอนว่าระบบ OFFSET ไม่ใช่การให้ผู้ใช้งานเข้าไปบังคับสั่งการโดรนทีละลำนั่นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้ ตัวระบบจะทำการควบคุมอัตโนมัติโดยคร่าว เช่น การสั่งบิน ลอยตัว หรือรักษาระดับสูง ในขณะที่ผู้ใช้งานมีหน้าที่สั่งการเพิ่มเติมอย่าง กำหนดจุดหมาย ความสูงในการบิน หรือรายละเอียดกว้างๆ เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานต่อไป

 

          ตัวระบบสามารถเชื่อมต่อข้อมูลที่ได้รับการส่งผ่านมาจากโดรนแต่ละลำแบบเรียลไทม์ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาแสดงผลในรูปแบบ Virtual reality ผ่านระบบ I3 เพื่อแสดงภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นออกมาชัดเจน ช่วยให้ผู้ใช้งานกำหนดทิศทาง ตัดสินใจในสถานการณ์จริง และถ่ายทอดคำสั่งลงไปอย่างแม่นยำ

 

          รูปแบบการทำงานดูคล้ายเกมวางแผนการรบ(RTS) แต่ด้วยวิธีนี้อาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถการใช้งานโดรนในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมาก

 

มาเป็นกองทัพ!! OFFSET สู่วันที่เราบังคับโดรน 250 ลำได้พร้อมกัน

 

ประโยชน์ในการใช้งานไม่จำกัดแค่การทหาร

 

          หลายท่านอาจตั้งคำถามว่าในเมื่อโดรนส่วนมากทำงานอัตโนมัติทำไมจึงต้องมีมนุษย์กำกับควบคุม ในเมื่อโดรนสามารถทำการบิน รักษาระดับ และควบคุมความเร็วได้เอง เหตุใดจึงไม่หันไปพัฒนาระบบโดรนอัตโนมัติมากกว่าจะเพิ่มขีดความสามารถควบคุมของคนเรา

 

          อันที่จริงนี่ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ผิดโดรนบางส่วนเองก็ถูกออกแบบให้ทำงานอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนควบคุม แต่โดรนเหล่านั้นมักได้รับมอบหมายในการปฏิบัติงานที่เรียบง่าย เช่น โดรนกำจัดศัตรูพืช, โดรนฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตร, โดรนตรวจการณ์, โดรนตรวจสอบสภาพอากาศ ฯลฯ

 

          แต่สำหรับปฏิบัติการละเอียดอ่อนการอาศัยระบบอัตโนมัติอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ อย่างโดรนขนส่ง โดรนควบคุมอัคคีภัย ไปจนโดรนกู้ภัย ที่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอย่างละเอียดอ่อนเพื่อรับมือสถานการณ์ผันผวน การตัดสินใจเฉพาะหน้าเหล่านี้เองที่เครื่องจักรไม่สามารถแทนที่ได้ การควบคุมโดยมนุษย์จึงยังจำเป็น

 

          จุดเด่นสำคัญของระบบ OFFSET คือ ช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมโดรนจำนวนมากได้พร้อมกัน สะดวกต่อการบังคับควบคุมปฏิบัติหน้าที่จากระยะไกล อีกทั้งยังสามารถใช้งานร่วมกับทั้งโดรนใบพัดสำหรับใช้งานทางอากาศ รวมถึงโดรนสี่ล้อสำหรับเคลื่อนไหวภาคพื้นดินพร้อมกัน รองรับปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบ

 

          ด้วยการสนับสนุนโดยตรงจากทาง DARPA ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นรองรับสำหรับใช้งานทางการทหารโดยเฉพาะ แต่ด้วยคุณสมบัติในการเข้าสำรวจพื้นที่รกร้างซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากปฏิบัติการทางทหารแล้ว นี่จึงเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้งานเพื่อการสำรวจ ช่วยเหลือ และกู้ภัยในกรณีเกิดภัยพิบัติได้เช่นกัน

 

          อีกทั้งไม่เพียงแค่ในด้านการกู้ภัยหรือช่วยเหลือเท่านั้น ในอนาคตระบบ OFFSET อาจถูกนำไปใช้งานได้ในหลายสาขา ทั้งในด้านการขนส่งพัสดุ, การตรวจตรารักษาความปลอดภัย, การถ่ายภาพมุมสูง, การแสดงโชว์ หรือแม้แต่การคมนาคมต่างๆ ที่อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนขับที่อยู่ตรงนั้นอีกต่อไป

 

          OFFSET จึงอาจเป็นระบบหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมและธุรกิจหลายรูปแบบในอนาคต

 

 

 

 

          อย่างไรก็ตามระบบควบคุมนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา โดยปัจจุบันการทดสอบต่อผู้ใช้งานแต่ละคนยังสามารถบังคับโดรนได้สูงสุดอยู่ที่ราว 100 ลำ ถือเป็นระดับที่ทำให้ผู้ใช้งานเริ่มเกิดความตึงเครียดและความท้าทาย แต่ยังไม่มีใครสามารถใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถสูงสุดของระบบได้

 

          ที่เหลือคงต้องรอดูต่อไปว่าระบบนี้จะได้รับการพัฒนาให้นำออกมาใช้งานจริงหรือไม่

 

 

 

          ที่มา

 

          https://today.oregonstate.edu/news/one-person-can-supervise-%E2%80%98swarm%E2%80%99-100-unmanned-autonomous-vehicles-osu-research-shows

 

          https://www.darpa.mil/program/offensive-swarm-enabled-tactics