posttoday

“Paper Heart” ผลงานนิยายออนไลน์จากศิลปินเด็กพิเศษ “อเล็ก ชนกรณ์”

21 มกราคม 2567

“อเล็ก ชนกรณ์” ศิลปินเด็กพิเศษ (ออทิสติก) ที่ค้นพบตัวเองจากโลกจินตนาการ สู่การเป็นนักเขียนบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ และต่อยอดผลงานในรูปแบบภาพวาดดิจิทัล

“เมื่อโลกที่สงบสุขถูกความมืดกลืนกินแสงสว่างจนไม่เหลืออีกแล้ว เรื่องราวการเดินของเด็กชายที่มีพลังแสงสว่างและความมืด เพื่อนำแสงสว่างกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” 

ประโยคที่แสนเรียบง่ายซึ่งถูกถ่ายทอดไว้เป็นพล็อตสั้นๆจากนิยายแนวแฟนตาซี “Paper Heart (หัวใจกระดาษ)” ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ จอยลดา (Joylada) แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ผลงานนิยายชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นโดยเด็กแอลดี หรือ Learning Disabilities (LD) “น้องอเล็ก ชนกรณ์ พุกะทรัพย์”

“Paper Heart” ผลงานนิยายออนไลน์จากศิลปินเด็กพิเศษ  “อเล็ก ชนกรณ์”

รู้จักกับภาวะ Learning Disabilities (LD)

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability) หรือที่มักเรียกสั้นๆ ว่า "โรคแอลดี" (LD) เป็นภาวะผิดปกติทางพัฒนาการที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้อาจมีปัญหาในการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ หรือทักษะการเรียนรู้อื่นๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน (Reading Disorder) 

  • อ่านช้า อ่านผิด อ่านไม่เข้าใจ
  • สะกดคำผิด แยกแยะเสียงสระ พยัญชนะ หรือเสียงวรรณยุกต์ไม่ออก
  • ไม่สามารถจับใจความจากเรื่องที่อ่านได้

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน (Writing Disorder)

  • เขียนช้า เขียนผิด เขียนไม่เรียบร้อย
  • สะกดคำผิด แยกแยะเสียงสระ พยัญชนะ หรือเสียงวรรณยุกต์ไม่ออก
  • ไม่สามารถเขียนเรียงความหรือบทความได้

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการคิดคำนวณ (Math Disorder) อาการดังนี้

  • คำนวณช้า คำนวณผิด
  • ไม่สามารถเข้าใจหลักการทางคณิตศาสตร์
  • ไม่สามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ เพศ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุของโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ร่วมกัน เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของโครโมโซม การทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา ปัจจัยแวดล้อมในระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด

อย่างไรก็ตาม โรคบกพร่องทางการเรียนรู้สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการทดสอบประเมินทักษะทางสติปัญญาและทักษะการเรียนรู้ต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาเด็ก และสามารถสอนวิธีการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดการเรียนการสอนแบบพิเศษ การใช้สื่อการสอนที่เหมาะสม เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ช่วยการเรียนรู้ การบำบัดทางพฤติกรรมหรือจิตวิทยา การให้ยา เช่น ยากระตุ้นสมาธิเป็นต้น

ทั้งนี้ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

“Paper Heart” ผลงานนิยายออนไลน์จากศิลปินเด็กพิเศษ  “อเล็ก ชนกรณ์”

เพราะครอบครัวคือเบื้องหลังความสำเร็จ ผู้ผลักความเจ็บปวดเป็นพลัง

“แม่กบ โสภี ฉวีวรรณ” คุณแม่ของน้องอเล็กเล่าว่า ทราบถึงภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ของน้องตอนเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 หรืออายุราว 4-5 ขวบ ซึ่งก่อนหน้านั้นลูกเติบโตตามวัยเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่จากการสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดจึงเริ่มเห็นความแตกต่าง เช่น การพูดสลับคำ การเล่าเรื่องมีความสับสนลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ และพูดคำบางคำไม่ชัด จึงพาไปพบคุณหมอให้ตรวจวินิจฉัย และได้บทสรุปว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ (ออทิสติก) ซึ่งมีภาวะบกพร่องด้านการสื่อสาร แต่ความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) นั้นอยู่ในระดับปกติ 

แม่กบ เล่าว่าวินาทีแรกตนรู้สึกเสียใจมาก แต่ก็ยังดีใจที่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงไวเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกอย่างตรงจุด ซึ่งทางคุณหมอแนะนำให้น้องอเล็กเข้าโรงเรียนเฉพาะทาง หรือโรงเรียนที่ตอบรับ เพราะหากอเล็กยิ่งโตขึ้น ปัญหาเรื่องการสื่อสารจะยิ่งชัดเจนและอาจเป็นอุปสรรคกับการเรียนและการใช้ชีวิตในสังคม 

“Paper Heart” ผลงานนิยายออนไลน์จากศิลปินเด็กพิเศษ  “อเล็ก ชนกรณ์”

เปิดโอกาสให้ค้นหาสิ่งที่ชอบ จุดประกายสู่จินตนาการ

นอกจากเรื่องเรียน การเปิดโอกาสให้เด็กค้นหาสิ่งที่ชอบก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยแม่กบให้อเล็กได้มีโอกาสลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ 5 ขวบ ตั้งแต่พาไปเรียนยิมนาสติก เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ พาไปเรียนเปียโนเสริมสมาธิ พาไปเรียนร้องเพลงเพื่อให้มีพัฒนาการด้านการพูดการฟังและการออกเสียงให้ชัดเจน สร้างความรู้สึกสนุก ไม่ใช่เฉพาะการฝึกพูดกับคุณหมอเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังเรียนคณิตคิดเร็ว เพราะเชื่อว่าการฝึกฝนทำซ้ำจะช่วยให้ลูกมีการคำนวณที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จุดประกายให้อเล็กก้าวสู่โลกจินตนาการคือ “น้องเอิน” น้องสาวที่วัยห่างกัน 3 ปีที่ชอบรบเร้าให้คนในบ้านเล่านิทานให้ฟัง และบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานกลับบ้านดึก หน้าที่เล่านิทานก็ตกเป็นของพี่ชายอย่างอเล็กไปโดยปริยาย แม้ปัญหาด้านการสื่อสารจะยังมีอยู่บ้าง 

นิทานที่แต่งขึ้นจากจินตนาการของอเล็กเป็นที่ถูกอกถูกใจของน้องสาวอย่างมาก และจากจุดนี้ทำให้อเล็กฝึกคิด และเกิดจินตนาการพรั่งพรูขึ้นมากมาย จนอยากลองเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวเอง คือ การเขียนนิยายบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น “Joylada (จอยลดา)” กับผลงานเรื่องแรกคือ Paper Heart  (หัวใจกระดาษ) 

อย่างไรก็ตาม ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ยังสร้างอุปสรรคให้กับอเล็กในการเขียนนิยายพอสมควร ซึ่งต้องพึ่งน้องเอินให้มาช่วยตรวจทานพร้อมทั้งบอกว่า แม้ตนจะพูดเล่าเรื่องไม่ได้ แต่การบอกเล่าผ่านตัวอักษรตนสามารถทำได้ เพราะค่อย ๆ คิดเก็บไว้ในสมองก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ซึ่งง่ายกว่าการบอกเล่าผ่านคำพูด ซึ่งตนดีใจมากที่ค้นพบสิ่งที่ชอบและมีโอกาสลงมือทำ

“Paper Heart” ผลงานนิยายออนไลน์จากศิลปินเด็กพิเศษ  “อเล็ก ชนกรณ์”

นอกจากนี้ น้องอเล็กยังได้ต่อยอดผลงานจินตนาการในเรื่อง Paper Heart ออกมาเป็นรูปวาดตัวละคร และฉากต่างๆ ที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ เพราะอยากให้ผู้อ่านได้เห็นหน้าตาตัวละคร จากภาพในจินตนาการของตัวเองภายใต้ชื่อผลงาน โลกของอเล็ก You can do it I can do it. # อย่ายอมแพ้

ปัจจุบัน “น้องอเล็ก ชนกรณ์” ยังได้ร่วมกับโครงการของมูลนิธิออทิสติกไทยที่ใช้ศิลปะเข้ามาบำบัดและสร้างอาชีพให้กับเด็กออทิสติกอย่าง “ARTSTORY BY AUTISTIC THAI” ซึ่งเปิดพื้นที่แห่งโอกาสให้สังคมได้รับรู้ถึงความสามารถของเด็กพิเศษที่ไม่แพ้กับศิลปินมืออาชีพ และให้คุณค่ากับทุกคนอย่างเท่าเทียม