posttoday

กฟผ. ชี้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาบุคลากร ต่อยอดความมั่นคงด้านพลังงาน

12 กุมภาพันธ์ 2567

รังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชี้ กฟผ.ดันใช้เทคโนโลยีพัฒนาบุคลากร พลิกโฉมรัฐวิสาหกิจแบบเดิมๆ ต่อยอดรากฐานให้กับธุรกิจอื่นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

Post Today และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมนา Post Today Thailand Economic Drive 2024 ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567 ณ โรงแรม แกรนด์ อีสติน พญาไท วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 12.00-16.00 น.

ใน Session: New Business กับการขับเคลื่อนธุรกิจ เมื่อถามว่ามุมมองที่มีต่อ New Business คืออะไร คุณรังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในมุมมองของเอกชน New Business อาจหมายถึงสิ่งใหม่ๆที่ช่วยสร้าง Growth ให้กับธุรกิจ แต่ในมุมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งเราเป็นหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน แต่เดิมเราก็ผลิตไฟขายไฟ แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะพยายามหาอะไรใหม่ๆก็ตาม เรายังจะต้องเป็นฐานสำหรับการเติบโตให้กับประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคง เป็นฐานให้กับธุรกิจอื่นๆในการต่อยอดความมั่นคงด้านพลังงานที่มีอยู่

กฟผ. ชี้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาบุคลากร ต่อยอดความมั่นคงด้านพลังงาน

สำหรับธุรกิจใหม่ เราได้อาศัยความรู้ทางเทคโนโลยี และความร่วมมือจากพันธมิตร เพื่อสร้างบุคลากรให้มี Mindset ใหม่ๆ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแบบดั้งเดิม

เมื่อถามถึงอุตสาหกรรมในบ้านเราซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ปิโตรเคมี อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นอุตสาหกรรมเก่า แล้วการปรับตัวของธุรกิจสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

คุณรังสินี ระบุว่า ในส่วนของกฟผ. เรายังมุ่งมั่นในการเป็นรากฐานด้านพลังงาน ซึ่งกฟผ.ไม่ได้มีแค่หน่วยงานเดียว ซึ่งแต่ละหน่วยงานย่อยทำหน้าที่ที่หลากหลายตั้งแต่ Power Generation, LNG, Green Fuel, Renewable Energy, Transmission & Smart Grid, EV ซึ่งในเรื่อง EV Energy เป็นส่วนหนึ่งที่กฟผ.เริ่มดำเนินการมาหลายปี ตั้งแต่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีความกังวลเรื่องสถานีชาร์จ ขณะที่ภาคธุรกิจก็ยังไม่มั่นใจมากนักที่จะลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ ซึ่งกฟผ.เปรียบเสมือนฟันเฟืองส่วนหนึ่งในยุคแรกๆที่กล้าลงทุนและช่วยขับเคลื่อนให้การใช้รถไฟฟ้ามีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น 

เป้าหมายทางธุรกิจ (Roadmap) ของกฟผ.คือการเป็น Regional Green Energy ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเรามีโปรเจคโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังน้ำกับตัวโซลาร์บนผืนน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสีเขียวและมีผู้ให้ความสนใจร่วมลงทุนมากมาย

นอกจากนี้ในปี 2050 กฟผ.ยังตั้งเป้าในการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้วยแผน Triple S ได้แก่

  1. Sources Transformation : เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต
  2. Sink Co-Creation : เพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน 
  3. Support Measures Mechanism : สนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คำปรึกษาด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ