posttoday

คืบหน้า! ยารักษาอัลไซเมอร์จากตำรับยาสมุนไพรไทย ความหวังในยุคสังคมสูงวัย

12 กุมภาพันธ์ 2567

ส่องความคืบหน้า นักวิจัยไทยพัฒนายารักษาอัลไซเมอร์จากตำรับยาสมุนไพร ชี้อัลไซเมอร์คือโรคที่รักษาไม่หาย และเป็นความท้าทายของนักวิจัยทั่วโลกเนื่องจากปัจจุบันขาดยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา

อัลไซเมอร์ รักษาไม่หายทำได้เพียงชะลอให้ช้าลง

 

เภสัชกรณัฐดนัย มุสิกวงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หนึ่งในทีมวิจัยได้อธิบายถึงความคืบหน้าของการวิจัยเพื่อหายารักษาโรคอัลไซเมอร์ว่า

 

ปัจจุบันโรคอัลไซเมอร์ยังเป็นโรคที่รักษาไม่หาย

 

การรักษาในปัจจุบันจะเป็นเพียงการชะลอให้โรคเสื่อมลงอย่างช้าๆ เท่าที่จะเป็นไปได้โดยหลักการ สำหรับยาบนโลกใบนี้ ในปัจจุบันยาที่ได้รับอนุมัติใช้มีอยู่ไม่เกิน 5 ตัวซึ่งถูกอนุมัติมานานหลายสิบปีแล้ว และยังไม่มียาใหม่ๆ ออกมาในท้องตลาดมาเป็นเวลานาน เนื่องจากการพัฒนายาแต่ละชนิดต้องใช้เวลากว่า 20 ปี อย่างไรก็ตามในปี 2566 ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้มียา 2 รายการออกสู่ตลาดซึ่งเป็นยาใหม่ ทาง FDA มองว่ายาสำหรับอัลไซเมอร์มีความต้องการเร่งด่วนจึงมีการอนุมัติ ตามมาด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่โดยตลอด ปรากฎว่ายังคงมีผลข้างเคียงรุนแรง

“ ยาด้านสมองจึงเป็นโจทย์สำหรับนักวิจัยทั่วโลก แต่ต้องเข้าใจว่าตัวโรคอัลไซเมอร์ซับซ้อน และเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุพร้อมกัน จะต้องเป็นการใช้ยาร่วมกัน เพื่อสู้กับโรคดังกล่าว ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับการใช้ยาในแพทย์แผนไทย ซึ่งเรียกว่า ‘ยาตำรับ’ ซึ่งเป็นการใช้ยาหลายตัวร่วมกันและเป็นคอนเซปต์เดียวกับการใช้ยารักษาอัลไซเมอร์”

 

เภสัชกรณัฐดนัย อธิบายถึงคอนเซปต์ของยารักษาโรคอัลไซเมอร์ว่า ด้วยความที่โรคนั้นเกิดได้หลายปัจจัยร่วม เช่น อาจจะเกิดจากอนุมูลอิสระที่ทำร้ายเซลล์สมอง อีกปัจจัยคือสารสื่อประสาทหลั่งผิดปกติ หรือมีโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์เกาะที่สมอง ทำให้เซลล์สมองเสื่อมลง หรือเกิดจากการติดเชื้อก็ได้

 

“ เปรียบสมองเหมือนเรือ ที่รั่วหลายตัวพร้อมกัน การจะอุดจะต้องอุดพร้อมๆ กันไม่งั้นก็รั่วเหมือนเดิม”

 

ส่วนยาที่ใช้ในปัจจุบัน จะเป็นทั้งยาที่สามารถอุดได้ตัวเดียว หรือสองตัว โดยสรุปแล้วต้องใช้ยาหลายอย่างพร้อมกัน

 

 

สมุนไพรไทยอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเพื่อเป็นยารักษาโรค

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของ ‘อภัยบี’ มาแล้ว ซึ่งโด่งดังในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในวงการสุขภาพ อภัยบีขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องเสริมความจำและการนอนหลับ ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนกับ อย.

 

แต่สำหรับนักวิจัย เป้าหมายของพวกเขาไกลกว่านั้น คือการวิจัยว่ายาดังกล่าวจะสามารถเป็น ‘ยารักษาโรคอัลไซเมอร์’ ได้หรือไม่

 

“ ตัวอภัยบีมีการทดสอบกับปัจจัยการเกิดโรค ว่าช่วยอะไรบ้าง ซึ่งอภัยบีเป็นยาตำรับประกอบด้วยสมุนไพรสามชนิดคือ กลีบบัวหลวง บัวบกและพริกไทย ซึ่งมีสารที่สามารถอุดรูรั่วที่เกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ต้านอนุมูลอิสระ ลดโปรตีนที่เป็นพิษซึ่งไปเกาะเนื้อสมอง และช่วยสารสื่อประสาร จากงานวิจัยก็พบว่าช่วยได้ดี ซึ่งการพัฒนายาตัวนี้จะใช้สเต็ปการพัฒนาเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน ไม่ว่าจะทดสอบในหลอดทดลอง หรือทดลองกับสัตว์ทดลองแล้วว่าได้ผลดี ซึ่งตอนนี้อยู่ในเฟสของการทดลองกับมนุษย์

 

ซึ่งการทดสอบตอนนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบในคนในระดับทดสอบความปลอดภัย เราทดสอบกับผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมเบื้องต้นก็ปลอดภัยดี และกำลังจะเข้าสู่สเต็ปทดสอบกับเรื่องของความจำต่อไป” เภสัชกรณัฐดนัยระบุ

 

สำหรับเป้าหมายที่วางไว้คือจะรู้ผลในอีก 3-5 ปีข้างหน้า!

 

อย่างไรก็ตามจากผลวิจัยกว่า 10 ปีก็พบว่ามีความปลอดภัยต่อตับและไตในมนุษย์ที่มีภาวะสมองบกพร่องในระยะต้น และมีส่วนช่วยในเรื่องฟื้นฟูความจำได้ อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพช่วยในการนอนหลับได้ดี

 

อัลไซเมอร์ โรคอันตรายที่กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว

 

เภสัชกรณัฐดนัยกล่าวถึงอาการของอัลไซเมอร์ว่า เริ่มต้นจะเริ่มจากอาการหลงลืม คือสมองที่ควบคุมส่วนเรื่องความจำจะโดนทำลายไปก่อน และจะทำลายไปเรื่อยๆ เริ่มจำทิศทางที่เดินไม่ได้ เป็นต้น จนไปถึงเรื่องของอารมณ์และภาษา ซึ่งจะเป็นขั้นท้ายๆ เมื่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ความนึกคิด ตรรกะก็จะโดนทำลาย อารมณ์ก็จะสวิง ฉุนเฉียวง่าย โกรธง่าย

 

สำหรับพัฒนาการของโรค จะมีช่วงระยะเวลาคือ 15-20 ปีแรกจะไม่มีอาการเลย คนจะไม่รู้ตัว เมื่อถึงจุดที่เป็นและออกอาการคนไข้จะใช้ชีวิตอยู่ต่อได้แค่เพียง 10-15 ปี สำหรับคนไข้ที่เข้าสู่การรักษาเป็นอย่างดี บางคนก็แค่ 6-7 ปีเท่านั้น

 

“ คนไข้จะไม่เสียชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์ แต่จะเสียชีวิตเพราะคอนโทรลอะไรไม่ได้ อย่างเช่น การกลืน บางทีก็หลงลืมการกลืนไป จนถึงขั้นอาหารติดคอ หรือการติดเชื้อก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้  คนที่ป่วยไม่ได้เสียชีวิตเพราะอัลไซเมอร์ แต่เป็นเพราะเหตุอย่างอื่นแทน ทีนี้หากมีคนดูแลได้ถูกต้องก็จะอยู่ได้นาน แต่คนดูแลก็จะต้องมีความเข้าใจด้วยว่า การแสดงออกมาเป็นผลจากตัวโรค ” เภสัชกรณัฐดนัยระบุ

 

ขอขอบคุณ

เภสัชกรณัฐดนัย มุสิกวงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร