posttoday

รู้ทันซึมเศร้า คาดปี 2030 ผู้ป่วยมาก-กระทบคุณภาพชีวิตอันดับ 1 แซงโรคมะเร็ง!

22 มกราคม 2567

ชวนคุยกับผอ.โรงพยาบาลรักษาโรคจิตเวชเฉพาะทางอย่าง BMHH เมื่อผลวิจัยพบแนวโน้มโรคซึมเศร้าในปี 2030 จะมีจำนวนสูงและสร้างผลกระทบกับคุณภาพชีวิตมาเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าแม้กระทั่งโรคมะเร็งจากสังคมที่เปลี่ยนไป ประชาชนต้องรู้เท่าทันอย่างไร?

สถิติโลกพบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น คาดแซงหน้าโรคมะเร็ง

 

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ จิตแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาล BMHH เปิดเผยกับสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า

ในเชิงสถิติ ทางด้านองค์การอนามัยโลก (WHO)  มีการให้ข้อมูลว่า ปัญหาเจ็บป่วยด้านจิตเวชกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในโลกเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ ปริมาณเจ็บป่วยสูงขึ้น และการเจ็บป่วยด้านจิตเวชเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง ใช้เวลารักษานานซึ่งกระทบกับคุณภาพชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษา

 

“ทางด้านมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำวิจัยและชี้แนวโน้มให้เห็นว่า โรคที่จะมีจำนวนสูงและสร้างผลกระทบกับคุณภาพชีวิตอันดับหนึ่งในปี 2030 คือโรคซึมเศร้า ชนะโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ หรือโรคอื่นๆ จากสังคมที่เปลี่ยนไป” นพ.รณชัยเผย

 

นอกจากนี้ อีกปัญหาที่สำคัญและนับว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งคือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะยาเสพติดในประเภท ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ที่สามารถสร้างนิสัยของการเสพติดได้ง่ายมากขึ้น โดยพบว่าในสหรัฐอเมริกา เด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และเกือบครึ่งหนึ่งในระดับชั้นมัธยมใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการสูบจะมีสารเสพติดที่สูบแล้วหยุดไม่ได้ และสามารถนำไปสู่การเสพติดอย่างอื่นได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้หากไปถึงการติดยาเช่น ยาบ้า ก็จะนำไปสู่อาการโรคจิต หวาดระแวง และก่อให้เกิดปัญหากระทบกับคนอื่นๆ ได้

 

สำหรับประเทศไทย ตัวเลขจากกรมสุขภาพจิต เผยว่าในปี 2564 ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตมีตัวเลขถึง 49,658 คน อันดับถัดมาคือ โรคซึมเศร้า 37,941 คน ต่อมาคือโรควิตกกังวล โรคสมาธิสั้น และติดยาเสพติด นอกจากนี้ยังพบปัญหาฆ่าตัวตาย มีตัวเลขแสดงอยู่ที่ 562 คนในหนึ่งปี ซึ่งเฉพาะที่มีการรายงานเท่านั้น โดยคาดว่าที่ไม่รายงานยังมีอยู่อีกมาก

รู้ทันซึมเศร้า คาดปี 2030 ผู้ป่วยมาก-กระทบคุณภาพชีวิตอันดับ 1 แซงโรคมะเร็ง!

“เราจะเห็นว่าตัวเลขของคนที่ฆ่าตัวตายจะอยู่ที่ 8 คนต่อหนึ่งแสนคน แต่ในช่วงโควิดจะพุ่งไปที่ 15 คนต่อ 1 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาทางโรคจิตเวชที่รุนแรง”

 

เมื่อดูจากสถิติจากโรงพยาบาล BMHH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชตลอดระยะเวลา 2 เดือนเศษๆ พบมีคนไข้มารักษาถึง 300 กว่าคน  พบคนไข้เยอะที่สุดคือโรคซึมเศร้าร้อยละ 27 ถัดมาคือโรควิตกกังวลร้อยละ 25 ปัญหาเรื่องเครียดร้อยละ 13 และโรคที่คล้ายไบโพลาร์ร้อยละ 7

 

“สาเหตุที่มาปรึกษาคือจากอาการนอนไม่หลับ เป็นปัญหาใหญ่ หรือติดยาเสพติดมารักษาก็มี  ถ้ามาด้วยปัญหาโรคซึมเศร้าจะเป็นอายุวัยกลางคน แต่ถ้ามาด้วยโรควิตกกังวลจะเป็นวัยรุ่น และจำนวนพอๆ กันทั้งชายและหญิง แม้ว่าปกติแล้วผู้หญิงจะเยอะกว่าในภาพรวม และโรคไบโพลาร์ เราเจอตั้งแต่ 20 กว่าขึ้นไปก็จะเจอแล้ว ส่วนโรคจิตพอๆ กันทั้งชายและหญิงและเจอทุกช่วงอายุ”

 

ภาพรวมการรักษาโรคทางจิตเวชของไทยในปัจจุบัน

 

หากเทียบกับในอดีต ปัจจุบันผู้ป่วยคนไทยมีการตระหนักถึงโรคทางจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น และเปิดใจเข้ารับการรักษามากขึ้น

โดย ศ.นพ.รณชัย ให้ข้อมูลว่า “ปัจจุบันนี้ คนไข้ต่างจากสมัยก่อน สมัยก่อนไม่ยอมมา ญาติจะพามา เพราะรู้สึกว่า ถ้าไม่รักษา คนไข้สภาพชีวิตแย่ อย่างโรควิตกกังวล จะกลัวเวลาออกไปข้างนอกดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จะกลัวการออกจากบ้าน และเสียคุณภาพชีวิตทั้งการไปทำงานหรือเจอเพื่อนฝูง

เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า ซึ่งสามารถก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ต้องระวังมากเลย คือ ปัญหาการฆ่าตัวตาย เพราะโรคซึมเศร้าจะทำร้ายตัวเอง มีความรู้สึกว่าไม่สมควรจะอยู่ และรู้สึกผิด จึงต้องทำร้ายตัวเอง ซึ่งในเคสนี้ญาติจะพามา แต่ในปัจจุบันนี้ต้องเรียนว่า คนไข้โทรเข้ามาปรึกษาเอง เมื่อโทรแล้วรับรู้ว่าปัญหาที่มีสามารถรับการช่วยเหลือได้ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้เจ้าตัวจะเป็นผู้ที่โทรและติดต่อเข้ามาและขอรับการรักษา”

 

ปัจจุบันสถานการณ์การรักษาโรคทางสุขภาพจิตในประเทศไทยดีขึ้นมาก ระดับประเทศจะมีนโยบายช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะระดับกระทรวง สปสช. มหาวิทยาลัยทั้งหลาย และจากบุคลากรทางสุขภาพจิตอีกหลายหน่วยงาน

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนจิตแพทย์ในประเทศไทยยังขาดแคลน

 

“จิตแพทย์ประเทศไทย ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีตัวเลขที่ยังทำงานอยู่คือ 800 คน ซึ่งแยกไปอยู่ฝั่งบริหารอาจจะไม่ได้รักษาคนไข้ไปแล้ว 200-300 คน ฉะนั้นเหลือจริงๆ ตัวเลขน้อยลง”

 

ส่วนการใช้ยามีการพัฒนาไปมาก โดยสามารถคิดค้นยาที่ดีมารักษาได้ดีขึ้น ตอบสนองเร็วขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อยลง และมียารักษาซึมเศร้าหลายประเภทที่สามารถเลือกใช้ได้ตรงกับอาการผู้ป่วย เช่น ยารักษาย้ำคิดย้ำทำ แพนิค สมาธิสั้น ลดยาเสพติด อดบุหรี่ และในระหว่างการรักษาก็สามารถกลับไปทำงานได้

 

“ ผลข้างเคียงจากยาที่บอกว่าเป็นซอมบี้ไปทำงาน ไม่มีแล้วครับ บางครั้งเราจะพบว่าคนไข้โรคจิตบางคนขณะทำงานไปด้วย คนภายนอกไม่รู้เลยว่าเขาทานยารักษาอยู่ หากใช้ยาได้อย่างเหมาะสม”

 

โดยระยะเวลาการรักษาโดยสถิติ โรคซึมเศร้าจะรักษา 6 เดือน ร้อยละ 50 ไม่ต้องรักษาต่อ อีกร้อยละ 50 จะมีอาการหลงเหลือที่สามารถกลับมาเป็นอีกได้ จะแนะนำให้กลับมารักษาต่ออีก 1-2 ปี แต่ถ้าเมื่อไหร่ผู้ป่วยถึงขั้นฆ่าตัวตายและกลับมาเป็นซ้ำหลายครั้งจะเป็นกลุ่มที่เรียกว่าดื้อยา ซึ่งปัจจุบันก็จะมีกระบวนการรักษาโรคดื้อยาด้วย

สำหรับโรควิตกกังวล โดยทั่วไปเราสามารถให้ยารักษา 2-3 เดือนก็จะดีขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่ผู้ป่วยเช่นเดียวกัน  แต่หากเป็นโรคที่มาด้วยความเครียด เช่น เครียดตกงาน เครียดจากสอบ บางทีจะไม่ต้องรับ แต่จะเข้าสู่กระบวนการจิตบำบัดแทน ซึ่งในบางกรณีจะใช้การพูดคุยสองถึงสามครั้ง ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ไม่ต้องรักษาต่อเนื่อง

 

สำหรับวิธีการสังเกตตัวเองว่าเมื่อไหร่ถึงจะต้องเข้ามาพบแพทย์นั้น ศ.นพ.รณชัยได้แนะนำไว้ 3 ข้อ ดังนี้

  1. เกิดความรู้สึกทนกับอาการตัวเองไม่ได้  เช่น บางคนเกิดอาการย้ำคิดย้ำทำ คอยล้างมือเป็นสิบๆ เที่ยว และต้องล้างด้วยน้ำสบู่ และนับด้วยว่าต้องล้างกี่ครั้ง จึงจะรู้สึกมั่นใจ หรือจับของสกปรกแล้วต้องมาล้าง การกระทำแบบนี้รู้สึกตัวเองว่าทนไม่ไหวแล้ว จนต้องมาพบแพทย์ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่รู้ตัว
  2. เมื่อไหร่ที่มีปัญหากระทบกับหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่สามารถจดจ่อกับที่ทำงาน มีอารมณ์สองขั้วที่ไม่อยากไปทำงานเลย  ซึ่งเรื่องนี้ตัวเองไม่รู้ตัว  แต่คนรอบข้างสังเกตได้ ข้อนี้จะเจอมาก และเจ้าตัวไม่รู้ตัว ที่เราเรียกว่าเป็น Toxic Person ไปอยู่ที่ไหนคนไม่อยากอยู่ด้วย ก็สามารถมาขอความช่วยเหลือได้
  3. มีการทำร้ายตัวเอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เห็นชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า รวมไปถึงผู้ที่เริ่มทำร้ายผู้อื่น อย่างอาการที่เกิดหลังจากใช้สารเสพติดก็รวมอยู่ในนั้น

หากมีข้อใดข้อหนึ่งควรพบแพทย์ หรือสามารถสอบถามหน่วยบริการทางสุขภาพจิตหรือตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้น ว่าเราควรจะมาพบแพทย์หรือไม่

 

นอกจากนี้ในกรณีของการฆ่าตัวตาย ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนสามารถเฝ้าระวังคนรอบข้างได้ เพราะการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นการสูญเสียที่ส่งผลกระทบมหาศาล

สำหรับแนวทางการป้องกันในกรณีของการฆ่าตัวตาย มีดังนี้

  1. คนรอบข้างต้องคอยดูแลคนที่มีปัญหา โดยเฉพาะการสูญเสีย เมื่อไหร่ที่เจอบุคคลใกล้ชิดเจอปัญหาการสูญเสีย ตรงนั้นคือจุดตั้งต้นของการเศร้าเสียใจ และซึมเศร้า โดยเฉพาะการสูญเสียคนที่รัก เงินทอง หรืองาน บางคนทำใจไม่ได้ นี่คือจุดตั้งต้น คนรอบข้างต้องคอยรับรู้
  2. หลังจากรู้ว่ามีความเสี่ยง ต้องช่วยสังเกตอาการ อาการเด่นๆ ที่จะนำไปสู่อาการซึมเศร้าจนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง  คือ นั่งร้องไห้อยู่บ่อยๆ เศร้าเสียใจ  สังเกตว่าแยกตัวไม่ยุ่งกับใคร การเคลื่อนไหวช้าลง พูดน้อยลง พูดบ่อยๆ ว่าตัวเองก่อให้เกิดปัญหาและผิดที่ทำให้เรื่องเกิดขึ้น สุดท้ายคือบ่นว่าอยากตาย ซึ่งสำคัญมาก โดยพบว่าคนที่ฆ่าตัวตายจริงๆ เคยพูดออกมาแต่คนรอบข้างคิดว่าล้อเล่นและไม่จริงจัง เลยไม่ได้สังเกต
  3. ถ้ามีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน ยิ่งต้องช่วยประคับประคองและให้กำลังใจ ทานยารักษา ไม่เช่นนั้นจะกลับไปวงจรเดิมและฆ่าตัวตายได้   

 

“เรามองว่าการตั้งรับคนไข้ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา เช่น การรักษาคนติดยาเสพติดไม่ได้แก้ปัญหา เราไปรักษาคนไข้ฆ่าตัวตายไม่ได้แก้ปัญหา เราต้องแก้ไขปัญหาเชิงรุก เพราะฉะนั้นระบบของประเทศขณะนี้ก็จะมุ่งเน้นไปเรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตในทุกภาคส่วนเช่นกัน” ศ.นพ.รณชัยกล่าว

 

รู้ทันซึมเศร้า คาดปี 2030 ผู้ป่วยมาก-กระทบคุณภาพชีวิตอันดับ 1 แซงโรคมะเร็ง!

เกี่ยวกับโรงพยาบาล BMHH

โรงพยาบาล BMHH เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งเปิดบริการรักษาผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ป่วย  ด้วยความตั้งใจที่จะเปิดทางเลือกทางการรักษาและทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้มีความเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ผู้ป่วยทางจิตเวชที่ชัดเจนขึ้น ด้วยการเชิญจิตแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะด้านมาช่วยกันดูแลรักษาผู้ป่วย

นอกจากนี้ยังเน้นการผลิตผลงานด้านวิชาการของตนเอง การจัดให้ความรู้ การประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการพยายามผลักดันและเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการรักษาโรคทางจิตเวช

 

ขอขอบคุณ

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ จิตแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาล BMHH