posttoday

บทเรียนจากวัคซีนโควิด ‘ยานวัตกรรม’ ต้องไม่ไกลตัวอีกต่อไป!

05 มกราคม 2567

จะทำอย่างไรหากเกิดโรคอุบัติใหม่อีกครั้งเช่นโควิด เป็นเรื่องที่หลายคนไม่อยากคิดแต่ต้องยอมรับ 
และหนึ่งในบทเรียนที่ชัดเจนคือ ‘วัคซีนโควิด’ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘ยานวัตกรรม’ กลายเป็นตัวพลิกเกมที่สำคัญ! 
คำถามคือคนไทยรู้จักยานวัตกรรมมากน้อยเพียงใด?

จากสถิติของกรมควบคุมโรคปี พ.ศ.2560-2564 พบว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่องรวมถึงประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา จากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 (H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และกระทบกับเศรษฐกิจไทยกว่า 28,000 ล้านบาท
หรือการระบาดของไข้หวัดนกที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยกว่า 123.7 ล้านบาท ไม่นับรวมถึง
ความสูญเสียที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายเป็นวงกว้างที่สุดในรอบ
150 ปี!

 

กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นทำให้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า หนทางควบคุมการแพร่ระบาดที่ได้ผล
และช่วยวิกฤตที่ผ่านมาคือ ‘วัคซีน’ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘ยานวัตกรรม’ ที่เกิดขึ้นใหม่บนโลกใบนี้

 

โพสต์ทูเดย์จึงอยากจะชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับเรื่องของ ‘ยานวัตกรรม’ ให้ดียิ่งขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์ของ
คุณนันทิวัต ธรรมหทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) องค์กรกลางที่มีสมาชิกเป็นบริษัทยาต่างๆ กว่า 28 ราย โดยที่เรารู้จักกันดี เช่น Pfizer, AstraZeneca หรือ GSK ซึ่งสมาชิกมุ่งเน้นการลงทุนวิจัย คิดค้น และพัฒนายาชนิดใหม่ ในวันที่โลกยังต้องพบเจอกับโรคอุบัติใหม่ไม่จบสิ้น หนทางของการพัฒนา ‘ยานวัตกรรม’ จะตอบโจทย์นี้อย่างไร?

 

บทเรียนจากวัคซีนโควิด ‘ยานวัตกรรม’ ต้องไม่ไกลตัวอีกต่อไป!

 

หนทางของ ‘ยานวัตกรรม’ เพื่อป้องกันโลกและโรค

 

เมื่อ ‘โรค’ มีวิวัฒนาการ และ ‘โลก’ มีความเจ็บป่วยชนิดใหม่ จึงต้องมีการคิดค้นยาชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อสู้กับโรคและการเจ็บป่วยดังกล่าว รวมไปถึงวัคซีนป้องกันโรค

 

คุณนันทิวัต ธรรมหทัย ให้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความรู้จักกับยานวัตกรรมมากขึ้นว่า  "ยานวัตกรรม เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพในหลายส่วน  ขณะที่ทุกวันนี้มีโรคที่ยังไม่มียารักษาเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องมีการคิดค้นยาตัวใหม่ หรือมียารักษาอยู่แล้วแต่ต้องการยาที่มีประสิทธิภาพทางการรักษาที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง ก็จะถูกพัฒนาออกมาเป็นยานวัตกรรม 

นอกจากนี้ ยานวัตกรรมไม่ได้ตอบโจทย์ด้านการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมการป้องกันโรค เช่น กรณีของโควิดซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มผู้ผลิตยานวัตกรรมพยายามอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนายาออกมา ซึ่งโดยทั่วไปยาที่ผลิตออกมา เมื่อยื่นจดทะเบียนจะมีสิทธิบัตรคุ้มครอง  20 ปี โดยหลังจาก 20 ปี บริษัทอื่น ๆ ก็สามารถผลิตยาตัวนี้ในลักษณะของ 'ยาทั่วไป' ได้โดยไม่ติดเรื่องสิทธิบัตร"

 

โดยเฉพาะในวันที่ประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ ซึ่งจะเปลี่ยนรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล คุณนันทิวัตมองว่า ประเทศจำเป็นต้องเพิ่มการรักษาที่สอดคล้องกับกลุ่มประชากรมากขึ้น รวมไปถึงเมื่อฐานแรงงานจะขยายอายุไปสู่กลุ่มที่สูงวัยมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความสูงวัยที่ ‘สุขภาพดี’ ไปด้วยเพื่อตอบโจทย์ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’

 

"เราสามารถมองในมิติของผู้สูงอายุที่ป่วยแล้วอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือแม้แต่อาจจะยังไม่ได้เป็นผู้สูงอายุแต่ว่าเป็นคนที่มีอายุมากขึ้นก็อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี แน่นอนว่า การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ แต่ยาเองก็จะมีบทบาทเสริมในการช่วยดูแลหากเจ็บป่วย และช่วยให้ประชากรกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ผมคิดว่าทุกคนก็คงอยากไม่ได้อยากมีอายุยืนยาวอย่างเดียวแต่ว่ามีสุขภาพแข็งแรงยืนยาวด้วย"

 

บทเรียนจากวัคซีนโควิด ‘ยานวัตกรรม’ ต้องไม่ไกลตัวอีกต่อไป!

 

ยานวัตกรรมจะเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของโรคอุบัติใหม่ โรคที่ยังรักษาไม่หาย หรือโรคที่มียารักษาแต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของยาและลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นตามมาได้

 

คำถามคือจะให้คนเข้าถึงยานวัตกรรมเหล่านี้ได้มากขึ้นอย่างไร?

 

ปัจจัยหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงไม่ได้ของ ‘การเข้าถึงยานวัตกรรม’ ก็คือปัจจัยทางด้าน ‘ราคา’ ซึ่งค่อนข้างสูง ด้วยหลายสาเหตุ

 

"บริษัทยานวัตกรรมจำเป็นต้องลงทุนไปก่อน" คุณนันทิวัตอธิบาย

ซึ่งแตกต่างจากบริษัทที่ผลิตยาทั่วไป ที่เป็นการผลิตยาตามสูตรที่คิดค้นมาแล้วและหมดความคุ้มครองทางสิทธิบัตรแล้ว จึงไม่มีต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งยาบางชนิดต้องใช้เวลาพัฒนากว่า 20-30 ปี และมีค่าใช้จ่ายการลงทุนต่อหนึ่งตัวยากว่า 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทก็ต้องแบกรับความเสี่ยงในเรื่องของผลลัพธ์อีกทางหนึ่ง

แม้ว่ายานวัตกรรมมีสิทธิบัตรคุ้มครองเพียง 20 ปีแต่ในความเป็นจริงนั้น บริษัทที่ผลิตยานวัตกรรมส่วนใหญ่จะต้องพบเจอกับกระบวนการหลังการพัฒนา ซึ่งทำให้บางครั้งมีระยะเวลาของการผลิตและจำหน่ายเหลือเพียง 10-15 ปี

 

บทเรียนจากวัคซีนโควิด ‘ยานวัตกรรม’ ต้องไม่ไกลตัวอีกต่อไป!

 

"ในรูปแบบธุรกิจของบริษัทยาที่พัฒนายานวัตกรรมส่วนใหญ่ขายได้ในช่วงที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครอง ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้จะเป็นรายได้ที่นำไปลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาต่อไป เพราะฉะนั้นการที่จะทําให้วงจรของการผลิตยานวัตกรรมในแต่ละบริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น คือยาที่ถูกพัฒนาเหล่านั้นต้องให้คนเข้าถึงได้"

 

คุณนันทิวัตมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ ต้นทุน-กำไร แต่มันคือ การทำให้วงจรการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์สุขภาพของประชาชนสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

 

เพราะถ้าไม่มีการผลิตยานวัตกรรม ก็ไม่มีต้นแบบของการผลิตยาทั่วไป

"ผมอยากให้บริษัทเอกชนและภาครัฐ เข้าใจวงจรตรงนี้"

 

คุณนันทิวัต ธรรมหทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA)

 

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยต้องยอมรับว่าบริษัทยาในประเทศไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นบริษัทยาที่ผลิตยาทั่วไป หมายถึง เป็นผู้ผลิตแต่ไม่ได้เป็นผู้วิจัย คิดค้น หรือพัฒนายาตัวใหม่ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนมหาศาล

 

"สำหรับประเทศไทยบริษัทยาอาจจะมีทรัพยากรมาลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับบริษัทระดับโลก นอกจากนี้ โครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศก็ยังเน้นเรื่องของการผลิตยาทั่วไป การที่จะก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นบริษัทที่ผลิตยานวัตกรรมจึงค่อนข้างจำกัด และเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก

แต่ก็มีความพยายามและเริ่มเห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น วัคซีนโควิด เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ซึ่งไม่เพียงแต่มีวัคซีนที่นำเข้ามา เราก็ได้เห็นว่า จุฬาฯ ก็พัฒนาขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถเริ่มจากการวิจัยภายในมหาวิทยาลัย และบริษัทยาก็นำไปพัฒนาต่อได้เช่นกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะที่รวดเร็ว"

 

เมื่อถามว่า สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) มีหนทางที่จะให้คนเข้าถึงยาเหล่านี้บ้างหรือไม่?

 

"เราตระหนักดีว่าจะทํายังไงให้ราคายาที่มันสูง มีหนทางอื่นที่จะเข้าถึงประชาชนมากขึ้น"  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ยกตัวอย่างวิธีการเช่น การหาแหล่งเงินทางเลือก

 

"ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงเรื่องบัตรทอง รัฐก็เป็นผู้ออก 100%  ในส่วนของสวัสดิการของข้าราชการก็เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐ 100% จะมีของทางประกันสังคมที่ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมจ่ายด้วยบางส่วน แต่ว่าโดยรวมก็คือ หากรัฐเห็นความสำคัญและมีงบประมาณสนับสนุน การเข้าถึงก็เป็นไปได้มากขึ้น

แต่อย่างที่ทุกคนรู้ว่า งบประมาณเองบางครั้งก็มีข้อจำกัดมากมาย ถ้าเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงก็จะมีทรัพยากรมาบริหารจัดการมากกว่า เราจึงพยายามชวนคิดว่า นอกจากงบประมาณรัฐแล้วยังมีช่องทางอื่นหรือไม่ ซึ่งแนวทางนี้ก็มีใช้ในหลายประเทศ เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทผลิตยา นักวิชาการ และบริษัทประกันสุขภาพ หรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์บางประการในแบบประกันสุขภาพด้วย เป็นต้น"

 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญจะย้อนกลับไปที่ว่า ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในสุขภาพมากน้อยแค่ไหน?

 

จากงานวิจัยหนึ่งพบว่า ทุกๆ การลงทุน 1 บาทในการวิจัยยานวัตกรรมจะให้ผลประโยชน์กลับมาเป็นมูลค่าเท่ากับ 2.9 บาท  รวมไปถึง ‘คุณภาพชีวิต’ ของประชากรที่ดีเพิ่มมากขึ้น

 

"บริษัทที่เป็นสมาชิกของ PReMA พยายามสร้างความเป็นไปได้ทางนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ"

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการสร้างความเข้าใจเรื่องของ ‘ยานวัตกรรม’ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นขนาดไหน ในโลกที่ไม่แน่นอน และในอนาคตที่ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมที่เต็มไปด้วยความแก่ชรา และโรคภัยไข้เจ็บ

 

บทเรียนจากวัคซีนโควิด ‘ยานวัตกรรม’ ต้องไม่ไกลตัวอีกต่อไป!