posttoday

‘ช่องว่างกฎหมายคุม AI’ ในเอเชีย อุปสรรคใหญ่บริษัทเทคโนโลยี?

11 มิถุนายน 2567

ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และนักธุรกิจ ระบุว่า “แนวทางกำกับดูแลเอไอ” ในเอเชีย สร้างความลังเลให้กับบริษัททั่วทั้งภูมิภาคที่มีความกระตือรือร้นจะออกเทคโนโลยีใหม่ๆ

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ตั้งแต่จีนไปจนถึงสิงคโปร์ หลายรัฐบาลมีความลังเลที่จะปฏิบัติตามกฎควบคุมการใช้เอไอของภูมิภาค และหันไปใช้นโยบายกำกับดูแลเกี่ยวกับเอไอที่ปรับให้เข้ากับวาระแห่งชาติของประเทศนั้น ๆ แทน

 

ซึ่งแนวทางกำกับดูแลเอไอนั้น แตกต่างจากกฎหมายเอไอของสหภาพยุโรป (อียู) และเสี่ยงเป็นทุ่นระเบิดที่อาจส่งผลกระทบต่อหลายบริษัทในเอเชีย

 

เอเดรียน ฟิชเชอร์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมในเอเชีย จากสำนักกฎหมาย Linklaters ในอังกฤษ เตือนว่า สิ่งที่กลายเป็นปัญหาคือ ประเทศในเอเชีย 15-20 ประเทศ เริ่มใช้กฎหมายที่แตกต่างกันไปอย่างเห็นได้ชัด

 

KPMG หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ช่องว่างในการกำกับดูแลเอไอคือความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบการเติบโตของธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แม้การลงทุนในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า จากปี 2556 - 2566

 

ทั่วโลกเดินหน้าออกกฎควบคุมเอไอ

อียูเดินหน้าอนุมัติร่างกฎหมายเอไอแล้ว ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีฉบับแรกของโลก โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลต่อผู้ให้บริการและผู้พัฒนาระบบเอไอที่อยู่ในตลาดหรือใช้ภายในอียู และอาจผลบังคับใช้เป็นลำดับในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงเอไอเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมดังกล่าว

 

ในเอเชีย ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่เดินหน้าเชิงรุกเกี่ยวกับการกำหนดกฎระเบียบด้านเอไอ แม้กฎหมายเอไอทั่วไปยังไม่นำมาบังคับใช้ แต่แนวทางกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการแนะนำของอัลกอริทึม ไปจนถึงแนวทางเกี่ยวกับการควบคุมข้อมูลหลอกลวง และความต้องการให้เอไอส่งเสริมคุณค่าที่สำคัญของลัทธิสังคมนิยม


ทั้งนี้ กฎหมายเอไอทั่วไปของจีน ได้นำไปรวมอยู่ในแผนกฎหมายประจำปีในปี 2566 และคณะรัฐมนตรีจีนเตรียมลงนามร่างกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติทบทวนต่อไปในปีนี้

 

ลาวีนา ไอเลอร์ นักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า ปัจจุบัน ประเทศในเอเชียกำกับดูแลเอไอ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเทคโนโลยีระดับชาติ แต่ขาดกระบวนการและระบบที่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับเอไอ ยกเว้นประเทศจีน

 

“ประเทศจีนเป็นข้อยกเว้นเพียงแห่งเดียว เนื่องจากรัฐบาลเร่งออกแนวทางกำกับดูแล (เอไอ) ในปี 2566 เพื่อร่างกฎหมายเอไอแห่งชาติที่สามารถนำไปพิจารณาต่อในปี 2567 ได้”


อย่างไรก็ตาม บางประเทศยังคงมีความระมัดระวังในการออกกฎหมายที่ทำให้ธุรกิจเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวด และอาจทำให้ชวดเงินลงทุนด้านเอไอ