posttoday

วิจัยจุฬาฯ เผยแรงงานอาชีวะไทยทักษะโดดเด่น ถูกใจผู้ประกอบการไทย-เทศ

14 กุมภาพันธ์ 2567

วิจัยจุฬาฯ ชี้เอกลักษณ์แรงงานอาชีวะไทยทักษะโดดเด่น ช่วยไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หากได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง

KEY

POINTS

 

 

สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม “คนไทย 4.0” (เท่าทันโลก มีคุณธรรม และสมรรถนะ) รศ.ดร.จุลนี พร้อมด้วยดร.กุลนิษฐ์ สุธรรมชัย และคณะ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทยใน 3 อุตสาหกรรมหลัก: การวิเคราะห์ผ่านแผนที่เส้นทางการก้าวเข้าสู่แรงงานอาชีวศึกษาไทย ภายใต้แนวคิดความปกติใหม่”  ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึง พฤษภาคม 2565 ซึ่งผลการศึกษาวิจัยสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาไทย จุดเด่น-เอกลักษณ์อาชีวะไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน ซึ่งน่าส่งเสริมยกระดับให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อพัฒนาแรงงานสายอาชีพของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ทักษะ (Up-Skill) และการสร้างอาชีพใหม่ เป็นต้น 

วิจัยจุฬาฯ เผยแรงงานอาชีวะไทยทักษะโดดเด่น ถูกใจผู้ประกอบการไทย-เทศ

จุดเด่นนักเรียนอาชีวะ: ความรู้คู่ทักษะ ประสบการณ์เพียบ 

รศ.ดร.จุลนีกล่าวว่าอาชีวศึกษาเป็นทางเลือกที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าการเรียนสายสามัญเลย หรืออาจจะได้เปรียบกว่าด้วยซ้ำ เมื่อเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในปีที่ทำวิจัย สายอาชีวศึกษาในประเทศไทยมีการเรียนการสอนกว่า 11 ประเภทวิชา และจำนวนสาขาวิชาที่เปิดสอนกว่า 93 สาขาวิชา ซึ่งสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้หลากหลาย ปัจจุบันมีถึง 102 สาขาวิชา

“อาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง นักเรียนสายอาชีวศึกษามีทั้ง “ความรู้” และ “ทักษะ” ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ผ่านการเรียนรู้แบบ “ฝึกฝนลงมือทำ” จึงเกิดทักษะ ทั้ง “Hard Skills และ Technical Skills” รศ.ดร.จุลนีกล่าวจุดเด่นของการเรียนอาชีวะ 

นอกจากนั้น ด้วยความที่ได้รับโอกาสในการฝึกฝนลงมือปฏิบัติทั้งในโรงเรียนและในสถานประกอบการ นักเรียนอาชีวะจึงได้พัฒนาทักษะและสมรรถนะสำคัญ (Soft Skills) ที่ไม่ใช่ทักษะอาชีพโดยตรงด้วย เช่น ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ ความเข้มแข็งอดทน การรับมือกับความกดดันในโลกแห่งความเป็นจริง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ การมีใจรักในการให้บริการ – ทักษะเหล่านี้เสริม “ความพร้อม” และ “ความชำนาญ” ในการปฏิบัติงาน ซึ่งทำให้นายจ้างและผู้ประกอบการมั่นใจที่จะจ้างงานนักเรียนอาชีวะ ด้วยความเชื่อมั่นว่านักเรียนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้เร็วและต่อยอดงานได้ทันที 

เอกลักษณ์โดดเด่นของแรงงานอาชีวศึกษาไทย ต้องใจทั่วโลก

แรงงานอาชีวศึกษาไทยมีเอกลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับและต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ดร.จุลนีกล่าวว่า ได้มาจากบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยนั่นเอง 

“แรงงานอาชีวะศึกษาของไทยไม่เป็นสองรองใครในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ลักษณะงานต้องใช้ทักษะฝีมือและความชำนาญสูง แรงงานอาชีวศึกษาไทยจะยิ่งมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ อาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ศิลปกรรม และอาหาร แรงงานอาชีวศึกษาไทยมีทักษะฝีมือดี จนบริษัทต่างชาติให้การยอมรับและจ้างไปทำงาน” 

“สิ่งที่แรงงานอาชีวะของไทยแตกต่างจากแรงงานอาชีวะจากประเทศอื่น ได้แก่ การมีความคิดในการประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์หรือดัดแปลงใหม่ให้ตอบโจทย์บริบทของท้องถิ่นมากขึ้น”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว แรงงานอาชีวะไทยจัดได้ว่ามีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาด

รศ.ดร.จุลนีกล่าวแนะว่า “หากนักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนโดยการเพิ่มทักษะความรู้เฉพาะทางของแต่ละสาขา รวมถึงการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้นักเรียนและแรงงานอาชีวะไทยมีความโดดเด่นอย่างก้าวกระโดด”

แนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษาไทย

ผลการวิจัยได้ให้ข้อเสนอโดยภาพรวม ที่จะช่วยให้อาชีวศึกษาไทยพัฒนาไปได้มากกว่านี้ และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาให้ดียิ่งขึ้นในสังคม เป็นต้นว่า

  • สร้างสถาบันอาชีวศึกษาเฉพาะทางของสาขาอาชีพและพัฒนาให้โดดเด่น ได้มาตรฐานนานาชาติและมีชื่อเสียงระดับโลก 
  • เพิ่มการออกข่าวในด้านดีและความสำเร็จของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้คนในสังคมเห็นความสามารถของนักเรียนอาชีวศึกษาในแขนงต่าง ๆ รวมทั้งการนำผลงานของนักเรียนที่ไปประกวดชนะการแข่งขันในระดับต่าง ๆ มานำเสนอให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชน ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่ไม่ใช่แค่ข่าวโทรทัศน์ อาจจะเป็นสื่อในรูปแบบละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ต่าง ๆ ที่สอดแทรกบทบาทของอาชีวศึกษาในทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
  • มีระบบการดูแลสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่มีฝีมือหรือเคยชนะการประกวดได้รางวัลให้ได้ทำงานกับองค์การระดับต้น ๆ ของไทย หรือให้ทุนไปดูงานในต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้นำความรู้มาต่อยอดได้ 
  • สร้างความผูกพันระหว่างอาชีวศึกษากับชุมชน ผ่านการส่งเสริมให้อาชีวศึกษากับชุมชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตนเอง 

นอกจากนี้ รศ.ดร.จุลนีได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐและเอกชน อาทิ 

ด้านงบประมาณ รัฐควรให้การสนับสนุนสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในด้านงบประมาณ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็นและมีความทันสมัย ตลอดจนให้ทุนการศึกษา 

ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ควรให้ความสำคัญกับการสอนภาษาต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้จริง โดยเฉพาะทักษะการพูด สนับสนุนการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่หลากหลายและตอบโจทย์ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ทั้งนี้ หลักสูตรอาชีวศึกษาควรมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ควรให้สถานประกอบการเข้ามามี      ส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและมาเป็นวิทยากรพิเศษสอนนักเรียนในสถาบันอาชีวศึกษา 

นอกจากนี้ รศ.ดร.จุลนีได้กล่าวเพิ่มเติมว่าภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสถาบันอาชีวศึกษา ควรร่วมมือกันสร้างระบบที่เป็นโปรแกรมพัฒนาและดูแลนักเรียนอาชีวะผู้มีศักยภาพ (Talent Incubation) ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถติดตามแรงงานอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จให้กลับมาเป็นรุ่นพี่ที่ให้ข้อมูลรุ่นน้อง เป็นการสร้าง Role Model สร้างแรงจูงใจจากผู้ประสบความสำเร็จจริง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาชีวศึกษาได้อีกทางหนึ่งด้วย