posttoday

รักษา-หาหมอ ออนไลน์ ทิศทางโรงพยาบาลไทยในปัจจุบันและอนาคต

15 มกราคม 2567

เมื่อโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ แสดงผลการขับเคลื่อนนโยบาย Virtual Hospital หรือ รักษา-หาหมอ ออนไลน์ โดยพบว่ามีการให้บริการสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และยังเพิ่มทางเลือกทางการรักษาให้แก่ปชช.

วันนี้ (15 มกราคม 2567) ที่ โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลราชวิถี และให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และคณะผู้บริหารเข้าร่วม โดยโรงพยาบาลราชวิถี เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมาย Quick Win 100 วัน ภายใต้นโยบาย "ยกระดับ 30 บาท" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการและคุณภาพชีวิตประชาชน

รักษา-หาหมอ ออนไลน์ ทิศทางโรงพยาบาลไทยในปัจจุบันและอนาคต

 

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและสะท้อนทิศทางของสาธารณสุขในยุค Smart Life คือ Virtual Hospital อธิบายง่ายๆ คือ การรักษา-หาหมอออนไลน์ สำหรับโรงพยาบาลราชวิถีได้เดินหน้าพัฒนาการให้บริการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน โดยในเดือนมกราคม 2567 (12 วัน) มีผู้รับบริการถึง 1,700 ราย  สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งมีการให้บริการทั้งเดือน 765 ราย หรือมากกว่า 2 เท่า!

 

โรงพยาบาลเสมือนจริง รักษา-หาหมอ ออนไลน์ ของราชวิถี มีอะไรบ้าง?

Virtual Hospital  มีหลักในการให้บริการคือ การให้บริการครบวงจรเสมือนรับบริการที่โรงพยาบาล แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้มาโรงพยาบาลก็ตาม โดยนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์ออนไลน์เข้ามาช่วย ประกอบด้วย

 

1. การพูดคุยโต้ตอบกับแพทย์ได้แบบ Real-time ในกรณีที่ ผู้ป่วยอาการคงที่ไม่เร่งด่วน และไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง

2. การเจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้าน โดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยเรื้อรังซึ่งต้องมีการเจาะเลือดเป็นประจำ สามารถเลือกรับบริการในแล็ปใกล้บ้านได้ เพื่อลดเวลาการรอที่โรงพยาบาล หรืออำนวยความสะดวก เป็นอีกช่องทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วย

3. การรับยาทางไปรษณีย์

4. การชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์

 

จุดเด่นอีกประการคือ ฐานข้อมูล Digital Medical Services ที่เชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคทุกระดับเข้ากับโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ให้การปรึกษาดูแลผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนผ่านระบบ Teleconsult (ระบบปรึกษาแบบออนไลน์) และส่งข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ล่วงหน้า ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อมายังโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ การดำเนินงานของโรงพยาบาลราชวิถี รวมไปถึงโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ซึ่งปรับตัวเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันดังกล่าว เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ซึ่งส่งให้ 'นโยบายบัตรปชช.ใบเดียวรักษาได้ทุกที่' มีประสิทธิภาพและมีความสมบูรณ์

 

รักษา-หาหมอ ออนไลน์ ทิศทางโรงพยาบาลไทยในปัจจุบันและอนาคต

 

รายชื่อโรงพยาบาลในกรมการแพทย์ที่ปรับตัวเป็น Virtual Hospital

กลุ่มทุกบริการผ่านแอปเดียว One app   มี 9 โรงพยาบาล ได้แก่

1.สถาบันโรคทรวงอก

2.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ

3.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

4.โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี

5.โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี

6.โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี

7.โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ์ธัญบุรี

8.โรงพยาบาลสงฆ์

9.โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่

 

กลุ่มที่ใช้หลายแอปพลิเคชัน ( Multi-app ) ในการให้บริการมี 5 โรงพยาบาล ได้แก่

1.โรงพยาบาลราชวิถี

2.สถาบันประสาทวิทยา

3.โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี

4.โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง

5.สถาบันสิรินธรฯ

 

กลุ่ม ใช้แอปพลิเคชันบางขั้นตอน มี 16 โรงพยาบาล ได้แก่

1.โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี

2.โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ฯ

3.โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี

4.โรงพยาบาลเลิดสิน

5.โรงพยาบาลเวชชารักษ์ลำปาง

6.สถาบันทันตกรรม

7.สถาบันโรคผิวหนัง

8.โรงพยาบาลโรคผิวหนังฯ

9.โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชฯ ชลบุรี

10.สถาบันรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ

11.โรงพยาบาลธัญญรักษ์เชียงใหม่

12.โรงพยาบาลธัญญรักษ์สงขลา

13.โรงพยาบาลธัญญรักษ์ปัตตานี

14.โรงพยาบาลธัญญรักษ์แม่ฮ่องสอน

15.โรงพยาบาลธัญญรักษ์อุดรธานี

16.โรงพยาบาลธัญญรักษ์ขอนแก่น

 

สรุปประโยชน์ของการรักษา-หาหมอออนไลน์ ตามทิศทางของกระทรวงสาธารณสุขหลังจากเริ่มดำเนินการ โดยพบว่า

1. ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งดูแลเขตสุขภาพที่ 10 ครอบคลุม 5 จังหวัด มีระบบทันตกรรมทางไกลที่นำมาใช้กับโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยปกติผู้ป่วยรากฟันเทียมจะต้องเดินทางพบแพทย์เพื่อทำการรักษาปีละ 23 ครั้ง แต่เมื่อใช้ทันตกรรมทางไกลสามารถลดการใช้บริการเหลือเพียงแค่ 3 ครั้งต่อปี โดยอีก 20 ครั้งต่อปี จะเป็นการให้บริการที่โรงพยาบาลเล็กใกล้บ้านผู้ป่วย โดยใช้ระบบปรึกษาแบบออนไลน์ระหว่างโรงพยาบาลแทน

2. ลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะจากการเดินทาง ซึ่งสถาบันประสาทวิทยารายงานว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยอยู่ที่ 5,000-10,000 บาทต่อราย

3. ทำให้พื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุข ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ชุมชนบ้านนาคูหา บ้านแม่ลัว บ้านนาตอง และบ้านน้ำกลาย ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง (ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเรื้อรังมากถึงร้อยละ 85) มักจะพบแพทย์ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาระบบทางสาธารณสุขในทิศทางของการให้บริการแบบออนไลน์ดังกล่าวทำให้มีอัตราการพบแพทย์ มากขึ้นถึงร้อยละ 28